กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--สสวท.
เพิ่งจบไปสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อช่วงปิดภาคเรียนเดือนตุลาคมนี้
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับโรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 14 แห่ง จัดค่ายยุวคอมพิวเตอร์ ประจำปี 2553 รวมทั้งหมด 14 ศูนย์ทั่วประเทศ
ศูนย์จัดค่ายยุวคอมพิวเตอร์ 14 ศูนย์ ประกอบด้วย 1) ร.ร. สามัคคีวิทยาคม จ. เชียงราย 2) ร.ร.ลำปางกัลยาณี จ. ลำปาง 3) ร.ร.อุตรดิตถ์ดรุณี จ. อุตรดิตถ์ 4) ร.ร. กำแพงเพชรพิทยาคม จ. กำแพงเพชร 5) ร.ร. เลยพิทยาคม จ. เลย 6) ร.ร. ขอนแก่นวิทยายน จ. ขอนแก่น 7) ร.ร. ราชสีมาวิทยาลัย จ. นครราชสีมา 8) ร.ร. สตรีอ่างทอง จ. อ่างทอง 9) ร.ร. สตรีศรีสุริโยทัย กทม. 10) ร.ร. กาญจนาภิเษกวิทยาลัย จ. ฉะเชิงเทรา 11) ร.ร. พรหมานุสรณ์ จ. เพชรบุรี 12) ร.ร. ประจวบวิทยาลัย จ. ประจวบคีรีขันธ์ 13) ร.ร. เบญจมราชูทิศ จ. นครศรีธรรมราช และ 14) ร.ร. หาดใหญ่วิทยาลัย จ. สงขลา
เนื่องจาก สสวท. ต้องการให้เยาวชนพัฒนาการเขียนโปรแกรม หลังจากนี้เมื่อพวกเขามีศักยภาพพอ ก็จะสามารถก้าวไปอีกขั้นหนึ่งคือค่ายโอลิมปิกวิชาการ และอาจผ่านการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกในอนาคต ก่อนจัดค่าย สสวท. ได้เชิญวิทยากรแกนนำมาร่วมกำหนดหลักสูตร คู่มือครู และเอกสารประกอบการจัดค่าย ทำให้ค่ายยุวคอมพิวเตอร์ของทุกศูนย์มีมาตรฐานเดียวกัน สสวท. สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งสำหรับจัดค่าย และเก็บค่าใช้จ่ายในการเข้าค่ายจากผู้ปกครองอีกส่วนหนึ่ง
วันนี้ เราตามไปดูค่ายยุวคอมพิวเตอร์ ปี 2553 ที่ศูนย์โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ.เพชรบุรี โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำจังหวัดเพชรบุรี ใกล้เขาวัง ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 11-15 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา โดย อ. ปรีชา จันทร์เปล่ง และ อ. ฉัตรชัย นาสถิตย์ วิทยากรแกนนำสาขาคอมพิวเตอร์ของ สสวท. และคณะครูหมวดคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนพรหมานุสรณ์ โดยค่ายนี้มี ชาวค่ายเป็นเยาวชน จาก 5 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม และ กทม. เข้าค่ายรวมทั้งหมด 38 คน
ค่ายยุวคอมพิวเตอร์ เป็นค่ายสำหรับเด็ก ๆ ชั้น ม. 1 - ม. 3 ที่มีความสนใจคอมพิวเตอร์เป็นพิเศษ ฝึกการเขียนโปรแกรม เป็นเวลา 5 วัน ให้นักเรียนมีความเข้าใจในการเขียนโปรแกรม ในส่วนที่คิดว่านักเรียนวัยนี้จะสามารถทำความเข้าใจได้
กิจกรรมส่วนใหญ่ ในแต่ละวัน จะเน้นฝึกปฏิบัติการการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้แก่ Visual Programming (C#) ตรรกศาสตร์และคำสั่งเงื่อนไข การแก้ปัญหาและคำสั่งวนซ้ำ โปรแกรมย่อยและกราฟิก รวมทั้งการทำโครงงานคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างยุวคอมพิวเตอร์ หรือนักเขียนโปรแกรมรุ่นเยาว์
อ. ฉัตรชัย นาสถิตย์กล่าวถึงประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องเขียนโปรแกรมว่า “หากมองในแง่ของการประยุกต์ใช้หลักการเขียนโปรแกรม เมื่อนักเรียนได้ฝึกฝน และพัฒนาด้านการเขียนโปรแกรมไปแล้ว ก็อาจนำไปพัฒนาโปรแกรมให้ตรงกับธุรกิจที่ทางบ้านเขาทำอยู่ หรือนำไปสนับสนุนพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หรือการทำโครงงานที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน อาจใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้ นอกจากนั้นการเขียนโปรแกรมยังช่วยให้เยาวชนมีความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น และรู้จัดวิธีแก้ปัญหาที่เป็นเหตุผลมากขึ้น สามารถคิดในเชิงที่สลับซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว
อ. ฉัตรชัย นาสถิตย์กล่าวต่อไปว่า “เบื้องต้นในฐานะของครูผู้สอน คาดหวังว่านักเรียนจะได้เรียนรู้ว่า ในโลกปัจจุบันเขาทำงานอะไรกันบ้างทางด้านคอมพิวเตอร์ ก็จะเห็นว่าระบบอัตโนมัติได้ถูกออกแบบมามากมาย ภายใต้การเขียนโปรแกรมควบคุม ส่วนเรื่องอื่นๆ คาดหวังเพียงว่า เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้แล้ว ในอนาคตพวกเขาจะมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศได้ด้วย เนื่องจากถ้าเราไม่เรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรม เราก็จะเป็นเพียงแต่ผู้ใช้ ซึ่งเราจะต้องซื้อเทคโนโลยีประเทศอื่นมาใช้ตลอด”
ช่วงเย็นของค่ายยุวคอมพิวเตอร์จะเป็นช่วงของกิจกรรมภาคสนาม ให้เด็ก ๆ ได้ปลดปล่อยพลัง และความเครียดที่มีอยู่ ให้เกิดความสนุกสนาน และสร้างกระบวนการกลุ่ม ระหว่างพักเบรค พี่เลี้ยงค่ายก็จะทำกิจกรรมนันทนาการ ให้แก่น้อง ๆ และมีอยู่วันหนึ่งที่จัดกิจกรรม Walk Rally เน้นสร้างความสามัคคี และยังมีกิจกรรมภาคกลางคืน ใช้เวลาสั้น แต่จุดประกาย ให้เด็กมีความรัก มีความเคารพ และผูกพันกัน เพื่อให้วันรุ่งขึ้น ให้เด็กมีความสามัคคี และแก้ปัญหาร่วมกันได้
“กิจกรรมภาคสนามและนันทนาการต่าง ๆ เรามีฐานมากมาย ซึ่งพี่เลี้ยงช่วยกันคิด แต่ครูจะเป็นผู้กำกับดูแลให้เหมาะสม ในความรู้สึกของผม ค่ายยุวคอมพิวเตอร์เป็นค่ายที่มีประโยชน์มาก ประโยชน์ที่เด็กจะได้เต็มๆ เลยคือ หลักการการเขียนโปรแกรม มองจากการที่ครูสอนในชั่วโมงเรียนเป็นเทอม ๆ นั้นนักเรียนได้เรียนเพียงสัปดาห์ละสองชั่วโมง ความต่อเนื่องจึงมีน้อย แต่ถ้าเข้าค่าย จะเกิดความต่อเนื่องมากกว่า สมองจะมุ่งไปทางเดียวและจดจ่ออยู่กับการเขียนโปรแกรมมากขึ้นจากกิจกรรมภาคบังคับในค่าย และเด็ก ๆ จะรู้จักวิธีการแก้ปัญหาและสิ่งที่ตามมาคือเขียนโปรแกรมพื้นฐานได้” อ. ปรีชา จันทร์เปล่ง กล่าว
จุดเด่นอย่างหนึ่งในค่ายนี้ คือ มุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้แบบ “พี่สอนน้อง” โดยมีรุ่นพี่ที่กำลังเรียนระดับชั้น ม. ปลาย และศิษย์เก่า ร.ร. พรหมานุสรณ์ ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงค่ายจำนวน 20 คน ช่วยให้คำแนะนำแก่รุ่นน้อง ด้านการเขียนโปรแกรม และสอนน้องทำกิจกรรมต่าง ๆ
ทั้งนี้ นายธีระพันธุ์ ธีรานันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพรหมานุสรณ์ กล่าวเสริมว่า ค่ายยุวคอมพิวเตอร์เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มากในการพัฒนานักเรียน และพัฒนาคุณครูทีมงานในเรื่องของการทำงาน เด็กที่ได้ประโยชน์ ไม่เฉพาะเด็กที่มาเข้าค่าย แต่เป็นพี่เลี้ยง เราใช้ค่ายเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนานักเรียน สิ่งที่เราต้องการในค่ายคอมพิวเตอร์ คือ เป็นค่ายที่ยั่งยืน มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง สืบทอดกันไปเรื่อย ๆ จากผุ้เข้ารับการอบรม ก้าวมาเป็นพี่เลี้ยง จากพี่เลี้ยงส่วนหนึ่งก้าวมาเป็นวิทยากร เราคิดว่า สิ่งเหล่านี้จะยั่งยืนสำหรับโรงเรียน
สรุปได้ว่า ค่ายนี้ จะช่วยให้นักเรียน ค้นพบความถนัดของตัวเอง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในอนาคต กิจกรรมนี้ เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ที่จะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ เริ่มต้นค้นหาตัวเอง เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของตนต่อไปเรื่อย ๆ และชาวค่ายต่างก็มีความสุข สนุกสนาน ประทับใจ กับค่ายนี้เป็นอย่างดี..
เด็กชายเจนวิชญ์ รัตนเย็นใจ (ปัม) ชั้น ม. 3 โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ.เพชรบุรี ซึ่งเข้าค่าย ยุวคอมพิวเตอร์ปีนี้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว กล่าวว่า กิจกรรมในค่ายนี้ ฝึกการคิดอย่างเป็นขั้นตอน ทำให้คิดอย่างเป็นระบบ มีแบบแผนมากขึ้น นอกจากปัมจะชอบเรียนคอมพิวเตอร์แล้ว ยังชอบเรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เข้าค่ายนี้แล้วชอบคอมพิวเตอร์มากขึ้น อยู่ที่บ้านชอบซื้อหนังสือคอมพิวเตอร์มาอ่านเยอะ ๆ แล้วฝึกฝนด้วยตัวเองบ่อย ๆ จะได้มีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมหลากหลายมากขึ้น
เด็กหญิงธนพร เล็กมณี (เฟิร์น) ชั้น ม. 2 โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ.เพชรบุรี ซึ่งเปลี่ยนใจจากเล่นเกมมาสู่การเขียนโปรแกรม เล่าว่า ปกติแล้ว ชอบเล่นเกมเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งเป็นการสนใจคอมพิวเตอร์แบบผิด ๆ จึงอยากลองเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ใหม่มาเป็นการใช้เชิงสร้างสรรค์มากขึ้น และต้องการทราบว่า การเขียนโปรแกรมเป็นอย่างไร จึงได้สมัครเข้าค่ายยุวคอมพิวเตอร์ ค่ายนี้ได้ฝึกความสามัคคี ความคิดสร้างสรรค์ และความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมให้กับเรา กิจกรรมทุกอย่างดีหมด ประทับใจพี่เลี้ยงค่ายที่ให้คำแนะนำ ดูแลเราเป็นอย่างดี
เด็กชายชาคริต เมราวีระนนท์ (ตั๋ง) ชั้น ม. 3 โรงเรียนปากท่อพิทยาคม จ. ราชบุรี ซึ่งเป็นแฟนคลับค่ายยุวคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ชั้น ม. 1 รวมครั้งนี้ก็เป็นปีที่ 3 แล้วที่ได้มาร่วมเข้าค่ายยุวคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์โรงเรียนพรหมานุสรณ์ เนื่องจากตั๋งมีความสนใจที่จะเรียนรู้คอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรมไปใช้ในการเรียนและการทำงาน ประทับใจในกิจกรรมฐานการเรียนรู้ และการเขียนโปรแกรมแปลก ๆใหม่ ๆ ตั๋งบอกว่าการเรียนรู้คอมพิวเตอร์ จะต้องหมั่นฝึกฝนสม่ำเสมอ ปีหน้าขึ้นชั้น ม. 4 แล้ว อยากจะมาลองเป็นพี่เลี้ยงค่ายดูบ้าง ในส่วนของพี่เลี้ยงค่าย อย่างพี่ก้อนปูน นายปรีดิ์มนัส ธนูทอง ชั้น ม.5 โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ.เพชรบุรี เพิ่งมาสั่งสมประสบการณ์การเป็นพี่เลี้ยงค่ายในปีแรก ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงประจำสี และเป็นผู้นำการเต้นท่าทาง สนุกสนานเฮฮา เพราะตนเองชอบและมีทักษะการเต้น การเป็นพี่เลี้ยงค่ายครั้งนี้ ได้รับประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะตนเองนั้นพลอยได้รับเข้าใจเรื่องการเขียนโปรแกรมมากขึ้นด้วย ประทับใจน้อง ๆ และพี่เลี้ยงทุกคน ที่เข้ากันได้ดี สนุกสนานและเป็นกันเองมาก
ศิษย์เก่าโรงเรียนพรหมานุสรณ์ พี่เฟี้ยส นายสุพัฒน์ บุญอยู่ กำลังเรียนชั้น ปี 2 คณะ ครุศาสตร์ สาขาไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็ยังคงเหนียวแน่นกับคณาจารย์หมวดคอมพิวเตอร์ และมาร่วมเป็นพี่เลี้ยงค่ายแก่น้อง ๆ เฟี้ยสเป็นเริ่มพี่เลี้ยงค่ายตั้งแต่เรียนชั้น ม. 4 เรื่อยมาทุกปีไม่เคยพลาด เนื่องจากแต่เดิมเฟี้ยสเป็นนักเรียนที่สนใจการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ จึงได้ร่วมทำกิจกรรมด้านคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนมาตลอด ..เฟี้ยส บอกว่า “ประทับใจที่อาจารย์ให้ความรู้แก่นักเรียนแต่ละรุ่นเป็นอย่างดี บางโปรแกรมที่อาจารย์ถ่ายทอดความรู้ให้ ตนเองก็นำไปเขียนโปรแกรมขายให้บริษัทเอกชนได้ด้วย นำความรู้ไปประยุกต์ต่อยอดใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ กิจกรรมที่อาจารย์จัดไม่ได้ให้แต่ความรู้ แต่สอนทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม เตรียมความพร้อมไปสู่สังคมข้างหน้าให้ด้วย”
เนื่องจากโรงเรียนอยู่ใกล้เขาวัง หรือ พระนครคีรี ซึ่งมีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้มีฝูงลิง ลงมาจากเขา มาร่วมสนุกกับชาวค่ายอย่างไม่ตั้งใจ บ้างก็มาแอบแย่งเอาผลไม้ที่เตรียมมาให้ชาวค่ายไปกินจนหมดเกลี้ยง .. เรียกเสียงฮา ! ...เป็นสีสันให้แก่น้อง ๆ ชาวค่ายได้อีกทาง
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit