กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(ป.กก.) เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องการพิจารณากรณีนักท่องเที่ยวร้องเรียนผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวแอบอ้างใช้ชื่อย่อ ททท. หลอกลวงให้นักท่องเที่ยวซื้อบริการนำเที่ยว โดยมีผู้แทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการท่องเที่ยว และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว เข้าร่วมในการประชุมด้วย ณ ห้องประชุม ๒ ชั้น ๓ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔
นายสมบัติ คุรุพันธ์ เปิดเผยว่า ปัญหานักท่องเที่ยวถูกหลอกลวงในประเทศไทยนั้น ปัญหาหนึ่งที่ยังคงสร้างความสับสน รวมถึงบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ลดลงปัญหาหนึ่งก็คือ การนำเอาตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานการท่องเที่ยวของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ตราสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และตราอื่นๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อ ให้เห็นและเข้าใจว่า บริษัทนำเที่ยวนั้นๆ เป็นการดำเนินงานหน่วยงานของรัฐด้านการท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติรู้จักมากที่สุดของประเทศไทย โดยจากสถิติเรื่องร้องเรียนในปี ๒๕๕๓ จนถึงปี ๒๕๕๔ มีการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว จำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องการหลอกลวงเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยจูงใจ โดยใช้ตราสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เครื่องหมาย “Unseen Thailand” คำว่า “T.A.T” “หน่วยบริการท่องเที่ยวของ ททท.” “โลโก้ ททท.” และ “Amizing Thailand” จากทั่วประเทศ ดังนั้นกระทรวงการท่องเที่ยวจึงหารือร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการท่องเที่ยว กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ถึงทางแก้ปัญหา โดยการแก้ปัญหาแบ่งเป็น ๓ มิติ คือ ๑.มิติด้านรัฐศาสตร์ มอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ทำหนังสือประชาสัมพันธ์ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ให้ความรู้เกี่ยวกับ ข้อบังคับในการใช้ตราสัญลักษณ์ รวมถึงบทลงโทษหากว่ามีผู้ฝ่าฝืนนำตราสัญลักษณ์ไปใช้โดยมิชอบ แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและบริษัทนำเที่ยวต่างๆ ซึ่งโดยหลักแล้วตราสัญลักษณ์ต่างๆ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะนำไปใช้โดยพลการนั้นไม่ได้ เนื่องจากเป็นเครื่องหมายที่เป็ฯการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ อย่างถูกกฎหมายและมีการเสนอจดลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งหากพบการหลอกลวงและมีเจตนาที่มิชอบจะใช้การทำหนังสือตักเตือนอย่างเป็นทางการ ๒.มิติทางด้านนิติศาสตร์ มอบหมายให้กรมการท่องเที่ยว และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ปราบปรามโดยการบังคับใช้กฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๑ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า มีโทษจำคุก ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยถือว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นผู้เสียหาย ๓.ใช้ทั้งมิติทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ในการแก้ปัญหาร่วมกัน อีกทั้งยังจะจัดชุดปฏิบัติการร่วม หน่วยเคลื่อนที่เร็ว คอยสอดส่องว่ามีหน่วยงานใด เข้าข่ายการกระทำผิดบ้าง จะดำเนินคดีโดยใช้บทลงโทษสูงสุด เพื่อต้องการที่จะเห็นประเทศไทย ปราศจากการหลอกลวงนักท่องเที่ยวอย่างเห็นชัด และเป็นรูปธรรมมากที่สุด
ป.กก. กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่จะทำให้ความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติ ต่อภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวของประเทศไทย เพิ่มขึ้นนั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นจากหน่วยงานทั้งทางภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาชนเอง โดยการทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดี พร้อมที่จะต้อนรับนำท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วยมิตรไมตรี ยิ้มแย้ม ซึ่งจะต้องบูรณาการกันเพื่อนำพาความเชื่อมั่นต่อสายตานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้กลับคืนมา เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ รวมถึงเศรษฐกิจของ ประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย