สมาคมโรคอัลไซเมอร์เผยผลวิจัยใหม่ๆ จากการประชุมนานาชาติว่าด้วยโรคอัลไซเมอร์ประจำปีพ.ศ. 2553

15 Jul 2010

ฮอนโนลูลู--15 ก.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์


นักวิทยาศาสตร์เกือบ 4,000 คนจากทั่วโลกได้มารวมตัวกันในสัปดาห์นี้ เพื่อรายงานและหารือกันเกี่ยวกับความก้าวหน้าล่าสุดในการวิจัยและรักษา ปัจจัยเสี่ยง และการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นวิกฤตสุขภาพของศตวรรษที่ 21 ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยโรคอัลไซเมอร์ประจำปีพ.ศ. 2553 ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Association's 2010 International Conference on Alzheimer's Disease: AAICAD 2010) ซึ่งจัดขึ้นที่โฮโนลูลู

“ปัจจุบันประชากรจำนวนมากที่เกิดในยุค baby boom กำลังกลายเป็นผู้สูงวัย ดังนั้นวิกฤตโรคอัลไซเมอร์จึงส่งผลกระทบต่อประชากรมากกว่าปกติ และทำให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณด้านสาธารณสุขเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะในโครงการ Medicare และ Medicaid” นายแพทย์วิลเลียม ธีส หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าว

“ในสัปดาห์นี้เราได้เห็นการวิจัยอันหลากหลายที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการวินิจฉัยและรักษาโรคอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ รวมถึงการลงทุนในโครงการวิจัยที่ต่ำเกินไป ยังคงเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม” นายแพทย์ธีส กล่าว

“ในทุกๆ วัน นักวิจัยแต่ละคนคนต่างไปทำงานด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคที่พบมากในประชากรที่เกิดในยุค baby boom เราต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้ด้วยการสนับสนุนเงินทุนสำหรับการวิจัย ซึ่งจะทำให้เราสามารถคิดค้นวิธีวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคได้ดียิ่งขึ้น” นายแพทย์ธีส กล่าว


สาระสำคัญของการประชุม AAICAD 2010 ประกอบด้วย

- สมาคมโรคอัลไซเมอร์ประกาศเปิดตัว TrialMatch(TM) ซึ่งเป็นบริการแรกที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทดลองทางคลินิกสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ต้องการเข้าร่วมการทดลอง ซึ่งให้บริการฟรีและเป็นความลับผ่านทางเว็บไซต์ www.alz.org/trialmatch หรือหมายเลขโทรศัพท์ 800-272-3900 บริการนี้ช่วยให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ แพทย์ ผู้ดูแล และอาสาสมัครด้านสาธารณสุข สามารถค้นหาผลการทดลองทางคลินิกที่พวกเขามีสิทธิเข้าร่วมได้

- โครงการทดลองโรคสมองเสื่อม (Dementia Demonstration Project: DDP) โดยการนำของศูนย์วิจัยและศึกษาโรคผู้สูงอายุแห่งโรงพยาบาลทหารผ่านศึกมินนีอาโพลิส (Minneapolis Veterans Medical Center) ค้นพบว่า การตรวจพบ วินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมอย่างอ่อนและโรคสมองเสื่อมอย่างทันท่วงที จะช่วยลดต้นทุนการรักษาผู้ป่วยนอกได้เกือบ 30% โดยทหารผ่านศึกที่เข้าร่วมการทดลองในโครงการดังกล่าว มีต้นทุนการรักษาลดลงโดยเฉลี่ย 1,991 ดอลลาร์ในปีที่ได้รับการวินิจฉัยโรคเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ได้รับการวินิจฉัยโรค ในโครงการ DDP ทีมผู้ดูแลจะพบกับผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อพิจารณาผลการรักษา พูดคุย วินิจฉัย และร่างแนวทางการรักษาที่เหมาะสม และหากมีความจำเป็นก็จะมีการให้ข้อมูลและความช่วยเหลือในการจัดหาบริการที่จำเป็น รวมถึงการฝึกอบรมและให้ความช่วยเหลือโดยตรงจากสมาชิกทีมผู้ดูแล

- หลักฐานจากโครงการศึกษาขนาดใหญ่ในระยะยาว (โครงการ Framingham Study, Cardiovascular Health Study, NHANES III) สนับสนุนว่ากิจกรรมทางกายภาพและอาหารบางอย่าง (ชา หรือ วิตามินดี) ช่วยกระตุ้นหน่วยความจำและลดความเสี่ยงการเกิดโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ นอกจากนั้นผลการศึกษาล่าสุดในสัตว์ซึ่งได้รับการเปิดเผยในที่ประชุม AAICAD 2010 ยังแสดงให้เห็นว่าอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างผลวอลนัทอาจช่วยในการทำงานของระบบสมอง ขณะเดียวกันผลวิจัยยังชี้ให้เห็นว่ามีปัจจัยบางอย่างที่อาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อม รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจได้ สมาคมโรคอัลไซเมอร์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เรียกร้องให้มีโครงการวิจัยที่ใหญ่กว่าเดิมและมีระยะเวลายาวนานกว่าเดิม เพื่อที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าปัจจัยเหล่านี้มีบทบาทมีต่อสุขภาพสมองของผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ผลการศึกษาจากการประชุม AAICAD 2010 เป็นหนึ่งในผลการศึกษาในช่วงแรกๆ เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังไม่ใช่หลักฐานที่แน่นอน

- นักวิทยาศาสตร์จากที่ประชุม AAICAD 2010 นำเสนอร่างรายงานฉบับแรกจากคณะทำงาน 3 กลุ่ม ซึ่งครอบคลุมถึงโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อมอย่างอ่อนเนื่องจากโรคอัลไซเมอร์ และการทดสอบทางคลินิกของโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งจัดทำโดยสถาบันสูงวัยแห่งชาติ (National Institute on Aging: NIA) และสมาคมโรคอัลไซเมอร์ เพื่ออัพเดทเกณฑ์การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ซึ่งการเสนอเกณฑ์การวินิจฉัยใหม่จะช่วยให้สามารถประเมินระยะต่างๆ ของโรคได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมีการผนวกตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคอัลไซเมอร์เข้าไว้ด้วยกัน บทบาทของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพจะแตกต่างกันไปใน 3 ระยะของโรค และยังต้องมีการศึกษาอีกมากถึงความน่าเชื่อถือและความเที่ยงตรงของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในการใช้วินิจฉัยโรค ดังนั้นเกณฑ์การวินิจฉัยใหม่ๆ ที่ได้รับการเสนอขึ้นมานั้น ต้องถูกทดสอบอย่างละเอียด และเกณฑ์การวินิจฉัยที่เพิ่มเติมมาจะได้รับการเผยแพร่โดยสถาบันสูงวัยแห่งชาติและสมาคมโรคอัลไซเมอร์ผ่านทาง www.alz.org/research/diagnostic_criteria ทันทีที่มี

การประกาศในการประชุม AAICAD

- ในเบื้องต้นนั้น มาเป้าหมายการรักษาหลักของโรคอัลไซเมอร์คือสารเบต้าอไมลอยด์เปปไทด์ (beta amyloid peptide) ซึ่งจับตัวกันนอกเซลล์สมองจนเป็นก้อนเหนียวที่เรียกว่าพลัค แต่เมื่อไม่นานมานี้หลายคนเริ่มหันไปให้ความสนใจกับโปรตีนเทา (tau protein) ซึ่งพบว่าจับตัวกันในเซลล์สมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จนก่อให้เกิดกลุ่มใยประสาทพันกัน (Neurofibrillary tangles) โดยการวิจัยขั้นต้น 4 ครั้งซึ่งได้รับการนำเสนอในการประชุม AAICAD 2010 ได้อธิบายถึงการใช้ภูมิคุ้มกันของร่างกายรักษาโรคอัลไซเมอร์ โดยการวิจัย 2 ครั้งพุ่งเป้าไปที่โปรตีนเทาโดยตรง ขณะที่การวิจัยอีก 2 ครั้งก็มีการลดโปรตีนเทาแม้ว่าเป้าหมายหลักของการวิจัยจะเป็นเบต้าอไมลอยด์ก็ตาม ที่สำคัญการวิจัยเหล่านี้ไม่เพียงสอนให้เรารู้เรื่องการรักษาโดยมุ่งเป้าไปที่โปรตีนเทาเท่านั้น แต่ยังสอนให้เรารู้ถึงการพัฒนาของโรคอัลไซเมอร์ด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงของอไมลอยด์ในสมองเกิดขึ้นในช่วงต้นของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ส่วนการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนเทาเกิดขึ้นตามมาทีหลังและมีผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการจดจำมากกว่า ดังนั้นการใช้ภูมิคุ้มกันรักษาที่อไมลอยด์โดยตรงอาจยับยั้งกระบวนการทำลายเซลล์ประสาทในสมองซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังของการเป็นโรคได้ อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานนี้ยังต้องได้รับการพิสูจน์ต่อไป

- ผลการทดลองครั้งหนึ่งที่ได้รับการเปิดเผยในการประชุม AAICAD 2010 ระบุว่า ยีนที่ชื่อ FTO ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโรคอ้วนในคน อาจเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม ส่วนผู้ที่มีทั้งยีน FTO และยีน APOE ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ก่อนหน้านี้มีการค้นพบว่ายีน FTO มีผลต่อดัชนีมวลกาย (body mass index : BMI) และความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่าความเสี่ยงของการเกิดโรคเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่ากลไกที่แตกต่างกันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยีน FTO ก่อให้เกิดความเสี่ยงในระดับต่างกัน ซึ่งเราต้องรอให้นักวิจัยคนอื่นๆ ทำการพิสูจน์เพื่อยืนยันสมมติฐานนี้ต่อไป อันที่จริงแล้วเราต้องมีความรู้เรื่องยีนและสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์มากกว่านี้ เพื่อที่เราจะได้มีเป้าหมายในการรักษาและป้องกันเพิ่มขึ้นอีก

- ข้อเสนอทางวิทยาศาสตร์ในนาทีสุดท้ายของการประชุม AAICAD 2010 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ประเด็นร้อน” มีดังนี้ (1) ยีนใหม่ที่เพิ่งพบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์อาจส่งผลกระทบต่อทักษะการจดจำและความหนาแน่นของเนื้อสมอง (2) การให้อินซูลินทางจมูกอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และ (3) สารเบต้าอไมลอยด์ที่จับตัวกันในเซลล์สมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์อาจมีรูปร่างที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับยีนเสี่ยง

* การวิจัย 2 ครั้งที่ได้รับการเปิดเผยในที่ประชุม AAICAD 2010 ทำให้เราได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยีน TOMM40 ซึ่งเป็นยีนเสี่ยงสำหรับโรคอัลไซเมอร์ที่เพิ่งได้รับการยืนยัน โดยผลวิจัยพบว่าคนวัยกลางคนสุขภาพดีซึ่งมียีน TOMM40 ประเภทที่มีความเสี่ยงสูง ทำแบบทดสอบความจำได้ไม่ดีและมีความหนาแน่นของเนื้อสมองลดลง

* การทดลองทางคลินิกระยะสั้น (4 เดือน) เกี่ยวกับการให้อินซูลินทางจมูกในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอย่างอ่อน พบว่าเป็นประโยชน์ต่อการทดสอบความจำและการทำงานของสมองบางการทดสอบ สำหรับผู้ที่ทำแบบทดสอบความจำได้ดีขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคอัลไซเมอร์อย่างน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลัง ทั้งนี้ การทดลองขนาดใหญ่ในระยะยาวจะมีขึ้นต่อไปในอนาคต

* กลุ่มนักวิจัยที่ใช้เครื่องมือแสดงภาพ (imaging tool) แบบใหม่เปิดเผยว่าสารเบต้าอไมลอยด์ที่จับตัวกันในสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีรูปร่างแตกต่างกันไปตามชนิดของยีน APOE ที่ผู้ป่วยแต่ละคนมี สิ่งที่ค้นพบอาจมีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะจากการทดลองพบว่ายารักษาโรคอัลไซเมอร์บางอย่างใช้ได้ดีกับผู้ป่วยทีมียีน APOE ชนิดหนึ่ง แต่ไม่ค่อยได้ผลหรือไม่ได้ผลเลยกับผู้ป่วยที่มียีน APOE ชนิดอื่น

- การวิจัยครั้งใหม่ 2 ครั้งจากที่ประชุม AAICAD 2010 เปิดเผยว่าการเป็นโรคอัลไซเมอร์อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจทำให้ขาดสมรรถภาพ เช่นอาการชักหรือโลหิตจาง คณะนักวิจัยจากการวิจัยหนึ่งพบว่าอัตราการชักต่อ 1,000 คนต่อปี ในการศึกษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจำนวน 14,838 คน รวมถึงการศึกษาสุ่มอายุและเพศในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคอัลไซเมอร์จำนวน 14,838 คน พบว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีอาการลมชัก 9.1 ต่อ 1.4 ในกลุ่มผู้ที่ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ขณะที่อัตราอุบัติการณ์ของโรค (incidence rate) ก็สูงกว่าถึง 6.4 เท่า ส่วนการศึกษาที่สองในผู้สูงอายุ 1,112 คน (768 คนสุขภาพดี, 133 คนเป็นโรคสมองเสื่อมอย่างอ่อน, 211 คนเป็นโรคอัลไซเมอร์) พบว่าผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น (odds ratio: 2.56) ส่วนคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคโลหิตจางมากขึ้นเช่นกัน (odds ratio: 2.61) ซึ่งหากโรคอัลไซเมอร์สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคที่ทำให้ขาดสมรรถภาพได้เช่นนี้ ผลกระทบจากโรคอัลไซเมอร์ก็อาจมีผลกระทบรุนแรงมากกว่าที่เราคิด เนื่องจากประชากรสูงวัยกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก ขณะที่หลายประเทศก็ใช้ชีวิตแบบตะวันตกมากขึ้น

- ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์เป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่มีการขยายตัวเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยผลการวิจัยใหม่ซึ่งได้รับการนำเสนอในที่ประชุม AAICAD 2010 บ่งชี้ว่าผู้สูงวัยชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และผู้สูงวัยชาวลาตินที่มีปัญหาด้านการจดจำมีอัตราการได้รับการดูแลรักษาและการรอดชีวิตต่ำกว่าผู้สูงอายุผิวขาว ผลการศึกษานี้เป็นนัยสำคัญที่บ่งชี้ว่าประชากรกลุ่มนี้ต้องการการดูแลรักษาและควรได้รับบริการชุมชนมากกว่าที่เราประเมินไว้

* ผลการศึกษานี้ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และชาวลาตินมีแนวโน้มเป็นโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนผิวขาวถึง 2 เท่าและ 1 - 1.5 เท่าตามลำดับ จากรายงาน 2010 Alzheimer's Disease Facts and Figures ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์

* อีกรายงานหนึ่งที่ได้รับการเปิดเผยในที่ประชุม AAICAD 2010 ระบุว่าความเศร้าเสียใจของญาติพี่น้องหลังผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เสียชีวิตจะมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและกลุ่มชาติพันธุ์

* การวิจัยที่ 3 ระบุว่าวัฒนธรรมและความเชื่อทางจิตวิญญาณของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ชาวอเมริกันอินเดียน และคนผิวขาว มีอิทธิพลอย่างมากต่อระยะเวลาก่อนที่ครอบครัวจะตัดสินใจให้แพทย์วินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์


เกี่ยวกับ AAICAD

การประชุมนานาชาติว่าด้วยโรคอัลไซเมอร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAICAD) เป็นการประชุมโรคอัลไซเมอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อรายงานและพูดคุยเรื่องการวิจัยและข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับสาเหตุ การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรคอัลไซเมอร์รวมถึงอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ AAICAD ทำหน้าที่เปรียบเสมือนตัวเร่งให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง


เกี่ยวกับ สมาคมโรคอัลไซเมอร์

สมาคมโรคอัลไซเมอร์เป็นองค์กรอาสาสมัครด้านสุขภาพชั้นนำของโลกซึ่งสนับสนุนการดูแลรักษาและวิจัยโรคอัลไซเมอร์ จุดมุ่งหมายหลักของเราคือการกำจัดโรคอัลไซเมอร์ด้วยการวิจัยที่ทันสมัย รวมถึงการดูแลและสนับสนุนทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากโรค และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมผ่านการส่งเสริมสุขภาพสมอง เรามุ่งหวังที่จะเห็นโลกที่ปราศจากโรคอัลไซเมอร์ ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.alz.org หรือโทรศัพท์มาที่หมายเลข 1-800-272-3900


แหล่งข่าว: สมาคมโรคอัลไซเมอร์


ติดต่อ:

สายด่วนสำหรับสื่อของสมาคมโรคอัลไซเมอร์

โทร: +1-312-335-4078

อีเมล: [email protected]

หรือ


ห้องข่าวของการประชุมนานาชาติว่าด้วยโรคอัลไซเมอร์

โทร: +1-808-792-6523

ระหว่างวันที่ 10 - 15 กรกฎาคม 2553 เท่านั้น


--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --