ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จับมือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เสริมศักยภาพการเตือนภัย

21 Jan 2011

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง “ความร่วมมือทางวิชาการและการบริหารข้อมูลทรัพยากรน้ำ” ระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยในรอบ ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนับว่ามีความรุนแรงและกินพื้นที่เป็นวงกว้างหลายจังหวัด รวมทั้งได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและประเทศชาติเป็นมูลค่ามหาศาล

“ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้มีความตื่นตัวและตระหนักถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อขอรับข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์ การบริหารจัดการ และการตัดสินใจของศูนย์เตือนภัยฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์ ซึ่งนับเป็นการบูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน โดยประยุกต์ใช้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งที่เป็นตัวเลขและเป็นภาพสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ณ เวลาปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศชาติและประชาชน” นางจีราวรรณ กล่าว

ด้าน นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง คือ การประสานงานกับหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยข้อมูล ปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นกับการบริหารงานเตือนภัยพิบัติของชาติ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานราชการและ องค์กรเอกชนหลายแห่งที่มีความเชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติในแต่ละประเภทเป็นจำนวนมาก เช่น ด้านวาตภัย กรมอุตุนิยมวิทยา ด้านอุทกภัย กรมอุทกศาสตร์ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ด้านดิน-โคลนถล่ม กรมทรัพยากรธรณี เป็นต้น รวมทั้งยังมีหน่วยงานที่เฝ้าติดตามสถานการณ์และประเมินผลข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ เช่น ศูนย์ข้อมูลภัยพิบัติ สภากาชาดไทย ศูนย์เมขลา จึงอาจทำให้เกิดการสับสน อันเนื่องมาจากความซ้ำซ้อนไม่เป็นระบบและขาดมาตรฐานระดับชาติ ศูนย์เตือนภัยฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายภารกิจในการเตือนภัยของชาติ จึงจำเป็นต้องดำเนินการบูรณาการข้อมูลเตือนภัยดังกล่าว รวมทั้งวิเคราะห์ วิจัยปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการเตือนภัยพิบัติ แห่งชาติให้สำเร็จ

“ปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมทั่วทั้งประเทศ เพื่อประโยชน์ในการแจ้งเตือนภัย การบรรเทาและการลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินต่างๆ ของประชาชน แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นลุ่มน้ำของประเทศมีความหลากหลาย ทำให้การบริหารจัดการน้ำต้องใช้ข้อมูลที่มีความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารไม่สามารถเห็นภาพสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ณ เวลาที่เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้เต็มที่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยใช้ระบบจัดการฐานข้อมูลที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้สามารถวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ติดตามเฝ้าระวัง และ แจ้งเตือนสถานการณ์ที่ปรากฏได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ตลอดจนทำให้สามารถสื่อสารกับประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ ณ ขณะนั้นได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังทำให้สามารถใช้เป็นข้อมูลในการป้องกันหรือลดความเสียหายจากอุทกภัยได้ทันท่วงที อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์เตือนภัยฯ ให้ทันสมัยเหมาะสมกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงฯ ในด้านระบบการประมวลผลเพื่อการแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีขีดความสามารถสูง ด้านระบบฐานข้อมูลภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีคุณภาพถูกต้อง ทันต่อเหตุการณ์ และด้านกระบวนการควบคุมสั่งการในภาวะวิกฤตและการแจ้งเตือนภัย” นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ กล่าว

จากเหตุผลดังกล่าว ศูนย์เตือนภัยฯ จึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบจัดการฐานข้อมูลที่จะเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการบริหารข้อมูลทรัพยากรน้ำระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ แผนที่ ภาพถ่ายจากดาวเทียม และส่วนที่ได้พัฒนาต่อเนื่อง สำหรับการเตือนภัยและลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งเพื่อสนับสนุน และร่วมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รวมถึงแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลกอันอาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตทรัพย์สินของประชาชน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนการจัดทำระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัด และระดับชุมชนในส่วนของการแจ้งและเตือนภัย ตลอดจนเพื่อร่วมพัฒนาบุคลากร และระบบการแจ้งเตือนภัย ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้การดำเนินงานของศูนย์เตือนภัยฯ สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ประสงค์ให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นศูนย์ข้อมูลกลางด้านการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ และให้บริการระบบสื่อสารข้อมูลข่าวสารในการแจ้งเตือนภัยแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เกี่ยวข้องอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศโดยรวมต่อไป” นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ กล่าว ?

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT