กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--สนพ.
สนพ. ผลักดันโครงการก๊าซชีวภาพสู่การนำพืชพลังงานมาหมักเป็นพลังงานทดแทน เร่งศึกษาหาศักยภาพหญ้าเลี้ยงช้างมาเป็นพืชพลังงานตัวใหม่ คาดอนาคตสามารถผลิตเป็นไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพอัดใช้ในรถยนต์
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ สนพ. ในการพัฒนานโยบาย แผนและมาตรการด้านพลังงานของประเทศให้เหมาะสมกับการใช้และการพัฒนาประเทศอย่างพอเพียงและยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา สนพ. ได้มีการส่งเสริมการวิจัยและจัดหาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ อาทิ พลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ ลมและน้ำ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงาน 15 ปี ที่วางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานในปี 2565
โดยในส่วนของพลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ สนพ. ได้มีการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากสิ่งที่มีอยู่ในประเทศ เช่น วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม มูลสัตว์ และเศษอาหาร มาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ได้แก่ ไฟฟ้าและความร้อน ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ แบ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 534 แห่ง และโรงงานอุตสาหกรรม 107 แห่ง สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้กว่า 700 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีหรือ214,000 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่าทดแทน 3,746 ล้านบาท
สำหรับในช่วงปี 2551 – 2560 ได้มีการส่งเสริมวิจัยพัฒนานำกากของเสีย โดยเฉพาะการนำพืชพลังงานที่มีศักยภาพมาหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพใช้ทดแทนพลังงาน ซึ่งผลที่ได้นอกจากจะสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าและความร้อนแล้ว จะมีการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่การผลิตเป็นก๊าซชีวภาพอัด (CBG) ใช้ทดแทน NGV ในภาคขนส่งอีกด้วย โดยปัจจุบันมีประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เยอรมนี สามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการหมักพืชพลังงาน เพื่อให้ได้ก๊าซมีเทนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว กว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ และจีนมีโรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้หญ้าเลี้ยงสัตว์ขนาด 30 เมกะวัตต์แล้ว ส่วนในประเทศไทย สนพ. ได้มีการมอบหมายให้หาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ทำการศึกษาวิจัยนำพืชชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยและคาดว่าจะมีศักยภาพ ซึ่งหนี่งในจำนวนพืชที่ทำการศึกษา จะมี “หญ้าเลี้ยงช้าง” ที่มีการปลูกอยู่แล้วในประเทศ มาทดลองผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งหญ้าดังกล่าว มีลักษณะลำต้นคล้ายอ้อย เติบโตเร็ว และเป็นหญ้าในตระกูลเดียวกับหญ้าที่ประเทศเยอรมนีนำมาผลิตเป็นพลังงาน ปัจจุบันมีผลผลิตอยู่ที่ 40 ตัน/ไร่/ปี โดยหญ้าเลี้ยงช้าง 1 ตัน สามารถผลิตไบโอแก๊สได้ 160 – 190 ลบ.ม. ทั้งนี้ หากต้องการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าประมาณ 438 ไร่
“การส่งเสริมการปลูกหญ้าเลี้ยงช้าง เพื่อนำมาผลิตเป็นพลังงานนั้น นอกจากจะเป็นผลดีต่อเกษตรกร คือ สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร โดยปัจจุบัน ราคารับซื้อของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง อยู่ที่ประมาณ 1.20 บาท เกษตรกรจะมีรายได้จากการจำหน่ายปีละ 48,000 บาทต่อไร่ และหากโครงการวิจัยดังกล่าวประสบผลสำเร็จ เชื่อว่าหญ้าเลี้ยงช้าง จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของพืชพลังงานในอนาคต ที่สามารถนำไปผลิตเป็นพลังงาน ทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวจากต่างประเทศ และทดแทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในอนาคตอีกด้วย” ผอ.สนพ. กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit