กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. แถลงภายหลังการประชุมร่วมกับชมรมวาณิชธนกิจว่า ชมรมวาณิชธนกิจได้ตระหนักถึงบทบาทของที่ปรึกษาทางการเงินในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งมีหน้าที่จัดเตรียมข้อมูลของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยเป็นข้อมูลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของประชาชน ประกอบกับก.ล.ต. ได้นำหลักการการเปิดเผยข้อมูล (disclosure base) ซึ่งเป็นแนวทางสากล มาใช้ในการกำกับดูแลมากขึ้น ดังนั้น ข้อมูลที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณะจึงมุ่งเน้นที่คุณภาพและความเพียงพอ ในช่วงที่ผ่านมาชมรมจึงมีการดำเนินงานหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาทางการเงิน ที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่
(1) ชมรมได้ออกแนวทางการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาทางการเงินให้มีความชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกันโดยได้จัดทำแนวทางการตรวจสอบและสอบทาน (due diligence) สำหรับการทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ การขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ และการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ที่ปรึกษาทางการเงินสามารถทำหน้าที่ได้อย่างละเอียด รอบคอบ และมีประสิทธิภาพ โดยให้สมาชิกถือเป็นแนวทางการปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2553
(2) ชมรมได้ปรับปรุงจรรยาบรรณของที่ปรึกษาทางการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้การประกอบวิชาชีพด้านวาณิชธนกิจของบริษัทสมาชิกเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและมีมาตรฐานอันจะทำให้วิชาชีพนี้ได้รับความเชื่อถือจากผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยให้สมาชิกถือเป็นแนวทางการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2553
(3) ชมรมได้จัดทำร่างข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants: DW) เพื่อให้ผู้ออก DW มีมาตรฐานการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ร่างข้อกำหนดดังกล่าวอยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อให้สามารถรองรับรายละเอียดในทางปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้น
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ประกอบวิชาชีพได้ตระหนักถึงความสำคัญในการทำหน้าที่ของตน และได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานและจรรยาบรรณ ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับการปฏิบัติจริงมากกว่าการกำหนดของทางการ และในส่วนของการจัดทำข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิของผู้ออกและผู้ถือ DW นั้น ก.ล.ต. เห็นว่า การมีมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถทำความเข้าใจลักษณะและเงื่อนไขของตราสารได้สะดวกขึ้น ในขณะเดียวกันยังเป็นการลดภาระต้นทุนของผู้ออกตราสาร และต่อไปหากมีข้อขัดข้องด้านกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่อาจไม่รองรับทางปฏิบัติที่มีพัฒนาการหรือเปลี่ยนแปลงไป ขอให้ชมรมยกขึ้นหารือกับ ก.ล.ต. ทันที”
นายนรเชษฐ์ แสงรุจิ ประธานกรรมการชมรมวาณิชธนกิจ กล่าวว่า “เพื่อเตรียมความพร้อมของที่ปรึกษาทางการเงินให้สามารถรับมือกับการพัฒนาตลาดทุนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชมรมจึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคลากรของสมาชิกให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างละเอียดรอบคอบและมีประสิทธิภาพ โดยแนวทางการปฏิบัติงาน due diligence ที่ออกมา รวมถึงจรรยาบรรณที่ปรับปรุงนี้จะช่วยให้บุคลากรของสมาชิกปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งชมรมได้จัดสัมมนาเพื่อสื่อสารและ ทำความเข้าใจกับสมาชิกในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งกระตุ้นให้สมาชิกตื่นตัวที่จะพัฒนา และพร้อมรับกระแสการเชื่อมโยงตลาดการเงินของโลกที่จะมาถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้ด้วย”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit