กรมควบคุมโรค เผยช่วงน้ำท่วม เสี่ยงเกิดโรคตาแดงสูง เตือน !! น้ำท่วมขังมีเชื้อโรคปนเปื้อนสูง

28 Oct 2010

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--สำนักเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค

เตือนประชาชนต้องระวังน้ำท่วมขังอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนสูง เสี่ยงเยื่อบุตาอักเสบหรือตาแดง หากน้ำสกปรกเข้าตาต้องรีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำยังน่าห่วง ย้ำผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดในช่วงปิดเทอมไม่ปล่อยให้ไปเล่นน้ำ แนะหลัก 4 ส. ป้องกันโรค - ดูแลตนเอง

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า ปัญหาการเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้ง่าย กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชนระวังโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม รวมถึงการจมน้ำ อันตรายจากไฟฟ้า ไฟดูด โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู สัตว์มีพิษ น้ำกัดเท้า และแผลเปื่อยติดเชื้อ ทั้งนี้ในช่วงที่น้ำท่วมขังจะทำให้เกิดโรคติดต่อได้ง่าย เพราะเชื้อโรคจะแพร่กระจายมากับน้ำที่สกปรก ประชาชนที่มีปัญหาเยื่อบุตาอักเสบหรือเป็นโรคตาแดง ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการได้รับเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ จึงขอแนะนำว่า อย่าลงเล่นน้ำที่ท่วมขัง หรือนำน้ำท่วมมาล้างหน้า เพราะอาจมีเชื้อโรคที่มาจากสิ่งปฏิกูลต่างๆ ปะปนมาจำนวนมากในช่วงที่มีน้ำท่วม หากน้ำสกปรกเข้าตาควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที

นพ.มานิต กล่าวต่อว่า "โรคเยื่อบุตาอักเสบ" หรือ "โรคตาแดง" เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสน้ำตา ขี้ตา และน้ำมูกของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรงจากการขยี้ตา หรือจากการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย อาการของโรคจะเกิดได้ภายใน 1-2 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง โดยอาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้าง ผู้ป่วยมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกวิธี อาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ ทำให้ปวดตา ตามัว ดังนั้นหากมีอาการเจ็บตา ตาแดง มีขี้ตามาก ควรรีบไปพบแพทย์ในหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือสถานีอนามัยที่อยู่ใกล้ทันที ไม่ควรซื้อยามาหยอดตารักษาเอง เพราะอาจจะไม่ได้ผลในการรักษาและอาจทำให้การอักเสบรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการจมน้ำซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำแล้วถึง 56 ราย (ตั้งแต่วันที่ 10 – 26 ต.ค.) โดยมีสาเหตุมาจากการออกไปหาปลา เก็บผักบุ้ง พลัดตก ลื่น กระแสน้ำพัดลงไปช่วยคนจมน้ำ เมาจากการดื่มสุรา ตะคริว ยิ่งตอนนี้อยู่ในช่วงปิดเทอม เด็กๆอาจจะไปเล่นน้ำที่ท่วมกับเพื่อนๆ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ที่พบว่าสาเหตุของการจมน้ำเสียชีวิตหลักๆ มาจากการลื่นและพลัดตกน้ำมากที่สุด ผู้ปกครองจึงต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ

นพ.มานิต กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่น้ำท่วม ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังการดูแลสุขอนามัยมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากมีโอกาสเกิดโรคและภัยสุขภาพอีกหลายโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามหลัก "4 ส. เพื่อการป้องกันโรคและภัยจากน้ำท่วม" ส. แรก คือการดื่มน้ำกินอาหารที่สุกสะอาด ส. ที่ 2 รักษาร่างกาย มือเท้าให้สะอาด และอบอุ่น ไม่ขยี้ตาเมื่อมีฝุ่นหรือน้ำสกปรกเข้าตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรลงแช่น้ำที่ท่วมขัง หากจำเป็นต้องรีบล้างตัวให้สะอาดโดยเร็ว ส. ที่ 3 ต้องระวังสัตว์มีพิษ ที่อาจหลบหนีเข้ามาในที่พักอาศัย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ และ ส.ที่ 4 คือเรื่องสิ่งแวดล้อม รอบตัวเรา เน้นการกำจัดขยะ ถ่ายอุจจาระลงถุง ตัดวงจรไฟฟ้าภายในบ้าน และต้องระมัดระวังเรื่องการจมน้ำด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th หรือ http://pr.ddc.moph.go.th หรือสอบถามติดต่อข้อมูลได้ที่ 1422 หรือ 02 590 3333

สำนักเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 590 3333 สำนักเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net