กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์และความสามารถในการดำรงสถานะทางการตลาดแม้ว่ายอดขายรถยนต์จะชะลอตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สนับสนุนอันดับเครดิต อาทิ สถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในตลาดเฉพาะกลุ่มของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะสินเชื่อของบริษัทที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจแม้จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นอาจทำให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนและต้นทุนทางการเงินลดลงจนอาจจำกัดความสามารถในการทำกำไร ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการด้อยลงของคุณภาพสินทรัพย์ใน บริษัท กรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกด้วย แม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2552 ก็ตาม ทั้งนี้ บริษัทพยายามกระจายแหล่งเงินทุนเพื่อจะรักษาความยืดหยุ่นทางการเงินเอาไว้หลังจากที่ถูกจำกัดโดยกฎระเบียบของทางการจากการกำหนดเพดานการกู้ยืมจากแหล่งเงินทุนสำคัญ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดในตลาดเฉพาะกลุ่มสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ต่อไปได้ การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงและระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ดี โดยคาดว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่น่าจะให้การสนับสนุนต่อไป การพิจารณาแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงการที่บริษัทจะสามารถจัดการให้มีความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพียงพอทั้งสำหรับการบริหารสภาพคล่องและสนับสนุนการขยายธุรกิจด้วย
ทริสเรทติ้งรายงานว่าแม้ความต้องการรถยนต์ภายในประเทศจะหดตัวลงประมาณ 10.8% ในปี 2552 แต่บริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งยังสามารถประคองธุรกิจสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสินเชื่อรวมของบริษัทเอาไว้ได้ ณ สิ้นปี 2552 บริษัทมีสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยรวม 10,257 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.5% จาก 9,364 ล้านบาท ในปี 2551 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและยอดขายรถยนต์ในปี 2553 มีส่วนในการสนับสนุนการขยายสินเชื่อรถยนต์รายย่อย โดยมูลค่ารวมของสินเชื่อปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11,406 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 หรือเพิ่มขึ้น 11.2% จากปี 2552 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อรวมคงค้างของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นเพียง 3.8% ในปี 2552 เป็น 12,267 ล้านบาท จาก 11,820 ล้านบาทในปี 2551 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของธุรกิจสินเชื่อลีสซิ่งและแฟคตอริ่งของบริษัทลูก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 สินเชื่อรวมคงค้างของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นเป็น 13,467 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.8% จากสิ้นปี 2552 โดยในจำนวนสินเชื่อรวมของบริษัทนั้น จำนวน 84.7% เป็นสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เพิ่มขึ้นจาก 79.2% ในปี 2551 และ 83.6% ในปี 2552 ในขณะที่สัดส่วนสินเชื่อของบริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีสลดลงมาที่ 15.1% ของสินเชื่อรวม โดยลดลงจาก 16.1% ในปี 2552 และ 20.5% ในปี 2551
ทริสเรทติ้งกล่าวว่าความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าโดยรวมของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งอยู่ในระดับต่ำเนื่องมาจากลักษณะของสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งบริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อในส่วนนี้มากที่สุด นอกจากนี้ การกระจายตัวของส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในด้านผลิตภัณฑ์ของสินเชื่อได้ด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 สินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยคงค้างประกอบด้วยรถยนต์นั่งและรถกระบะจำนวน 37.8% รถตู้ 23.0% รถบรรทุก 25.4% รถแท็กซี่ 11.6% รถโดยสาร 0.9% และสินเชื่อสำหรับลูกค้าเก่า 1.2% โดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าสินเชื่อสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถตู้ และรถแท็กซี่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ส่วนผสมของสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อื่น ๆ ที่เน้นการให้สินเชื่อสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะ ดังนั้น เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่สูงกว่า บริษัทจึงใช้กลยุทธ์ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเน้นสินเชื่อเฉพาะผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงน้อยเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวม
แม้สินเชื่อของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งจะดูเหมือนมีความเสี่ยงที่สูงกว่า แต่อัตราส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระมากกว่า 3 งวด) ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายการอนุมัติสินเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทสามารถดำรงคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.99% ในปี 2548 เป็น 1.78% ในปี 2551 แต่ลดลงเป็น 1.45% ในปี 2552 นอกจากนี้ การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในอุตสาหกรรมสินเชื่อรถยนต์ยังมีผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทและผู้ประกอบการรายอื่น อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจาก 10.56% ในปี 2551 เป็น 11.00% ในปี 2552 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.57% ในปี 2551 และ 1.58% ในปี 2552 ทั้งนี้ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยดังกล่าวถือว่าต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ แม้ว่าต่อมาจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 2.14% สำหรับครึ่งแรกของปี 2553 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่ลดลงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังต้องใช้เวลามากกว่านี้ในการพิสูจน์ถึงเสถียรภาพของกำไรที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว
ในด้านของแหล่งเงินทุน บริษัทได้รับประโยชน์จากการมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ดังกล่าวถูกจำกัดโดยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการให้กู้ยืมแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันของสถาบันการเงินซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2551 โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวจำกัดจำนวนเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องของธนาคาร โดยเงินให้สินเชื่อแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องถูกจำกัดไว้ไม่เกิน 5% ของเงินกองทุนของธนาคาร หรือ 25% ของหนี้สินรวมของผู้กู้ โดยขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน กฎเกณฑ์ใหม่จำกัดความยืดหยุ่นทางเงินของบริษัทและความสามารถในการได้รับประโยชน์จากแหล่งทุนที่มีความมั่นคงจากธนาคารกรุงเทพ เงินที่บริษัทกู้ยืมจากธนาคารกรุงเทพเริ่มลดลงตั้งแต่ปลายปี 2551 และลดลงต่ำกว่าระดับที่ถูกจำกัดไว้ตามกฎหมาย บริษัทได้พยายามกระจายแหล่งเงินทุนไปยังสถาบันการเงินอื่นและตลาดทุนซึ่งรวมถึงการออกตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ โดยเก็บวงเงินคงเหลือจากธนาคารกรุงเทพไว้เป็นแหล่งเงินทุนสำรองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 บริษัทระดมทุนผ่านตั๋วแลกเงินคิดเป็น 15.6% ของเงินกู้ยืมรวม ซึ่งโดยปกติแล้ว การระดมทุนผ่านตั๋วแลกเงินจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เก่า (Refinancing Risk) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวได้รับการลดทอนโดยการมีกระแสเงินสดจากการชำระค่างวดของลูกค้าและวงเงินสำรองที่เพียงพอต่อความต้องการเงินทุนของบริษัทอย่างครบถ้วน และในช่วงกลางปีที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการชำระคืนเงินกู้ยืมจำนวน 3,000 ล้านบาทด้วยเงินกู้ยืมใหม่อายุ 3 ปี ทริสเรทติ้งกล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit