กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--คต.
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลจากการสัมมนาพบว่า รัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายเปิดเสรีการค้าและการลงทุนมากขึ้น โดยมีการทบทวนเพื่อยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าที่มีความอ่อนไหว และส่งเสริมโอกาสทางการค้าการลงทุนโดยเน้นสาขาทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น พลังงาน น้ำมันปาล์ม อิเล็กทรอนิกส์ บริการทางการเงิน การค้าปลีก/ค้าส่ง ท่องเที่ยว สื่อสาร การศึกษา และบริการด้านสุขภาพ เป็นต้น
กรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ในการส่งเสริมและขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทยในประเทศเพื่อนบ้านโดยได้จัดสัมมนาเรื่อง“รุกตลาดมาเลเซีย โอกาสมีมากกว่าที่คิด” จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ที่โรงแรมริชมอนด์ กรุงเทพมหานคร และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 ที่โรงแรมธรรมรินทร์ธนา จังหวัดตรัง ผลการจัดสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และผู้สนใจจำนวนมาก
ผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และกำลังซื้อลดลง ประเทศไทยจึงต้องปรับกลยุทธ์การส่งออกโดยมองหาลู่ทางขยายการค้าการลงทุนไปยังตลาดอื่นที่มีศักยภาพ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเห็นว่าภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาด “อาเซียน” เป็นตลาดสำคัญที่แต่ละประเทศหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น “อาเซียน” ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่างๆ 10 ประเทศ ที่มีความคล้ายคลึงทาง ด้านวัฒนธรรม สังคม ศาสนา และมีประชากรรวมกันกว่า 590 ล้านคน เป็นตลาดที่มีความใกล้ชิดผูกพันกับประเทศไทยมายาวนานและในอีก 5 ปีข้างหน้าจะก้าวเข้าสู่ช่วงสำคัญของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมือได้อย่างเสรี อีกทั้งความตกลงเขตการค้าเสรีของอาเซียนได้มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ต้นปี 2553 ซึ่งจะทำให้อุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปแบบภาษีและมิใช่ภาษีระหว่างประเทศสมาชิกค่อยๆ หมดไป ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่จะใช้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวในการรุกและขยายตลาดการค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
รองอธิบดี เปิดเผยต่อไปว่า ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน ดังนั้น โอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายการค้าการลงทุนไปยังมาเลเซียจึงมีอีกมาก อย่างไรก็ดีการที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในต่างประเทศจะต้องมีการเตรียมตัวที่ดี อีกทั้งต้องศึกษาและเข้าใจวัฒนธรรมของผู้บริโภคด้วย
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การขนส่ง เคมีภัณฑ์ ยางดิบ และชิ้นส่วนเครื่องจักร ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากมาเลเซีย ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนเครื่องจักร ในปี พ.ศ. 2552 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับมาเลเซียสูงเกือบ 6 แสนล้านบาท โดยในมูลค่าการค้าดังกล่าวเป็นมูลค่าการค้าชายแดนประมาณร้อยละ 70 นอกจากนี้มาเลเซียยังมีการลงทุนในไทยเป็นลำดับที่ 5 สาขาที่สำคัญได้แก่ บริการ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีและกระดาษ โลหะและเครื่องจักร และสินค้าเกษตร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit