กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัด “การประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/ ๒๕๕๔” เพื่อสรุปความคืบหน้าเรื่องการรับฟังความคิดเห็น กรณีเคอร์ฟิวเด็ก พร้อมหารือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการดำเนินงานตามมาตรการ และวิธีปฏิบัติในการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก หลังเวลา ๒๒.๐๐ น. โดยนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในการประชุม ในวันพุธที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ชั้น ๓ อาคาร ๖๐ ปี ภายในบริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กรณีกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เตรียมออกมาตรการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ออกจากบ้านหลังเวลา ๒๒.๐๐ น.เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน นั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผลจากการหารือ คณะกรรมการฯส่วนใหญ่ มีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องของหลักการ ที่มุ่งลดอาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อเด็กและเยาวชน แต่ยังมีข้อกังวลในวิธีการปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งอาจไปละเมิดสิทธิเด็กและยังไม่มีกฎหมายมารองรับที่ชัดเจน อีกทั้งมีความห่วงใยในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจบางคน ซึ่งดำเนินการอย่างไม่โปร่งใส แสวงหาผลประโยชน์จากคำสั่งของต้นสังกัด ซึ่งทำให้เด็กเสียอนาคตและไม่มีโอกาสที่จะต่อสู้ได้ ทั้งนี้ เข้าใจว่าตำรวจกำหนดมาตรการขึ้น เพื่อต้องการช่วยคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยง แต่การกำหนดให้มาตรการมีผลบังคับใช้กับเด็กทุกคนในภาพรวม อาจจะไม่เหมาะสม และการใช้เครื่องมือทางกฎหมายที่มีอยู่เดิมนั้น สามารถใช้จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพออยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ที่มุ่งเอาผิดกับบุคลลและสถานที่ที่เสี่ยงสำหรับเด็ก ดังนั้น หากจะคุ้มครองเด็ก จึงไม่จำเป็นต้องผูกพันกับมิติเรื่องเวลา
นายอิสสระ กล่าวอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรกำหนดมาตรการและวิธีการปฏิบัติในการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กหลังเวลา ๒๒.๐๐ น.ให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์และผลต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ หากยังไม่มีการกำหนดที่ชัดเจนในประเด็นดังกล่าว จึงยังไม่ควรประกาศให้มีการปฏิบัติทั่วประเทศ แต่ถึงแม้ว่ามาตรการนี้ อาจมีข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย ก็ไม่ควรมองตำรวจว่าเป็นจำเลย แต่ควรมองว่าตำรวจเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากตำรวจเป็นด่านแรกที่พบเห็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็ก เช่น การถูกละเมิดหรือถูกนำไปแสวงประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น เมื่อมีมาตรการที่เด่นชัดแล้วว่า ต้องการกวดขันดูแลพฤติกรรมเด็ก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรประสานงานและบูรณาการ เพื่อให้เกิดระบบประสานส่งต่อ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานของตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถคุ้มครองเด็กได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖
“เพื่อหาข้อสรุปถึงมาตรการและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน คณะกรรมการฯ จึงได้เชิญผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาร่วมประชุม ในวันพุธที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๔ นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติงานในการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ในการคุ้มครอง ดูแล รวมทั้งแก้ไขพฤติกรรมเด็กในสังคมได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง” นายอิสสระ กล่าว