กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--สสวท.
หน้าหนาวนี้ ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จากภูมิภาคต่าง ๆ กว่า 2,000 คน ร่วมใจเดินทางขึ้นเหนือ สู่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย เพื่อร่วมงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน ครั้งที่ 20 (วทร. 20) ในหัวข้อ “พัฒนาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในโรงเรียน อย่างยั่งยืน : ประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน” ซึ่งจัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อวันที่ 11-13 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา
งานนี้จัดขึ้นเพื่อให้ครูอาจารย์ผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ได้นำเสนอผลงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรม ได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะทางวิชาการด้วยการฟังบรรยาย และประชุมปฏิบัติการ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนแนวความคิดและประสบการณ์ ซึ่งอาจนำไปประยุกต์ในการพัฒนางานและพัฒนาตนเอง
นับว่าเป็นเวทีใหญ่ ให้ครู ได้มาร่วมกันเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ได้เข้าลงทะเบียนเรียน ได้ตามใจชอบ เพื่อ “ชาร์ตแบต” เติมไฟในการสอนกันอีกครั้ง หลังจากนั้นจะได้
นำความรู้และเทคนิคที่ได้ กลับไปสอนต่อได้อย่างอุ่นใจ และมั่นใจมากขึ้นภายในงานมีกิจกรรมการบรรยาย และเสวนาทางวิชาการจากนักวิชาการชั้นนำ ที่น่าสนใจหลากหลายหัวข้อ เช่น บรรยายพิเศษ เรื่อง เรียนวิทยาศาสตร์เพื่อการปฏิบัติ , TV is Eating Children’s Brain , การประเมินผลวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์นานาชาติในโรงเรียน, มาตรฐานครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของไทย เสวนาวิชาการ เรื่อง พัฒนาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนอย่างยั่งยืน ประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยผู้ร่วมเสวนา เป็นนักการศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศไทย เสวนาวิชาการ เรื่องครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์มืออาชีพ จัดการเรียนการสอนอย่างไรในทศวรรษที่ 21
บรรยายวิชาการ เรื่อง สอนคณิตศาสตร์อย่างไรให้สนุก เทคนิคการสอนเคมีให้สนุก การส่งเสริมเรียนรู้สาระการออกแบบและเทคโนโลยีด้วยกิจกรรมรูปแบบโครงงาน วิทยาศาสตร์ใกล้ตัว ใช้คำถามอย่างไรให้เด็กคิด : รูปแบบคำถามและเทคนิค การกระตุ้นการเรียนโดยการแข่งขัน ฯลฯ
นอกจากนั้นกิจกรรมเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ กิจกรรมปฏิบัติการทางวิชาการ (Workshop) คลีนิกวิชาการจากครูผู้มากด้วยประสบการณ์ที่จะมาช่วยเสนอแนะแนวทางพัฒนาการสอน และการทำงานวิจัยต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งผู้จัดตั้งใจเตรียมนำเสนออย่างเต็มที่ แถมยังมีของแจกแถม ติดไม้ติดมือให้ครูนำไปใช้ต่อที่โรงเรียนได้ด้วย จากการที่ได้พูดคุยกับคุณครูหลายคนเล่าว่า เมื่อได้เดินเข้าไปในนิทรรศการแล้วเหมือนมีมนต์สะกดให้อยู่ในนั้นนาน ๆ เพราะมี สิ่งที่น่าสนใจให้เรียนรู้เต็มไปหมด
โดยงานนี้ สสวท. ยกขบวนนักวิชาการและทีมงานคณะต่าง ๆ มาร่วมจัดงานแทบจะหมดสถาบันเลยทีเดียว ซึ่งนับว่ากิจกรรมต่าง ๆ จัดขึ้น ล้วนแต่เปิดโอกาสให้คุณครูได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ ตามแต่ความสนใจและสายการปฏิบัติงาน ซึ่งมีประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาวิชาชีพครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทั้งนั้น
คุณครูนิกร สีกวนชา โรงเรียนหนองโพธิ์ประชานุกูล อ.พระยืน จ.ขอนแก่น เดินทางจากอีสาน ไปเข้าร่วมนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ และรับฟังการนำเสนอผลงานทั้งแบบบรรยาย และแบบโปสเตอร์ ร่วมเสวนาประชุมครูโครงการ สควค. ถึงปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ จากเพื่อนครู เล่าว่า สิ่งที่ประทับใจการจัดงานครั้งนี้คือการได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ มีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีมาก ได้พบปะเพื่อนครู ได้สร้างเครือข่ายสังคมแห่งการเรียนรู้ ประโยชน์ที่ได้คือได้ประสบการณ์ มุมมอง และแนวทางใหม่ๆหลากหลายที่สามารถนำมาปรับใช้ในการวิจัยเป็นอย่างดี
คุณครูเกษม คงช่วย โรงเรียนโสตศึกษา จ.นครศรีธรรมราช บอกว่ามาร่วมงาน วทร. 20 นี้ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับแนวคิดในการทำวิจัย และจะกลับไปทำเหมือนคุณครูที่มานำเสนอในคลีนิกวิชาการบ้าง
คุณครูกัญญารัตน์ โคจร จาก ศูนย์วิทยาศาสตร์ศึกษา มศว. ตั้งใจมาร่วมงานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งได้นำผลงานของตัวเองมานำเสนอแบบบรรยาย และได้เข้ารับชมการนำเสนอผลงานทั้งแบบบรรยาย และแบบโปสเตอร์ เข้า work shop ฟังการบรรยายทางวิชาการ และการเสวนา“การจัดงานครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกได้ตามความสนใจ และเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีมาก ได้ประสบการณ์ มุมมอง และแนวทาง ใหม่ ๆ หลากหลายที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ และได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับการจัดการเรียนสอนวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน”
คุณครูศิริชัย ศรีหาตา โรงเรียนท่าคันโทวิทยาคาร จ.กาฬสินธุ์ มีความคิดเห็นสอดคล้องกับคุณครูท่านอื่น ๆ คือ งานนี้ทำให้ได้มุมมอง โลกทัศน์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ จากการร่วมฟังเสวนาวิชาการ ได้แนวทางตัวอย่างงานวิจัยในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์จากการชมผลงานแบบโปสเตอร์
คุณครูบุษกร การอรชัย โรงเรียน สุราษฎร์ธานี ๒ จ. สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนองานวิจัยในชั้นเรียนแบบโปสเตอร์ เล่าถึงสิ่งที่ประทับใจจากการเข้าร่วมงานนี้ คือ รูปแบบการเรียนรู้ในนิทรรศการต่าง ๆ งานวิจัยในชั้นเรียนที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ สถานที่จัดงาน และการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูจากหลาย ๆ โรงเรียน ประโยชน์ที่ได้ คือ ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายและน่าสนใจ การประดิษฐ์อุปกรณ์การทดลองอย่างง่ายเพื่อนำมาใช้สอนนักเรียนในห้องเรียน
คุณครูอรญา อัญโย โรงเรียนดีบุกพังงาวิทยายน จ.พังงา บอกว่า งานนี้มีหัวข้อในการอบรมเชิงปฏิบัติการหลากหลายดี ประโยชน์ที่ได้คือ ได้แนวคิดในการทำวิจัย การปรับปรุงแนวทางการสอนการสร้างสื่อ การออกข้อสอบ และความรักในวิชาชีพครู
งาน วทร. จัดขึ้นทุก 2 ปี โดยครั้งต่อไป สสวท. จะจัดงาน วทร. 21 ร่วมกับสมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ฯ ในปี พ.ศ. 2555 โปรดติดตามข้อมูลได้ในเว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th กันต่อไป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit