สถาบันอาหาร ชี้ตลาดกลุ่มผู้สูงอายุโตไม่หยุด แนะผู้ประกอบการอุตฯ อาหารไทย เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับ

05 Nov 2010

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--สถาบันอาหารเรื่อง

ตลาดกลุ่มผู้สูงอายุโตต่อเนื่อง “สถาบันอาหาร” ระบุ เป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยที่จะได้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการต้องก้าวให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และฉกฉวยโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งรูปแบบ คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ต้องเหมาะสมกับสภาพและความต้องการของผู้สูงอายุ เช่น อาหารเหลว และต้องสอดคล้องกับความต้องการตามวัย เช่น อาหารที่มีปริมาณแคลอรีต่ำ มีโซเดียมต่ำ มีส่วนผสมของสมุนไพรหรือสารที่ช่วยชะลอความแก่ เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้สูงอายุยังนิยมซื้อสินค้าอาหารที่มีขนาดบรรจุขนาดเล็ก และนิยมใช้ไมโครเวฟในการเตรียมอาหาร อาหารแช่แข็งพร้อมปรุงหรือพร้อมรับประทานจึงเป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุ

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป จากรายงานขององค์การสหประชาชาติพบว่า ในปี 2552 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีประชากรประมาณ 6,830 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 737 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 10.8 และในปี 2593 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,150 ล้านคน และเป็นผู้สูงอายุ 2,000 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 21.9 ของประชากรโลก สำหรับประเทศไทยก็มีแนวโน้มไม่แตกต่างกับหลายประเทศทั่วโลก เพราะจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุไว้ว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีจำนวนประชากรสูงอายุ 6.5 ล้านคน หรือร้อยละ 10.1 จากประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคนในขณะนั้น และในปี 2568 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เนื่องจากในปีดังกล่าวประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 20 หรือ 15 ล้านคน จากจำนวนประชากร 75 ล้านคนทั่วประเทศ

“ในด้านของอุตสาหกรรมอาหาร การขยายตัวของกลุ่มผู้สูงอายุนี้ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจที่จะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนเพิ่มขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งอาหารที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน และอาหารที่สอดคล้องกับความต้องการตามวัย เช่น อาหารที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไปที่มีการพัฒนารูปแบบและคุณสมบัติ

บางประการให้เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของผู้สูงอายุ เช่น อาหารเหลว (บดละเอียดหรือตัดเป็นชิ้นเล็กๆ) ผลิตภัณฑ์อาหารที่สอดคล้องกับความต้องการตามวัย เช่น อาหารที่มีปริมาณแคลอรีต่ำ อาหารที่มีโซเดียมต่ำ อาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรหรือสารที่ช่วยชะลอความแก่ เป็นต้น”

นายอมร งามมงคลรัตน์ กล่าวอีกว่า การดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตยังส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าอาหารด้วยเช่นกัน โดยผลจากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุยุคใหม่มักอาศัยอยู่แบบครอบครัวขนาดเล็กหรืออยู่คนเดียว นิยมซื้อ สินค้าอาหารที่มีขนาดบรรจุขนาดเล็ก สำหรับรับประทานเพียง 1-2 มื้อ และนิยมใช้ไมโครเวฟในการเตรียมอาหาร ดังนั้น อาหารแช่แข็งพร้อมปรุงหรือพร้อมรับประทานจึงเป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุ ส่วนฉลากอาหารสำหรับผู้สูงอายุควรมีขนาดของตัวอักษรที่ใหญ่พอเหมาะให้ผู้สูงอายุสามารถอ่านได้ชัดเจน และหากมีคำอธิบายเกี่ยวกับอาหารที่อ่านเข้าใจง่ายแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในตัวสินค้าได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ตื่นตัวในการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากแนวโน้มการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของทั่วโลก คาดว่าอนาคตอันใกล้นี้กลุ่มผู้สูงอายุทั่วโลกจะกลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และน่าจับตามองมากที่สุด ดังนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยควรก้าวให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ และฉกฉวยโอกาสพัฒนาสินค้าอาหารของไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มความหลากหลายและจับกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนก็จะสามารถเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้าอาหารไทยในตลาดโลกได้อย่างมหาศาล โดยเริ่มต้นจากการศึกษาความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุและนำความต้องการนั้นเข้าไปใส่ในตัวสินค้า ไม่ควรระบุหรือโฆษณาว่า “เป็นสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ” เพราะพฤติกรรมของคนโดยทั่วไปมักไม่มีใครยอมรับว่าตนเองแก่ แม้คนวัยนี้จะไม่ต้องการความดูดีเหมือนวัยรุ่นหนุ่มสาว แต่ก็ต้องการความรู้สึกดีเมื่อได้ใช้สินค้าและบริการต่างๆ

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net