กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--สสวท.
โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 จนปัจจุบันโครงการ พสวท. ผลิตนักวิทยาศาสตร์ได้กว่า 700 คน ซึ่งได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ ต่อสังคมมากมาย เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้าง
โครงการ พสวท. เปิดให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับปริญญาเอก รวมถึงการให้ทุนวิจัยหลังปริญญาเอกด้วย โดยนักเรียนทุน ม. ปลาย จากโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เป็นศูนย์ พสวท. ทั้ง 7 ศูนย์ ได้แก่ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) พระปฐมวิทยาลัย ศรีบุณยานนท์ ยุพราชวิทยาลัย แก่นนครวิทยาลัย และหาดใหญ่วิทยาลัย จะได้รับการส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์มากมาย อาทิ การเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ การสนับสนุนให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ การนำเสนอผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
นักเรียนทุน พสวท. ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม. 5 ในแต่ละปี จะได้รับโอกาสให้เข้าไปร่วมฝึกงานกับนักวิทยาศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นศูนย์ พสวท. ในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อสัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และได้เรียนรู้ว่าชีวิตการทำงานของนักวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร ตามเจตนารมณ์ของโครงการ พสวท. ที่มุ่งปั้นเยาวชนศักยภาพสูงทางวิทยาศาสตร์ให้เดินหน้าไปเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานจนสำเร็จการศึกษาในระดับสูง แล้วกลับมาทำงานเป็นนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์เฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ ให้แก่บ้านเรา ในปีนี้ก็เช่นกัน หนึ่งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์น้อยโครงการ พสวท. ชั้น ม. 5 ได้แก่ นายวุฒิชัย นาธงชัย (วุฒิ) โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น นางสาวเปรมกมล ชัยพาณิชย์กุล (โบว์) โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา และนายกัมปนาท พรหมโลก (โฟม) โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ มีโอกาสไปฝึกงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ในเรื่องที่แตกต่างกันไปตามความถนัดและความสนใจ ซึ่งนักเรียนทั่วไปแทบจะไม่ได้สัมผัสหรือได้รับโอกาสเช่นนี้
นายวุฒิชัย นาธงชัย (วุฒิ) โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น ได้ไปฝึกงานกับ รศ. ดร. สมเดช กนกเมธากุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้เรียนรู้การสกัดสารจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติโดยวิธีคอลัมน์โครมาโทกราฟี กล่าวว่า ตัวเองนั้นมีความสนใจในด้านนี้อยู่แล้ว ทุกขั้นตอนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง โดยมี อาจารย์คอยให้คำแนะนำขั้นตอนต่าง ๆ ทำให้ได้ฝึกการแยกสารโดยวิธีคอลัมน์โครมาโทรกราฟีอย่างถูกต้องตามหลักการและถูกวิธี สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับการทำโครงงานต่อไปได้ รวมทั้งได้ฝึกการทำรายงานการวิจัยที่ถูกต้องตามหลักสากล
นางสาวเปรมกมล ชัยพาณิชย์กุล (โบว์) โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา ไปฝึกงานกับ ผศ. ดร. สะอาด ริยะจันทร์ ที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จากการฝึกงานครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาสมบัติของยางเหลือทิ้ง คือ ถุงมือยางและยางในรถจักรยานยนต์ที่ใช้งานแล้ว เพื่อเป็นพื้นฐานในการแปรรูปยางต่อไป โดยได้ทำการศึกษาสมบัติเชิงกลในการขึ้นรูปของพอลิเมอร์ การตัดและเตรียมตัวอย่างยาง การศึกษาสมบัติพื้นฐานของยางในด้านการทนความร้อน การเสื่อมสภาพทางความร้อนตามธรรมชาติของยาง การบวมตัวและความสามารถในการยืดของยาง ซึ่งความรู้และข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะนำมาซึ่งองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ในการแปรรูปยางต่อไป
กิจกรรมการฝึกงานที่โบว์ได้ลงมือปฏิบัติ ได้แก่ การตัดและการเตรียมตัวอย่าง การศึกษาวิธีการแปรรูปยางแท่งให้เป็นผลิตภัณฑ์ การผสมถุงมือยาง น้ำยางดิบ และพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ในอัตราส่วนต่าง ๆ ศึกษาสมบัติพื้นฐานของยางใน และยางที่ผสมขึ้นมาเอง
“ประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกงานทำให้ได้เรียนรู้ ทราบข้อมูลเบื้องต้นของยาง ได้ฝึกใช้อุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์มากมาย ได้ฝึกทักษะการเป็นนักวิทยาศาสตร์ และเป็นการริเริ่มแนวคิดในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต” น้องโบว์กล่าว
ส่วนนายกัมปนาท พรหมโลก (โฟม) โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ไปฝึกงานกับ ดร. สิริพร แจ้งสุทธิวรวัฒน์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเรื่องของ “การสกัดดีเอ็นเอจากหนอนตายหยาก” โดยโฟมได้กล่าวว่า “เนื่องจากในปัจจุบันมีการทำวิจัยทางด้านอณูพันธุศาสตร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีกระบวนการพื้นฐาน คือ การสกัดดีเอ็นเอ การทำ PCR และการตรวจสอบคุณภาพดีเอ็นเอ (Electrophoresis) ผมจึงมีความสนใจที่จะฝึกงานด้านอณูพันธุศาสตร์ เพื่อฝึกฝนการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ฝึกการทำเทคนิคต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้นยังได้สัมผัสชีวิตจริงของนักวิทยาศาสตร์ด้วย”
กิจกรรมที่โฟมได้ลงมือศึกษาด้วยตนเองนั้น เริ่มตั้งแต่ การสกัดดีเอ็นเอ ตามวิธีการของ Dellaporta et al. (1983) เรียนรู้เทคนิค PCR ตรวจสอบคุณภาพดีเอ็นเอ (Electrophoresis) เทคนิคการทำความสะอาดดีเอ็นเอด้วยชุดคิด ซึ่งโฟมบอกว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าน่าประทับใจอย่างยิ่ง
นับว่า การที่เยาวชนเหล่านี้ได้ร่วมฝึกงานกับนักวิทยาศาสตร์ระดับชั้นนำ ได้สัมผัสบรรยากาศที่แท้จริงของการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จะเป็นการจุดประกาย รวมทั้งได้สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขามุ่งมั่นที่จะก้าวต่อไปในเส้นทางอาชีพนักวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป
โดยล่าสุด นักเรียนชั้น ม. 5 จากศูนย์ พสวท. ทั้ง 7 ศูนย์ดังกล่าว จำนวนรวม 57 คน ได้มานำเสนอผลงานการฝึกงานดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษโดยมีพี่ ๆ นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นบัณฑิต พสวท. และน้อง ๆ ทุน พสวท. ชั้น ม. 4 รวมทั้งนิสิตนักศึกษา พสวท. ระดับอุดมศึกษาที่เป็นพี่เลี้ยงค่าย เข้าร่วมฟังการนำเสนอดังกล่าว ใน “ค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อนสำหรับนักเรียนทุน พสวท. ระดับมัธยมศึกษา” เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ ภูไอยรา รีสอร์ท จังหวัดนครนายก
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net