นิทรรศการ Passing through the Veil ภาพสะท้อนวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

20 Jun 2011

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--หอศิลปวิทยนิทรรศน์

ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 30 มิถุนายน – 23 กรกฎาคม 2554

พิธีเปิดนิทรรศการ วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2554 เวลา 18.00-20.00 น.

ศิลปินชาวนิวยอร์ค Bruce Gundersen จัดแสดงนิทรรศการ “Passing through the Veil” นำเสนอผลงานที่เกิดจากการตัดต่อภาพด้วยระบบดิจิตอล บอกเล่าเรื่องราวนิทานพื้นบ้านจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รู้จักกันดี ชื่อนิทรรศการ Passing through the Veil เป็นการเปรียบเปรยการทำงานกึ่งงานมานุษยวิทยากึ่งงานศิลปะผสมกับการเดินทางด้านจิตวิญญาณของ Gundersen มายังประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมอันยาวนาน ในฐานะชาวต่างชาติ ศิลปินอาศัยวรรณคดี การสัมภาษณ์ และการชื่นชมภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดเพื่อทำความเข้าใจกับนิทานพื้นบ้านและบทสะท้อนที่วรรณกรรมมีต่อสังคมปัจจุบัน งานนิทรรศการครั้งนี้ประกอบไปด้วยผลงานชุดล่าสุดเรื่องสังข์ทอง แม่นาค ขุนช้างขุนแผน และเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติอื่น ๆ พร้อมทั้งยังมีผลงาน DVD อีกหลายแผ่น

“ผมสนใจความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหนือธรรมชาติและโลกที่จับต้องได้ที่เต็มไปด้วยตัวละครที่ได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจนด้วยศิลปะแขนงต่าง ๆ งานของผมสะท้อนวิธีการเข้าถึงภาษากายที่แฝงความหมายและการเล่าเรื่องจากสมัยโบราณ”

งานของ Bruce Gundersen นำเสนอความคลุมเครือด้านทัศนะที่ซับซ้อน และเชื่อมโยงจิตรกรรมเข้ากับภาพถ่าย ตลอดระยะสิบปีที่ผ่านมา งานศิลปะของเขามีความเกี่ยวเนื่องกับการถ่ายภาพและการเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้านของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยวิธีการทางดิจิตอล หลังจากการศึกษาอย่างลึกซึ้ง Gundersen เดินทางมายังเอเชียพร้อมกับ storyboard ที่ประกอบไปด้วยฉากต่าง ๆ ที่เขาต้องการสร้าง หลังจากถ่ายภาพนักแสดง นักรำ คนทั่วไปพร้อมกับสถาปัตยกรรม ทิวทัศน์ และข้อความ Gundersen เดินทางกลับไปทำงานต่อที่นิวยอร์คและเริ่มประกอบภาพขึ้น ภาพเหล่านี้เป็นเหมือนตัวต่อดิจิตอลที่ศิลปินนำมาซ้อนกันเป็นภาพตัดต่อ Gundersen เรียงร้อยซ้อนทับภาพเข้าด้วยกันและบรรจงลบหรือทำให้ชิ้นส่วนข้อมูลบางอย่างจางลงเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกถึงความไม่จีรังยั่งยืนหรือการเคลื่อนไปของเวลา ผลลัพท์ที่ได้คือความก้ำกึ่งระหว่างภาพถ่ายและภาพเขียนที่ดูเก่า เป็นการอนุรักษ์ธรรมเนียมภาษาภาพท้องถิ่น ทว่า ใช้เทคนิคที่เป็นปัจจุบันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ การปะติดปะต่อภาพ และการพิมพ์ภาพ

เกี่ยวกับศิลปิน

Gundersen ทำงานศิลปะหลากหลายแขนง และได้แสดงงานในแกลเลอรี่มีชื่อมาแล้วหลายแห่ง ความสนใจในตำนานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและนิทานปรัมปราที่เป็นสากลเป็นพื้นฐานของการแสดงออกทางศิลปะของเขา หลังจากเรียนจบปริญญาโททางด้านศิลปกรรมศาสตร์จาก The School of the Art Institute of Chicago เขาได้ใช้สื่อหลาย ๆ ชนิดในการทำงานเพื่อตีความเรื่องเล่าที่เป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นงานด้าน performance art (GUNDERSEN/CLARK from 1970-1980) ประติมากรรมหุ่นจำลอง (HURRICANE MOUNTAIN INDUSTRIES 1985-2001) หรือการทำหนัง (FISH-GUN FILMS 2000 -) ก่อนหน้านี้ Gundersen ได้แสดงงานหลายที่ในกรุงเทพ ได้แก่ Kathmandu Photo Gallery, The Playground และ Patravadi Theater Gallery และศิลปินยังได้รับทุนจาก The Asian Cultural Council ในการวิจัยและทำงานในประเทศลาว “จากการแสวงหาแรงบันดาลใจที่เกี่ยวเนื่องกับระบบความเชื่อและศิลปะที่มีความเป็นพื้นถิ่นจากวัฒนธรรมโบราณและสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมหวังที่จะนำเรื่องราวมาถ่ายทอดใหม่ด้วยความทันสมัยของศิลปะดิจิตอล”

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

สิริวัฒน์ โพธิ์กระเจน (เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์)

โทร. 081-629-0457 อีเมล์: [email protected], [email protected]

หอศิลปวิทยนิทรรศน์

ชั้น 7 ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330

โทรศัพท์: 0-2218-2965 โทรสาร: 0-2218-2907

อีเมล์: [email protected]

www.car.chula.ac.th/art

Facebook: The Art Center - Chula

เปิดทำการ จันทร์-ศุกร์: 9.00-19.00 น. เสาร์: 9.00-16.00 น.

ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net