กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--กรมสุขภาพจิต
ในปัจจุบันพัฒนาการของการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนจากระบบ"เอนทรานซ์" มาเป็นระบบ "แอดมิชชั่น" ที่มีลักษณะของการให้โอกาสแก่นักเรียนได้ปรับตัวเอง เด็กจะรู้ผลคะแนนก่อนและสามารถเลือกคะแนนที่ดีที่สุดของการสอบวัดความรู้ฯเพื่อเลือกเรียนในคณะที่ตนเองต้องการ หากแต่การสอบแบบระบบ "แอดมิชชั่น"นี้ ผู้ปกครองไม่ควรคาดหวังในตัวบุตรหลานมากจนเกินไป เพราะนอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อผู้ปกครองแล้วยังเป็นการสร้างความกดดันและความเครียดให้แก่บุตรหลานด้วย
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าผลสอบ "แอดมิชชั่น" ประจำปี 54 ทำผู้ปกครองเครียด หลังการประกาศผล มีผู้ปกครองโทรเข้ามาปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งจะมีทั้งความเครียดที่มีสาเหตุมาจากความคาดหวังของตัวเอง และความเครียดจากการเป็นห่วงในตัวบุตรหลาน
นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่าจากข้อมูลการใช้บริการ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบตัวเลขการโทรปรึกษาปัญหาเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว จากประมาณ 10 สายต่อวัน เป็น 250 สายต่อวัน โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาจากการสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในปีนี้ ซึ่งผู้ที่โทรเข้ามาจะมีทั้งผู้ปกครองและตัวเด็กเอง ปัญหาที่พบมากที่สุดคือการเกิดความเครียดและรู้สึกกดดันจากความคาดหวังในสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ล่าสุดมีผู้ปกครองโทรศัพท์มาปรึกษากรณีลูกได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่จะสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นความคาดหวังของพ่อและแม่ที่จะเลือกเส้นทางการเรียนสายนี้เพื่อให้ลูกเดินไปสู่อาชีพที่มั่นคงในอนาคต และความพลาดหวังในครั้งนี้ทำให้ลูกมีอาการซึมเศร้า เกรงว่าจะมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย กรณีนี้ทางจิตแพทย์ได้แนะนำวิธีลดความเครียดว่า ผู้ปกครองต้องลดระดับความคาดหวังของตัวเองลง เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่จะรู้สึกกดดันมากขึ้นเมื่อต้องแบกรับความหวังของพ่อแม่ที่ตั้งไว้สูงเกินไป ส่วนตัวผู้ปกครองเองก็ควรยอมรับในศักยภาพของลูก ควรเป็นกำลังใจให้ลูกแทนการซ้ำเติม และควร หาทางเลือกอื่นให้กับลูก เช่น การเลือกสาขาวิชาที่เหมาะสมกับศักยภาพทางด้านการเรียน หรือไม่ก็ควรให้การสนับสนุนลูกอย่างเต็มศักยภาพเพื่อจะได้มีความพร้อมสำหรับการสอบรอบใหม่ในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นการให้เรียนพิเศษเพิ่มเติมหรือจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่สามารถเพิ่มภูมิความรู้ให้กับลูกได้
ส่วนการลดความเครียดหรือการดูแลจิตใจตัวเองสำหรับตัวเด็กนั้นรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำว่า ควรกลับมาทบทวนตัวเองว่าความพลาดหวังครั้งนี้ เราอาจจะไม่ได้ในสิ่งที่เราอยากเป็น และสิ่งนี้สร้างความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคำตอบก็คือไม่มากและไม่ถึงกับทำให้เราจนตรอก และไม่ใช่สิ่งเดียวในชีวิต เพราะฉะนั้นจึงควรลดระดับความคาดหวังลงมาให้พอเหมาะกับศักยภาพของตัวเอง และให้คิดเสียว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ไม่ใช่ชีวิตต้องล้มเหลว โดยให้มองตัวอย่างจากผู้ที่มีชื่อเสียงหลายๆคนที่เป็นคนใหญ่คนโตในวงสังคม ซึ่งก็ไม่ได้จบในสาขาวิชาหรือ มหาวิทยาลัยที่ต้องการ แต่บุคคลเหล่านี้ก็มีอาชีพ มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและประสบความสำเร็จในชีวิตได้ และให้ลองทบทวนการใช้ชีวิตหลังพลาดหวังว่ามีสิ่งไหนที่พลาดพลั้งไป เพื่อจะได้หันมาเยียวยาจิตใจตัวเอง ให้ลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ แต่ต้องไม่ปล่อยทิ้งเวลาให้เนิ่นนานออกไป ต้องรู้จักการใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง หากไม่ได้เรียนในสาขาวิชาที่ต้องการในตอนแรก ก็ต้องมองสาขาวิชาอื่นๆที่เหมาะสมกับตนเอง หรือเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสอบใหม่ในปีหน้า เพราะการสอบ "แอดมิชชั่น" เข้าสู ่มหาวิทยาลัยเป็นแค่ก้าวแรก แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครองอย่าเพิ่งเครียด หรือเป็นกังวลเพราะโดยปกติแล้วเด็กจะสามารถปรับตัวได้ภายหลังเกิดความผิดหวังเสียใจ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่อาจมีเด็กบางกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังและต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น คนที่ตั้งความหวังมาก คนที่ไม่เคยได้รับความผิดหวังเลย ซึ่งต้องคอยสังเกตอาการ เช่น เก็บตัว ไม่กิน ไม่นอน ลดกิจกรรมที่เคยทำตามปกติ ซึมเศร้ามาก ร้องไห้ติดต่อกันหลายวันหรือเป็นสัปดาห์ เพราะอาจทำให้เด็กคิดทำร้ายตัวเองได้
อย่างไรก็ตามหากใครมีความเครียดจากปัญหาดังกล่าว กรมสุขภาพจิตได้เตรียมพร้อมสำหรับให้คำปรึกษาเอาไว้แล้ว ที่สายด่วนสุขภาพจิต1323 โดยจะมีทั้งนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทของ “แอดมิชชั่น“ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยแบ่งเบาความทุกข์ทางใจให้แก่ผู้ที่มาขอคำปรึกษาได้เป็นอย่างดี โดยสามารถเปิดรับสายได้ ถึงเดือนละกว่า 1 แสนสาย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025908003 กรมสุขภาพจิต
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit