กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
อบต.ปากพูน เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่นำแนวคิดเรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตมาบูรณาการออกแบบการกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นตำบลสุขภาวะ โดยนำฐานข้อมูลชุมชนมากำหนดปัจจัยในการสร้างเสริมสุขภาพ และขับเคลื่อนด้วยการใช้ศักยภาพของชุมชน ภายใต้หลักคิด “อยู่ดีกินดี อยู่เย็นเป็นสุข อยู่รอดปลอดภัย”
หลักคิดดังกล่าวได้พัฒนาเป็นโครงการต่างๆ เพื่อสร้างสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต สังคม และปัญญา จากฐานรากของชุมชน โดยเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาต่างๆ ในพื้นที่และตอบสนองทุกกลุ่มประชากร โดยเน้นไปที่กลุ่มเด็ก ครอบครัว ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
จากการทำงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2542 ทำให้ปัจจุบันตำบลปากพูนพัฒนาตนเองขึ้นเป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ” และเป็นศูนย์ฝึกอบรมเรื่อง “การบูรณาการสู่ตำบลสุขภาวะ” ให้แก่เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ภายใต้ “โครงการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการจัดการสุขภาวะโดยชุมชน” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า การที่จะทำให้ตำบลปากพูนเป็นชุมชนที่มีสุขภาวะในทุกมิติทั้ง ร่างกาย จิตใจ สังคม ชุมชน และสติปัญญา ได้นั้นทุกคนในชุมชนจะต้องเห็นข้อมูลของชุมชนแล้วนำมาวิเคราะห์หาทางแก้ปัญหาร่วมกัน
“สิ่งสำคัญก็คือทำอย่างไรทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลของชุมชนเหล่านี้กับการทำงานทุกๆ เรื่อง แม้กระทั่งการนำเอาเรื่องของสุขภาพหรือระบบนิเวศน์ไปออกแบบกับหลักสูตรการศึกษาของเด็กนักเรียน นอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์แล้วยังจะได้เรียนรู้ข้อมูลของท้องถิ่นอีกด้วย ทำให้ข้อมูลความรู้ในชุมชนถูกถ่ายทอดไปสู่สมาชิกทุกเพศทุกวัย และมีความเชื่อมร้อยกัน ซึ่งปัจจุบันเรามีโครงการต่างๆ เพื่อดูแลระบบสุขภาพของคนในชุมชนจำนวนมาก แต่ทุกโครงการล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือการมีสุขภาวะของคนในชุมชนปากพูน” นายธนาวุฒิกล่าว
โดยหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อบูรณาการข้อมูลของท้องถิ่นเข้ากับหลักสูตรการศึกษา ไปพร้อมๆ กับการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกรักและห่วงใยในทรัพยากรธรรมชาติให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ก็คือ “โครงการนักสืบสายน้ำ” ซึ่ง อบต.ปากพูน ได้ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยจะชักชวนเด็กๆ มาร่วมกันสำรวจคุณภาพน้ำตั้งแต่ปากแม่น้ำปากพูนไปจนถึงต้นน้ำคือน้ำตกพรหมโลก เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดลำน้ำ
นางสาวเยาวดี ราตรีพฤกษ์ ครูผู้ดูแล เล่าว่าโครงการนักสืบสายน้ำเป็นกิจกรรมหนึ่งของ “โรงเรียนวัยใสหัวใจซุกซน” ที่ทาง อบต.ปากพูนจัดขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาว่างในช่วงเย็นหรือวันหยุดให้เกิดประโยชน์ โดยมีเป้าหมายที่ชักชวนเด็กและเยาวชนในชุมชนให้ออกมาร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
“ปัจจุบันนักสืบสายน้ำมีแกนนำ15 คน มาจากศูนย์เยาวชนต่างๆ ในพื้นที่ โดยจะมีเครื่องมือวัดค่าต่างๆ เช่นวัดความชันของตลิ่ง วัดความใสของน้ำ วัดความลึก วัดค่า PH (ความเป็นกรด-ด่าง) วัดค่าความเค็มของน้ำ ในการออกทำงาน ทุกๆ 3 เดือนเด็กกลุ่มนี้ก็จะไปชักชวนเพื่อนๆ ในโรงเรียนของตัวเองมาร่วมกันสืบสายน้ำ ถ้าเจอจุดที่มีน้ำเสียก็จะมาวิเคราะห์กันว่าเกิดขึ้นจากอะไร แล้วเด็กๆ ก็จะไปอธิบายกับชุมชนหรือครอบครัวของตนเองที่อยู่ใกล้ๆให้ช่วยกันดูแล ในเบื้องต้นเด็กๆ ก็จะช่วยกันเก็บขยะริมลำคลองคนละไม้คนละมือ พอผู้ใหญ่เห็นเด็กมาดูแลลำน้ำก็เกิดความตระหนักและเริ่มคิดและหาวิธีแก้ โดยจุดเด่นของเราจะมีการทำอีเอ็มชนิดก้อน ระหว่างเก็บขยะก็จะโยนอีเอ็มลงไปเพื่อบำบัดน้ำไปด้วย” คุณครูเยาวดีกล่าว
เด็กหญิงภัทรพร ภารเพิง หรือ “น้องกัน” อายุ 12 ปีนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา หนึ่งในแกนนำของนักสืบสายน้ำบอกว่า เข้าร่วมโครงการมาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา โดยจะมีการออกไปตรวจวัดคุณภาพน้ำ เช่นการวัดค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ วัดค่าความขุ่นใสของน้ำ สำรวจสิ่งมีชีวิตฯลฯ กันเป็นประจำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน
“ปัจจุบันแม่น้ำลำคลองปากพูนของเราเริ่มสกปรก แล้วก็เริ่มส่งผลกระทบต่อหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของสุขภาพ เช่นการมีแหล่งน้ำขังเน่าเสียก็ทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งทำให้คนในชุมชนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก หากน้ำเสียก็จะทำให้การประกอบอาชีพประมงหาปูหาปลาก็ได้น้อยลง ถ้ามีการตัดไม้ทำลายป่าชายเลนก็ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง จึงอยากจะฝากถึงทุกคนในชุมชนอยากให้ช่วยกันไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ไม่ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ และร่วมกันดูแลพื้นที่ปากแม่น้ำปากพูน” น้องกันกล่าว
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากพูนกล่าวถึงโครงการนักสืบสายน้ำว่า “นักสืบสายน้ำดำเนินงานมาแล้ว 2 ปี โดยตั้งเป้าจะปลูกฝังสร้างจิตสำนึกกับชุมชนไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งมีคนนอกมาดู คนในก็จะยิ่งเห็นความสำคัญ มีจิตสำนึกในการช่วยกันดูแลแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติโดย ประโยชน์ของกิจกรรมนี้การทางด้านเศรษฐกิจชุมชนก็จะมีรายได้มากยิ่งขึ้น มีอาชีพที่มั่นคงเพราะสัตว์น้ำเพิ่มจำนวนขึ้น ด้านสังคมก็ทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะเมื่อเด็กมาทำผู้ใหญ่ก็เกิดความละอายและเริ่มมีจิตสำนึก ทุกฝ่ายก็มาช่วยกันรณรงค์เพราะเห็นตัวอย่างจากการทำงานของเด็ก”
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สสส. กล่าวว่านักสืบสายน้ำ เป็นหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่ทาง อบต.ปากพูน จัดขึ้นเพื่อปลูกจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนที่มีสุขภาวะ
“สสส.จะทำหน้าที่ในการออกแบบและสร้างต้นแบบในการดูแลสุขภาวะของชุมชน เพื่อให้ชุมชนอื่นๆ ได้มาเรียนรู้และช่วยกับขับเคลื่อนสิ่งดีๆ จากชุมชนหนึ่งออกไปสู่หลายๆ ชุมชน เพื่อให้เกิดการขยายผลกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ออกไปในแต่ละพื้นที่ด้วยตนเอง โดยในการทำงานร่วมกับชุมชน สสส. จะมีทีมสนับสนุนวิชาการลงไปทำงานในชุมชน ซึ่ง อบต.ปากพูน ถือเป็นชุมชนแห่งแรก เป็นชุมชนต้นแบบ และเป็น 1 ใน 18 ศูนย์ทั่วประเทศในขณะนี้ โดยเราตั้งเป้าจะทำให้เกิด 75 ศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศภายใน 3 ปีคือปี 2556-2557 ซึ่งเราเชื่อมั่นในศักยภาพของท้องถิ่นว่าสามารถทำได้ แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้ขับเคลื่อนไปได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเห็นความสำคัญของการสร้างสุขภาวะในชุมชนจึงจะสามารถขยายผลการดำเนินงานออกไปได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น” นางสาวดวงพรกล่าวสรุป.
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit