กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตร และสัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศหนาวเย็น โดยปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในพืช จัดทำสิ่งปกคลุมผลผลิตทางการเกษตร เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากน้ำค้างแข็ง รวมถึงหมั่นทำความสะอาดโรงเรือน และสังเกตความผิดปกติของสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในสัตว์เลี้ยง
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สภาพอากาศที่หนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย และเกิดโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงได้ง่ายเพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศหนาวเย็น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงขอเตือนเกษตรกรให้วางแผนการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในฤดูหนาว โดยปลูกพืชหมุนเวียนหลากหลายชนิด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในพืช พร้อมลดการใช้ปุ๋ยยูเรีย เนื่องจากการใช้ปุ๋ยยูเรียในปริมาณมาก จะทำให้พืชหยุดการเจริญเติบโตและเกิดโรคได้ง่าย รวมถึงจัดทำสิ่งปกคลุมผลผลิตทางการเกษตร เพื่อป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายจากน้ำค้างแข็งและลมแรง
นอกจากนี้ เกษตรกรควรเตรียมพื้นที่เพาะปลูกโดยวิธีไถกลบแทนการเผา เพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ หลีกเลี่ยงการเผาตอซางข้าว เพราะนอกจากจะทำให้เพลิงลุกลามกลายเป็นไฟป่าแล้ว ควันไฟยังบดบังทัศนวิสัยในการเดินทาง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย ส่วนการเลี้ยงสัตว์เกษตรกรควรดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นพิเศษ โดยให้สัตว์เลี้ยงได้รับอาหารอย่างเพียงพอ ฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด พร้อมหมั่นทำความสะอาดโรงเรือนและสังเกตความผิดปกติของสัตว์เลี้ยง หากสัตว์เลี้ยงป่วยให้แยกออกจากฝูงทันที เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังสัตว์ตัวอื่นๆ กรณีสัตว์ที่เลี้ยงไว้ เช่น ไก่ เป็ด หรือสุกรป่วยตายอย่างรวดเร็ว ให้รีบทำลายซากสัตว์ดังกล่าว
โดยขุดหลุมลึกประมาณ 1 เมตร หย่อนซากสัตว์ลงไป แล้วราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือปูนขาวและฝังกลบทับให้แน่น พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดโรคของสัตว์ ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับซากสัตว์โดยตรง เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากสัตว์เข้าสู่ร่างกาย ให้สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ ผ้าปิดจมูก และล้างมือให้สะอาดทันทีหลังสัมผัสสัตว์ซากสัตว์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ปภ.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit