กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป
บลจ.ทิสโก้ รุกกองทาร์เก็ตฟันด์หุ้นเอเชียต่อเนื่อง ส่ง “กองทุนเปิด ทิสโก้ เกรทเทอร์ ไชน่า ทริกเกอร์ 15%” ลงทุนหุ้นในสามมังกรเศรษฐกิจเอเชีย “จีน-ฮ่องกง-ไต้หวัน” ชูเป้าหมายทำกำไร 15% ใน 1 ปี มั่นใจเศรษฐกิจแดนมังกรเติบโตสูง เพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนและกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศ ไอพีโอ 16 ก.พ. - 2 มี.ค. 54 ที่ธนาคารทิสโก้ทุกสาขา
นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (Mr. Theeranat Rujimethapass, Managing Director of TISCO Asset Management Co.,Ltd.) เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจกองทุนรวมของ บลจ.ทิสโก้ในปีนี้จะยังคงมุ่งเน้นการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดด้านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (FIF) มากที่สุด โดยผลงานในช่วงที่ผ่านมาได้พิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของ บลจ.ทิสโก้ ได้เป็นอย่างดี โดยล่าสุดในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ผลงานการบริหาร"กองทุนเปิด ทิสโก้ เอเชีย ลีดเดอร์ ทริกเกอร์ 15%" (TISCO Asia Leader Trigger 15% Fund #1) และ "กองทุนเปิด ทิสโก้ เอเชีย ลีดเดอร์ ทริกเกอร์ 15% #2" (TISCO Asia Leader Trigger 15% Fund #2) สามารถเข้าเป้าหมายผลตอบแทนที่ 15% ถึง 2 กองรวด ในระยะเวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้น
ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอกย้ำภาพผู้นำในกอง FIF หุ้นเอเชียอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บลจ.ทิสโก้ จึงเตรียมเปิดขาย “กองทุนเปิด ทิสโก้ เกรทเทอร์ ไชน่า ทริกเกอร์ 15% (TISCO Greater China Trigger 15% Fund)” ซึ่งเป็นกอง FIF ที่มีนโยบายลงทุนใน ETF ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง/สิงคโปร์ โดยมีนโยบายลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีหุ้นของ 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง และไต้หวัน โดยมีดัชนีชี้วัดคือ MSCI Golden Dragon เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนในต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายทำกำไรไว้ที่ 15% ภายในระยะเวลา 1 ปี หรือสามารถเลิกกองคืนเงินผู้ถือหน่วยลงทุนได้ก่อนครบกำหนดอายุโครงการ เมื่อสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 15% หรือ หน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 11.5000 บาท โดยมีมูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท จองซื้อขั้นต่ำ 20,000 บาท โดยจะขายครั้งเดียวในช่วงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2554 ที่ธนาคารทิสโก้ ทุกสาขา โดย “กองทุนเปิด ทิสโก้ เกรทเทอร์ ไชน่า ทริกเกอร์ 15%” อยู่ในระหว่างการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
“สำหรับการออกองทุนที่เลือกลงทุนในตลาดหุ้นทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง และไต้หวันนี้ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยในส่วนของจีนมีจุดเด่นอยู่ที่การเป็นประเทศใหญ่ มีจำนวนประชากรเป็นจำนวนมาก รวมถึงการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและภาคการลงทุนมีความแข็งแรง ส่วนฮ่องกงมีความเป็นผู้นำในด้านของธุรกิจการเงินของเอเชีย และไต้หวันมีความโดดเด่นจากการเป็นผู้ส่งออกและการเป็นผู้ผลิตสินค้าไอทีชั้นนำประเทศหนึ่งของโลก ดังนั้นการลงทุนในประเทศเหล่านี้จึงครอบคลุมทุกภาคส่วนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีและสามารถจะช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งเราตั้งเป้าหมายทำกำไรของกองทุนนี้ไว้ที่ 15%”
ด้านนายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ หัวหน้าฝ่ายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (Mr. Saharat Chudsuwan, Senior Vice President, Head of Investment Management – Mutual & Private Fund Business, TISCO Asset Management Co.,Ltd.)กล่าวว่า จุดเด่นของจีน ฮ่องกง และไต้หวัน คือการที่เศรษฐกิจของแต่ละประเทศยังมีการเติบโตที่แข็งแกร่งประกอบกับความโดดเด่นเฉพาะตัวและยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก โดยจีนในปีนี้คาดการณ์ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 8.7% ซึ่งถือว่าลดลงจากในปีที่แล้วที่มีการขยายตัวอยู่ที่ 10% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยจีนได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ A+ จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poors
สำหรับปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน คือ การบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงที่สุดในโลก แต่สัดส่วนการบริโภคยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อการลงทุนภายในประเทศ รัฐบาลมีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากเพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) โดยเฉพาะสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อีกทั้งรัฐบาลยังมีการใช้มาตรการทางการเงินต่าง ๆ เพื่อควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรงจนเกินไปและต้องการควบคุมราคาสินค้าในประเทศเพื่อป้องกันการลุกลามของปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์
ด้านฮ่องกงคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 5 % ลดจากจากปีก่อนซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 6.2% ระบบเศรษฐกิจของฮ่องกงเป็นแบบเสรีนิยม มีข้อจำกัดทางการค้าน้อยมาก เนื่องจากฮ่องกงไม่มีทรัพยากรธรรมชาตินอกจากท่าเรือน้ำลึกที่ดีเยี่ยม ดังนั้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญของฮ่องกง คือ การค้า การเงินธนาคาร การลงทุนและการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะการนำเข้าและส่งออก รวมถึงการ Re-Export สินค้าไปประเทศที่สาม และเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการธนาคารที่ใหญ่อันดับสาม ของโลกรองจากนิวยอร์กและลอนดอน สำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอยู่ในระดับ AA+
สำหรับเศรษฐกิจของไต้หวันปีคาดว่าจะมีการขยายตัวอยู่ที่ 3.6% ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 10 % แต่ด้วยข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจช่องแคบไต้หวัน (Economic Cooperation Framework Agreenent – ECFA) ที่ได้ลงนามกับจีน เมื่อปีที่แล้วนั้น ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดที่จะให้มีการลดภาษีระหว่างกันเป็นศูนย์ภายใน 2-3 ปี (2554-2556) ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกของไต้หวันและส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่องและส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลสูงถึง 9.3% และ 7.1% ของจีดีพี ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ ทั้งนี้ราคาหุ้นในตลาดไต้หวันยังถือว่ามีความเหมาะสมต่อการลงทุนเทียบกับภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยคาดว่าอัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิของ MSCI Taiwan ในปีนี้จะอยู่ที่ 13.3 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภูมิภาค ส่วนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอยู่ที่ระดับ AA-
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2633 6000 กด 4 สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายนิเทศสัมพันธ์ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2633 6906