กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--ตลท.
สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแนวโน้ม ปี 2554 การจัดทำรายงาน CSR จะเป็นประเด็นสำคัญของธุรกิจที่ต้องการพัฒนาสู่ความรับผิดชอบที่ยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับต่อสังคม มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์สนับสนุนการสื่อสารเรื่อง CSR เพิ่มขึ้น ในปีนี้ และหลายธุรกิจจะใช้กระแสสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตและยกระดับให้มีความเขียวเหนือกว่า (Greener) คู่แข่งขันในตลาด
นายพันธ์ศักดิ์ เวชอนุรักษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) เปิดเผยในงานแถลงทิศทางและแนวโน้ม CSR ปี 2554 “Reporting your CSR” ในวันนี้ (10 ก.พ. 2554) ว่าปัจจุบันภาคธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและการคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างประโยชน์ให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศตามแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งบทบาทในด้าน CSR ของภาคธุรกิจยังเป็นเงื่อนไขที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า
ดังนั้น สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีการพัฒนากระบวนการดำเนินงาน CSR ที่มีประสิทธิภาพ สามารถสนองตอบต่อความคาดหวังของสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล ทิศทางการขับเคลื่อนงาน CSR ของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2554 จึงยังคงมุ่งเน้นงานเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจทั้งด้าน CSR ทั่วไปควบคู่ไปกับประเด็นด้าน CSR ที่เป็นปัจจุบัน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งงานพัฒนาและส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการนำมาประยุกต์สู่การปฏิบัติจริงในกระบวนการดำเนินงาน CSR ของบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการจัดทำวิจัยด้าน CSR ด้วย
“ในปีนี้สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมต่อจากเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม พัฒนาหลักการและแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลรายงาน CSR ที่สอดคล้องกับกรอบการรายงาน (Reporting Framework) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในการชี้แจงข้อมูลสำหรับผู้ลงทุนและการสื่อสารกับสังคม ที่ในวันนี้ผลประกอบการของบริษัทฯ จะต้องถูกนำเสนอทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมประกอบกัน ทั้งนี้ แนวทางการจัดทำรายงานดังกล่าว มิได้เป็นข้อกำหนดบังคับ แต่เป็นช่องทางในการเพิ่มคุณค่าองค์กรโดยสมัครใจที่ได้รับการยอมรับในสายตาของผู้ลงทุนและสังคม”
ด้าน ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาทิศทางและแนวโน้มของ CSR ในปีนี้ว่า การจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) จะกลายมาเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการสื่อสารกับภาคสังคมและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ของกิจการ ที่ซึ่งการประชาสัมพันธ์ CSR ไม่สามารถสร้างคุณค่าและความสัมพันธ์ได้เหมือนดังเดิม
จุดมุ่งหมายหลักของการเปิดเผยรายงาน CSR คือ เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับและการรับรองจากสังคมต่อ “ผลสำเร็จ” ในภารกิจ CSR ขององค์กร โดยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่เกื้อหนุนให้การรายงานเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ บูรณภาพ (Inclusivity) ของการคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องและความครอบคลุมของภารกิจ CSR ในเรื่องหลักและประเด็นสำคัญได้อย่างครบถ้วน สารัตถภาพ (Materiality) ของตัวบ่งชี้สัมฤทธิภาพในกิจกรรม CSR ที่มีนัยสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับองค์กรจริงๆ และทีฆภาพ (Sustainability) ของกิจกรรม CSR ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ธุรกิจที่มีการดำเนินงาน CSR อยู่ในกระบวนการ แต่ยังมิได้มีการเปิดเผยรายงานต่อสังคมอย่างเป็นทางการ จึงควรต้องเริ่มสำรวจและเก็บบันทึกข้อมูล วางแผนการเปิดเผยข้อมูล ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย คัดเลือกข้อมูลที่จะรายงานต่อผู้มีส่วนได้เสียในช่องทางที่เหมาะสม พร้อมรับต่อแนวโน้มของการรายงานด้าน CSR ที่เกิดขึ้น”
แนวโน้มที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในปีนี้ คือ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) จะแผ่อิทธิพลสู่การดำเนินงาน CSR ขององค์กร นอกเหนือจากการใช้เพื่อส่งเสริมการขาย สร้างภาพลักษณ์ และกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้า เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถวางกลยุทธ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในเชิงรุก เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมในกิจกรรม CSR ขององค์กร ในลักษณะของการร่วมสร้าง (Co-Creation) อาทิ การตลาดเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคม (Social Marketing) ที่เป็นการสนับสนุนการพัฒนาหรือการทำให้เกิดผลจากการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านสุขภาวะ อันจะนำมาซึ่งคุณค่าร่วม (Shared Value) ระหว่างองค์กรและสังคม
พร้อมด้วยกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ได้แผ่ขยายอย่างกว้างขวางต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจหลายแขนงมีการยกระดับกลยุทธ์สีเขียวจากการทำเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย (Cost Saving) มาสู่การสร้างเม็ดเงินรายได้ใหม่ๆ (Revenue Creating) ด้วยการปรับปรุงสายผลิตภัณฑ์ให้สนองตอบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาสถานะการเติบโตในตลาดด้วยความเขียวเหนือกว่า (Greener) คู่แข่งขัน
สำหรับรายละเอียดการประมวลแนวโน้ม CSR ปี 2554 ในทิศทางอื่นๆ ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากรายงาน “6 ทิศทาง CSR ปี 2554: Reporting your CSR” จัดทำโดยสถาบันไทยพัฒน์ โดยสอบถามเพิ่มเติมที่ 0-2930-5227 หรือ e-mail: [email protected] และ www.thaipat.org