เยาวชนสร้างสื่อศิลป์ สืบสานวิถีชีวิตชุมชนนางเลิ้ง

20 Oct 2010

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล

เยาวชนรักถิ่น สร้างสื่อศิลป์ สืบสานวิถีชีวิตชุมชน

จะดีแค่ไหนถ้าคนไทยรู้จัก รู้รัก ในถิ่นฐานบ้านเกิดตนเอง เรียนรู้ถึงความเป็นมาของแผ่นดินที่หล่อหลอมให้เกิดวิถีชีวิตของชุมชน และคงน่าดีใจไปกว่านั้นหากเยาวชนในชุมชนลุกขึ้นเป็นตัวตั้งตัวตี มีส่วนร่วมในการสืบสานให้ชุมชนของตนเข้มแข็ง และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ชุมชนนางเลิ้ง เป็นตัวอย่างชุมชนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเรารู้จักกันดีในสายตาคนนอกว่าเป็นย่านเก่าแก่เพราะเป็นสถานที่ตั้งของวังเก่าในอดีต โดดเด่นเรื่องขนมหวานรสเลิศรส ความงามงดของสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นย่านตลาด และแน่นอนสนามม้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และที่สำคัญคือหลวงปู่ธูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดแค นางเลิ้ง หรือวัดสุนทรธรรมทานซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนมาช้านาน

...แต่ความเป็นนางเลิ้งในสายตาคนในเป็นอย่างไร และอาจมีอะไรมากกว่านั้น คำตอบย่อมอยู่ที่คนในชุมชนเอง “น้ำมนต์” หรือนางสาวนวรัตน์ แววพลอยงาม เป็นหนึ่งในเยาวชนชุมชนนางเลิ้ง ผู้คลุกคลีกับงานพัฒนาชุมชนบ้านเกิดและมีส่วนปลุกปั้นให้ย่านนางเลิ้งกลายเป็นชุมชนน่าอยู่อีของกรุงเทพฯ เล่าว่า เริ่มทำงานเพื่อชุมชนมาตั้งแต่สมัยเรียน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากคุณแม่ที่ทำงานด้านนี้มาก่อน บวกกับการมองเห็นสภาพปัญหาของชุมชนในชีวิตประจำวันนำมาสู่การตั้งคำถามกับสังคมรอบตัว จึงอยากเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือ พัฒนาชุมชนของตนเอง โดยนำความรู้ความสามารถทางด้านศิลปะที่ร่ำเรียนมาใช้เป็นสื่อกลาง

“เราใช้ศิลปะเป็นสื่อสร้างปฏิสัมพันธ์และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ทั้งนี้เพราะเราเชื่อว่า ศิลปะ สามารถดึงจิตสำนึกของคนออกมาได้ ก็ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ คิดกิจกรรมให้คนในชุมชนได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน" น้ำมนต์บอกเล่าความตั้งใจของตน

โครงการ “ศิลปะชุมชน” ที่ทำกับเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือแหล่งบ่มเพาะความรู้และสั่งสมประสบการณ์มากมาย ทั้งจากกระบวนการทำงานของคณะทำงานเอง ผู้คนในชุมชน หน่วยงานที่ต้องประสานงาน หรือแม้แต่คนในครอบครัวซึ่งคอยช่วยเหลือตลอดเวลา จนโครงการดังกล่าวได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ โครงการ "กล้าใหม่... ใฝ่รู้" ระดับ อุดมศึกษา ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประจำปี ๒๕๕๑ ที่สำคัญโครงการ “กล้าใหม่..ใฝ่รู้” ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่เธอมีโอกาสได้สืบค้นประวัติศาสตร์ของชุมชน นางเลิ้ง ไปพร้อมๆ กับการได้ค้นพบตนเอง

“ตอนนั้นเราร่วมกันคิดกับเพื่อนอีก ๔ คน ส่งโครงการเข้าประกวดโดยใช้ศิลปะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน เชื่อมโยงให้เกิดวัฒนธรรมเล็กๆ ในชุมชนระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ผ่าน ๓ กิจกรรม คือ แผนที่ชุมชน ภาพครอบครัว และภาพพิมพ์รอยนิ้วมือ เพื่อเรียกความสนใจกับเด็กๆ ในชุมชนกลับคืนมาจากสิ่งไม่ดีต่างๆ มาอยู่ในพื้นที่และกิจกรรมที่เราจัดขึ้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้หายไปจากชุมชน” รางวัลที่ได้รับที่แท้จริงอาจไม่ใช่วัตถุ สิ่งของ แต่สิ่งที่น้ำมนต์และเพื่อนๆ ได้มาคือ การที่ผู้ใหญ่ในชุมชนเปิดโอกาสให้พวกเขาใช้พื้นที่ในละแวกบ้านของพวกเขาเพื่อทำกิจกรรม เรียกว่า “ให้ใจ” กันก็ว่าได้ หลังจากได้พื้นที่สำหรับสร้างสรรค์กิจกรรมแล้ว กิจกรรมอื่นๆ ยังจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดชุมชนเริ่มเห็นความตั้งใจ เข้าใจเจตนารมณ์ของกลุ่ม นำมาสู่การร่วมกันทำงานอย่างเป็นกลุ่มก้อนด้วยน้ำพักน้ำแรงของคนในชุมชนเอง

“จากกิจกรรมเล็กๆ ชาวบ้านเริ่มเข้าใจในจุดมุ่งหมาย เราก็ค่อยๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน มีการพัฒนาชุมชน และค่อยๆ เกิดการซึมซับตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตัวเองและอัตลักษณ์ของชุมชนมากขึ้นตามลำดับ เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสลัม จากเดิมที่มีนิสัยก้าวร้าวก็รู้จักมีสัมมาคารวะ รู้จักมารยาท วางตัวได้เหมาะสมมากขึ้น หรือจากที่เคยไปร้านเกม ก็มีส่วนหนึ่งเข้ามาทำงานกับเรา มาหาเรา ถือว่าเราดึงเขามาจากอบายมุขได้ ส่วนผู้ใหญ่ก็ให้ความร่วมมือกับกิจกรรม ช่วยเหลือ ให้ข้อมูลที่เรานำมาใช้ประโยชน์ในการทำงาน” น้ำมนต์ เล่าต่อว่า การทำงานกับชุมชนต้องอาศัยความต่อเนื่อง จากโครงการศิลปะชุมชน ต่อยอดมาสู่อีกหลายโครงการบนความเชื่อเดิมที่ว่า สมาชิกในชุมชนมีศักยภาพในการแก้ปัญหา และพัฒนาชุมชนได้หากพวกเขาร่วมมือกันโดยใช้ "ศิลปะ" เป็นสื่อกลาง

“ผลจากการทำงานมาต่อเนื่อง เราพบพัฒนาการของคนในชุมชนว่ามีระดับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น มีกลุ่มคน องค์กรเข้ามาร่วมสนับสนุนเยอะขึ้น มีผู้ใหญ่ใจดีหลายๆ ที่ เช่น มูลนิธิสยามกัมมาจล ที่คอยแนะแนวทางการทำงาน ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานชุมชนได้ และเราก็พบว่า ศิลปะ เป็นเครื่องมือที่ดี”

สิ่งที่ตอกย้ำ คงเป็นความสำเร็จของการจัดกิจกรรมครั้งล่าสุด เธอกับคณะทำงานอีกจำนวนหนึ่ง ชักชวนคนในชุมชนนางเลิ้งจัดกิจกรรม “อีเลิ้ง ศิลปะ ชุมชน โรงหนัง” ที่นอกจากมีโชว์ผลงานศิลปะของเด็กในชุมชนแล้ว ยังมีการนำเสนอศิลปะการแสดงของนางเลิ้งที่ออกมาวาดลวดลายหวนคืนอดีต เช่น ละครชาตรี หรือโขน... รวมไปถึงสองไฮไลต์เด็ดของงานคือ กิจกรรมฉายหนังสั้นตลอดเดือนตุลาคมนี้ เกี่ยวกับชุมชนนางเลิ้ง ๖ เรื่อง ในมุมมองจากคนนอก ซึ่งแต่ละตอนจะมีการตั้งคำถาม ตกผลึกความคิด ความรู้สึกในใจ และถ่ายทอดนางเลิ้งออกมาในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป

“ครั้งนี้ เราหยิบสื่อภาพยนตร์มาใช้ เพราะเป็นสื่อที่ง่ายต่อการเข้าถึง จากภาพฝันที่ใครหลายคนคิดว่าไม่อาจย้อนคืนกลับกลายเป็นภาพจริง โรงหนังเก่า (โรงหนังศาลาเฉลิมธานี)ของชุมชนกลับมาคึกคักอีกครั้ง เป็นพื้นที่ที่ชุมชนได้มาใช้ชีวิตและเรียนรู้ร่วมกัน ...ไม่ใช่เพียงแค่ชมหนังสารคดี แต่เป็นการชวนมองลงลึกไปสู่จิตวิญญาณของ “ผู้คน” ชาวนางเลิ้งในมิติที่เราอาจไม่เคยสัมผัส”

หากเปรียบแล้ว “น้ำมนต์” คงเป็นตัวละครหนึ่งที่โลดแล่นอยู่ในจอชีวิต เธอคือเส้นใยเส้นหนึ่งที่เห็นคุณค่าของบ้านเกิดและชักโยงผู้คนในชุมชนนางเลิ้งให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่คนนอกที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ ทุกคนล้วนมีบทบาทที่จะสนับสนุน ขับเคลื่อน ขจัดปัญหาให้ชุมชนดำรงอยู่ได้ โดยไม่ลืมรากเหง้าแห่งตน

“งานของเราไม่ยิ่งใหญ่ขนาดที่ว่าจะไปเปลี่ยนโลก แต่เราคิดว่ากิจกรรมแต่ละครั้งมันเข้าไปกระตุกต่อมบางอย่างของคนในชุมชนได้เสมอ ทั้งนี้ต้องอาศัยการสั่งสม ซึ่งก็ต้องมาจากการทำงานที่ต่อเนื่อง ให้อยู่ในวิถีชีวิต อยู่ในความเป็นคนนางเลิ้ง ซึ่งเกิดจากการเห็นคุณค่าของอดีต ประวัติศาสตร์ที่เราได้สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เราหวังเพียงว่าจะสร้างพื้นที่เล็กๆ ที่ชุมชนได้ใช้ร่วมกัน เกื้อกูลกัน” อาจกล่าวได้ว่า “น้ำมนต์” คือตัวอย่างเยาวชนคนเล็กๆ คนหนึ่ง ที่ไม่ลืมว่าเธอเติบโตมาอย่างไร สิ่งแวดล้อมที่เธอเคยวิ่งเล่นเป็นอย่างไร ทั้งยังตระหนักได้ว่าทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์กัน แม้กาลเวลาจะผ่านไปแค่ไหน แต่ความผูกพันเชื่อมโยงกันระหว่างสิ่งต่างๆ ในนางเลิ้งนั้นจะยังคงอยู่ตลอดไป และเธอพยายามรักษามันไว้อย่างภาคภูมิ

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net