กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--พม.
เมื่อวันที่ ๒๔ พ.ย.๕๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ชายเลิกเหล้ายุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก มูลนิธิเพื่อนหญิง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ร่วมเดินรณรงค์ติดเข็มกลัด “สองเราเท่าเทียม” และแจกสติกเกอร์ติดรถและคู่มือ “แค่เลิกคิดว่าชายเป็นใหญ่..สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นได้” ให้แก่ประชาชนทั่วไป บริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ริมถนนพญาไท
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปัจจุบัน ในประเทศไทย มีผู้ถูกกระทำความรุนแรง ไม่น้อยกว่า ๗๕ คน ต่อวัน หรือปีหนึ่งประมาณ ๓ หมื่นคน สาเหตุส่วนใหญ่นั้น มาจากการกระทำของคนในครอบครัว หรือจากบุคคลใกล้ชิด ซึ่งนำไปสู่ความแตกแยก ในครอบครัว และการหย่าร้าง รวมทั้งการใช้ความรุนแรงโต้ตอบ เกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกของคนในครอบครัว ให้เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยจุดเริ่มต้น ควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ชายที่ว่า ชายเป็นใหญ่ มีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง เป็นการเคารพความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย ซึ่งมีวิธีคิดที่ผู้ชายสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ๑๐ ข้อ
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า การปรับเปลี่ยนทัศนคติทั้ง ๑๐ ข้อ มีดังนี้ ๑.เปลี่ยนความคิดที่ว่า การดื่มเหล้าเป็นวิถีของผู้ชาย ๒.เปลี่ยนความคิดที่ว่า ผู้ชายเท่านั้นที่เป็นใหญ่ในบ้าน แต่ควรหันมารับฟังความคิดเห็นผู้อื่น เพราะผู้ชายเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตาม ๓.เปลี่ยนความคิดที่ว่า งานบ้านเป็นงานของผู้หญิง ๔.เปลี่ยนความคิดที่ว่า ผู้ชายมีภรรยาหลายคน เป็นเรื่องน่ายกย่อง หันมาซื่อสัตย์ รักเดียว ใจเดียว ๕.เปลี่ยนความคิดที่ว่า ภรรยาเป็นสมบัติของสามี มาเป็นการให้เกียรติ ไม่ดุด่า ทำร้ายทุบตี บังคับหลับนอน ๖.เปลี่ยนความคิดที่ว่า การเลี้ยงลูก เป็นหน้าที่ของผู้หญิง ควรหันมามีส่วนในการเลี้ยงลูก ๗. เปลี่ยนความคิดที่ว่า ผู้ชายมีความสามารถมากกว่าผู้หญิง ควรหันมายอมรับว่าผู้หญิงก็มีความสามารถไม่น้อยกว่าผู้ชาย ๘. เปลี่ยนความคิดที่ว่า ผู้ชายที่มีโอกาสล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงแล้วไม่ทำเป็นผู้ชายโง่ แต่ควรหันมาเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น มีเพศสัมพันธ์จากความยินยอมพร้อมใจและรับผิดชอบ ๙.เปลี่ยนจากความคิดที่ว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ควรหันมาทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี แจ้งเหตุหรือช่วยเหลือเมื่อพบเห็นเหตุความรุนแรงในครอบครัว และ ๑๐. เปลี่ยนจากความคิดที่ว่า การคุมกำเนิดเป็นหน้าที่ของผู้หญิง แต่ต้องคิดว่าการคุมกำเนิดถือเป็นหน้าที่ทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งทั้ง ๑๐ เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง ที่ผู้ชายเป็นส่วนสำคัญ ที่จะต้องเริ่มต้นเปลี่ยนความคิด
นายอิสสระ กล่าวอีกว่า การกระทำความรุนแรงในครอบครัว ล้วนส่งผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งถ้าเด็กอยู่ในบ้านแล้วไม่มีความสุข ก็จะออกไปข้างนอก ไปหาเพื่อน ปัญหาที่ตามมาคือ การมีเพศสัมพันธ์กัน ในขณะที่ยังไม่มีความพร้อม ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ และเกิดปัญหาการทำแท้งตามมา ซึ่งในแต่ละปี มีการทำแท้งเถื่อนกว่า ๒ แสนรายต่อปี ในเรื่องนี้ จึงไม่ควรไปลงโทษฝ่ายหญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรลงโทษผู้ที่กระทำด้วย ซึ่งก็คือ ผู้ชายที่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการกระทำ โดยมีกฎหมายลงโทษผู้ชายที่เป็นเหตุให้ผู้หญิงต้องทำแท้งด้วย นอกจากนี้ กระทรวงฯ กำลังทำยุทธศาสตร์ในการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในเยาวชน ทั้ง ๖ มาตรการ โดยสำรวจหากลุ่มเสี่ยงว่ามีจุดไหนบ้าง และดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ มารับทราบถึงปัญหาและดำเนินการแก้ไข ซึ่งจะได้เตรียมยุทธศาสตร์ดังกล่าว เสนอต่อครม.เพื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติต่อไป
“ความสุขในครอบครัวจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากคนในครอบครัว ไม่กระทำความรุนแรงต่อกัน จึงอยากเรียกร้องให้สังคมหันมาเอาใจใส่ เลิกคิดว่า การกระทำความรุนแรงในครอบครัว เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องให้การดูแล โดยหากพบเห็นการกระทำความรุนแรง สามารถแจ้งได้ที่สถานีตำรวจ หรือแจ้งศูนย์ประชาบดี โทร.๑๓๐๐ ฟรี ทั่วประเทศ” นายอิสสระ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit