กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--พม.
๒๖ ม.ค.๕๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยภายหลัง “การประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/ ๒๕๕๔” โดยกล่าวถึงกรณีกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เตรียมออกมาตรการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ออกจากบ้านหลังเวลา ๒๒.๐๐ น.เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ว่า หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม กรณีเคอร์ฟิวเด็ก หลังเวลา ๒๒.๐๐ น.ซึ่งอาจไม่เหมาะสมนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้ร่วมกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเพื่อให้ทราบถึงมาตรการที่ชัดเจน ในวันนี้ จึงได้เชิญผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติงาน และชี้แจงถึงมาตรการที่ชัดเจน โดยจากการหารือร่วมกันกับ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ชี้แจงว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะลดปัญหาอาชญากรรมให้ได้ ๒๐% ภายใน ๖ เดือน ทาง บช.น.จึงได้คิดมาตรการที่จะลดปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น มาตรการตีวงสุรา ที่กวดขันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ โดยเฉพาะบริเวณรอบสถาบันการศึกษา หรือมาตรการเสาธง ๕ นาที ที่มีตำรวจเข้าไปสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเตือนภัยแก่เด็กในโรงเรียน รวมถึงมาตรการคุมเข้มสถานประกอบการ ๔ แห่ง ได้แก่ ร้านสนุ๊กเกอร์ ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต และสถานบันเทิงต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชน เข้าไปใช้บริการในสถานที่ดังกล่าว หลังเวลา ๒๒.๐๐ น. เหล่านี้ จึงเป็นเพียงมาตรการที่มีขึ้นเพื่อรณรงค์และกวดขันอบายมุขต่างๆ ที่อาจไปถึงตัวเด็กและเยาวชน ไม่ใช่เป็นการเคอร์ฟิวแต่อย่างใด
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า กระทรวงฯ ไม่ได้มีเจตนาในการเข้าไปขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากต่างก็มีเป้าหมายในการดูแลสังคมร่วมกัน การออกมาแสดงความคิดเห็นนี้ จึงเป็นเพียงการให้ข้อคิดและคำแนะนำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน โดยจากที่ได้ฟังคำชี้แจงถึงมาตรการที่ชัดเจนในวันนี้ ว่าเป็นเพียงการคุมเข้ม ๔ สถานประกอบการ ก็รู้สึกชื่นชมถึงความตั้งใจจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และขอให้มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกวดขันสถานประกอบการต่างๆ ที่ลักลอบให้บริการแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งต้องจัดการอย่างเด็ดขาด ตรงไปตรงมา และในกรณีข้อกังวลใจต่างๆนั้น กระทรวงฯ จะให้ศูนย์ประชาบดีดำเนินการ ให้คำแนะนำ โดยหากเด็กยังไม่มีผู้ปกครองมารับ ก็พร้อมจะรับตัวมาไว้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว จนกว่าผู้ปกครองจะมารับ จึงไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย ทั้งนี้ จะขอความร่วมมือไปยังคณะกรรมการคุ้มครองเด็กฯ ทุกจังหวัด เพื่อให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุม
ด้านพล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า การออกมาตรการนี้ ไม่ใช่เป็นการเคอร์ฟิวเด็ก เพียงแต่เข้าไปดูแลกวดขันไม่ให้เด็กไปอยู่ตามสถานบริการต่างๆ ในยามวิกาล ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่เหมาะสมและเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอาชญากรรม โดยเมื่อพบเห็นก็จะติดต่อผู้ปกครองให้มารับกลับบ้าน ทั้งนี้ ยอมรับว่ายังบกพร่องในการประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการและวิธีดำเนินงาน จึงทำให้หลายฝ่ายเกิดความเข้าใจผิด โดยน้อมรับคำแนะนำต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานต่อไป
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องเด็ก สตรี เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยการทำงานของสหวิชาชีพต่างๆ มาร่วมกันดูแลแก้ไขปัญหา โดยหลังจากมาตรการนี้ออกไป พบว่า สถิติเด็กที่เข้าไปใช้สถานบริการลดลงมาก ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะดำเนินการต่อไปให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit