ธนาคารกสิกรไทยหนุนสมาคมเรือพาย 20 ล้าน จัดศึกเรือยาวมังกร ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา

22 Dec 2010

กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--ธนาคารกสิกรไทย

พลเรือเอก นิพนธ์ จักษุดุลย์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะนายกสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย และ นายบัณฑูร ล่ำซ่ำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย พลเรือโท ชัยณรงค์ เจริญรักษ์ เลขาธิการสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันอังคารที่ 21 ธันวาคม 2554 ณ ห้องชมวัง อาคารราชนาวิกสภา

พลเรือเอก นิพนธ์ จักษุดุลย์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ แถลงว่าการแข่งขันเรือยาวมังกร ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยนี้ ได้รับการสนับสนุนการจัดการแข่งขันพร้อมเงินรางวัลจากธนาคารกสิกรไทย จำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งนายบัณฑูร ล่ำซำ ได้กล่าวว่าธนาคารกสิกรไทยเข้าร่วมสนับสนุนสมาคมเรือพายในการจัดการแข่งขันเรือยาวมังกรนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษาและด้วยเห็นว่ากีฬาพายเรือเป็นกีฬาที่เสริมสร้างสามัคคี สร้างความเป็นเอกภาพเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแท้จริง เพราะฝีพายทุกคนในเรือลำเดียวกัน จะต้องพายพร้อมกัน จึงเห็นว่าการแข่งเรือพายนี้จะเป็นสื่อในการถวายความจงรักภักดีและดำเนินตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ให้ “คนไทยรู้รักษ์สามัคคี”

การแข่งขันครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท 22 ฝีพาย ประชาชนชาย, ประชาชนหญิง อายุไม่เกิน 23 ปี ซึ่งแบ่งการแข่งขันออกเป็น รอบคัดเลือกตัวแทนระดับกลุ่ม 5 ภาค กลุ่มภาคที่ 1 วันที่ 20 – 30 มิถุนายน 2554 ณ อ่างเก็บน้ำมาบประชัน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี, กลุ่มภาคที่ 2 วันที่ 6 – 16 กรกฎาคม 2554 ณ อุทยานแม่ลาราขานุสรณ์ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี, กลุ่มภาคที่ 3 วันที่ 9 – 18 สิงหาคม 2554ณ อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา, กลุ่มภาคที่ 4 วันที่ 19 – 28 สิงหาคม 2554 ณ โครงการอ่างเก็บน้ำพระราชดำริ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช, กลุ่มภาคที่ 5 วันที่ 1 – 15 กันยายน 2554 ณ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับในรอบชิงชนะเลิศ จะจัดให้มีขึ้นระหว่าง วันที่ 4 -5 ธันวาคม 2554 ณ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ (ราษฎร์บูรณะ) โดยจะมีการเชิญทีมเรือยาวมังกรจากต่างประเทศ อาทิ เมียนมาร์, เวียดนาม, จีน, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ เข้าร่วมการแข่งขันด้วย

การได้รับเงินสนับสนุน 20 ล้านบาท จากธนาคารกสิกรไทยนั้น พลเรือโท ชัยณรงค์ เจริญรักษ์ เลขาธิการสมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสมาคมจะนำไปใช้สำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์การแข่งขันซึ่งจำเป็นต้องใช้เรือตามมาตรฐานสากล ตลอดจนอุปกรณ์สำหรับการฝึกซ้อมของเยาวชนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันและงานประชาสัมพันธ์ตลอดทั้งปี

ภายหลังการแถลงข่าวได้มีการสาธิตการพายเรือ โดยนักกีฬาเรือยาวมังกรทีมชาติไทย (ทีมายและหญิง) เจ้าของ 3 เหรียญทองแดง ชุดเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่ มณฑลกวางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

การแข่งขันเรือยาวมังกร ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2554 ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รอบคัดเลือก ตัวแทนระดับกลุ่ม 5 ภาค แบ่งจังหวัดออกเป็นกลุ่มภาคดังนี้

  • กลุ่มภาคที่ 1 ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ทำการคัดเลือกระหว่างวันที่ 20 – 30 มิถุนายน 2554 ณ อ่างเก็บน้ำมาบประชัน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
  • กลุ่มภาคที่ 2 ได้แก่ อยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท ราชบุรี นครสวรรค์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สิงห์บุรี ทำการคัดเลือกระหว่างวันที่ 6 – 16 กรกฎาคม 2554 ณ อุทยานแม่ลาราขานุสรณ์ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
  • กลุ่มภาคที่ 3 ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสระเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ชัยภูมิ อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี เลย หนองคาย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ทำการคัดเลือกระหว่างวันที่ 9 – 18 สิงหาคม 2554ณ อ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
  • กลุ่มภาคที่ 4 ได้แก่ นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฏร์ธานี ระนอง ชุมพร สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทำการคัดเลือก ระหว่างวันที่ 19 – 28 สิงหาคม 2554 ณ โครงการอ่างเก็บน้ำพระราชดำริ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • กลุ่มภาคที่ 5 ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ น่าน อุทัยธานี ทำการคัดเลือก ระหว่างวันที่ 1 – 15 กันยายน 2554 ณ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติความเป็นมา

เรือยาวมังกรเป็นเรือรูปทรงยาว เพรียว ที่มีต้นกำเนิดดั้งเดิมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ฝีพายใช้พายเดี่ยว เป็นลักษณะเดียวกันทั่วโลก และเป็นกีฬาที่มีความหมายทางด้านจิตวิญญาณตั้งแต่อดีตสืบมาจนถึงปัจจุบันยาวนานกว่า 5,000 ปีมาแล้วในสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มจากเรือขนาดเล็กที่มีฝีพาย 8 คน ที่เรียกกันว่า "Baby Dragon" เรือบางลำ ออกแบบมาให้มีฝีพายจำนวนมากถึงกว่า 100 คน รูปแบบของเรือยาวมังกรในตามมาตรฐานของสหพันธ์เรือมังกรนานาชาติในปัจจุบันคือมีฝีพาย 20 คน มือกลองให้จังหวะ 1 คน และผู้นำพายหรือหางเสือ 1 คน รวมทั้งสิ้น 22 คน ประเพณีการแข่งเรือมังกรในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีประวัติศาสตร์เก่าแก่ถึงสองพันปี และกลายเป็นการแข่งขันนานาชาติประจำปีในฮ่องกงเมื่อพุทธศักราช 2519 เรือยาวมังกรที่เข้าร่วมการแข่งขันจะตกแต่งเรือเป็นรูปหัวและหางมังกรแบบจีน โดยชาวจีนเชื่อกันว่ามังกรนั้นเป็นเทพเจ้าในตำนานที่จะนำมาซึ่งอายุยืนยาว ความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภวาสนา และจากสัญลักษณ์ของจักรพรรดิและอำนาจอันยิ่งใหญ่ของฮ่องเต้ ตำนานมังกรของจีนได้ซึมซับเข้าไปในวิถีชีวิตของชาวจีนโบราณ และกลายมาเป็นวัฒนธรรมของชาวจีนตราบจนถึงทุกวันนี้ มังกรจีนได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ ความดีงาม และอำนาจบารมี เช่นเดียวกับในราชอาณาจักรไทย เรือมังกร เปรียบได้กับเรือคชสีห์ คือเรือที่มีหัวเรือเป็นรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีลำตัวเป็นสิงห์ มีเศียรเป็นช้าง มีพลังเทียบเท่าช้างและสิงห์รวมกัน เป็นสัตว์ที่แสดงถึงวัฒนธรรมและความเชื่อที่มีมาแต่โบราณกาล

ในประเทศไทยประชาชนมีความผูกพันกับสายน้ำ ได้มีการแข่งขันเรือยาวประเพณีสืบทอดเป็นวัฒนธรรมต่อเนื่องมายาวนานกว่า 700 ปี พัฒนาไปสู่รูปแบบของการประดับตกแต่งหัวเรือเป็นรูปสัตว์ เรือมังกร จึงเปรียบได้กับเรือคชสีห์ของไทยที่มีหัวโขนรูปสัตว์ในวรรณคดีประดับไว้ที่หัวเรือ อันสื่อความหมายทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ

สมาคมเรือพายแห่งประเทศไทย