ราชบุรีโฮลดิ้ง ประกาศผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก กำไรสุทธิ 2,982 ล้านบาท

30 Jul 2010

กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง

  • เดินหน้าลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทน ด้วยการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 60 ในบริษัทยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 3 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องได้ภายในตุลาคมปีนี้ และเตรียมขยายการลงทุนเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ และขยายโครงการพลังงานลมเพิ่มอีก 50 เมกะวัตต์ในปลายปีนี้
  • เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 10 โครงการ กำลังผลิตรวมประมาณ 2,000 เมกะวัตต์

บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) แถลงผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2553 ฉบับก่อนสอบทานโดยผู้สอบบัญชี บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 22,880.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 5,291.58 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าและส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนหลักเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่บริษัทฯ ได้รับรายได้ค่าความพร้อมจ่ายลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทฯ มีจำนวน 2,982.20 ล้านบาท (กำไรต่อหุ้น 2.06 บาท) ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า 23.53% โดยผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ฉบับก่อนสอบทาน บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,524.92 ล้านบาท (กำไรต่อหุ้น 1.05 บาท) ลดลงจากปีก่อนหน้า 25.85%

นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กล่าวว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2553 บริษัทฯ มีความคืบหน้าในการพัฒนาและขยายการลงทุนทั้งโครงการขนาดใหญ่และโครงการพลังงานทดแทนเป็นที่น่าพอใจ โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา ซึ่งบริษัทฯ ร่วมถือหุ้น 40% ในบริษัท ไฟฟ้า หงสา จำกัด มีความก้าวหน้าในการจัดหาเงินกู้เพื่อนำมาใช้สำหรับการพัฒนาโครงการเป็นอย่างมาก และคาดว่าจะสรุปผลได้ ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้าลงทุนซื้อหุ้น 60% ของบริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 3 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคมนี้ และถือเป็นโครงการนำร่องที่จะขยายต่อเนื่องอีกประมาณ 30 เมกะวัตต์ในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาส 2 ประจำปี 2553 ฉบับก่อนสอบทาน มีกำไรสุทธิ 1,524.92 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าจำนวน 531.66 ล้านบาท หรือลดลง 25.85% โดยมีรายได้รวม 12,521.54 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการขายและการให้บริการเดินเครื่องจำนวน 11,999.84 ล้านบาท รายได้ค่าบริการการจัดการจำนวน 33.06 ล้านบาท ดอกเบี้ยและรายได้อื่นๆ รวม 80.84 ล้านบาท

นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกันอีกจำนวน 407.80 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวมสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 2,868.66 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น 61.77% เพราะโรงไฟฟ้าราชบุรีมีการหยุดเดินเครื่องตามความต้องการของระบบ (Reserve Shutdown) และหยุดเดินเครื่องเพื่อบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รายได้ค่าความพร้อมจ่ายในไตรมาสนี้ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 319.30 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามอัตราค่าความพร้อมจ่ายที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ด้านส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกันในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ มีจำนวน 407.80 ล้านบาท ลดลงจำนวน 198.38 ล้านบาท คิดเป็น 32.73% สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลงจาก งวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 222.33 ล้านบาท

ส่วนต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาสนี้ มีจำนวน 10,996.62 ล้านบาท ประกอบด้วย ต้นทุนขายจำนวน 10,174.58 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ จำนวน 220.79 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ยจ่าย) มีจำนวน 164.74 ล้านบาท ลดลงจาก ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 (227.03 ล้านบาท) จำนวน 62.29 ล้านบาท หรือ 27.44% จากการชำระคืนเงินต้นทุกไตรมาส รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาษีเงินได้ จำนวน 436.51 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน (291.40 ล้านบาท) จำนวน 145.11 ล้านบาท เป็นผลจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรีทั้ง 3 ชุด ได้ครบกำหนดการยกเว้นภาษีเงินได้จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และเริ่มเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2553

สำหรับในครึ่งปีหลังนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 ใน สปป.ลาว กำลังผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ สามารถ กักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำถึงระดับ 326 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล หรือคิดเป็นปริมาณน้ำ 1,234 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีกำหนดทดสอบเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน คาดว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม ศกนี้ นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ใน สปป.ลาว กำลังผลิตติดตั้ง 390 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ลงนามบันทึกความเข้าใจราคารับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในเร็ววันนี้ หลังจากที่โครงการฯ ได้รับมติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแล้ว ส่วนการลงทุนโครงการในต่างประเทศ ขณะนี้การเจรจามีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก คาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ภายในปีนี้

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไทรเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ ได้ลงทุนผ่าน บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด มีมูลค่าโครงการ 356 ล้านบาท ขณะนี้โครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยโครงการนี้จะสามารถสร้างรายได้แก่บริษัทฯ ได้ทันทีที่เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในเดือนตุลาคม ศกนี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะนำไปสู่การขยายการลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคตได้อีกประมาณ 30 เมกะวัตต์ ขณะที่โครงการพลังงานลมจะขยายการลงทุนได้อีกประมาณ 50 เมกะวัตต์

“บริษัทฯ ยังคงเดินหน้ามองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความเติบโตทั้งด้านกำลังผลิตติดตั้งและผลกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยเรามีโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ทั้งในและต่างประเทศกว่า 10 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการพลังงานทดแทนในประเทศไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์” นายนพพล กล่าวในท้ายที่สุด

ข้อมูลบริษัท

บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2543 ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานทดแทน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการที่ดำเนินการแล้วจำนวน 4 โครงการ มีผลิตติดตั้งรวมประมาณ 4,347 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 4 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวมประมาณ 1,111 เมกะวัตต์ และโครงการขนาดเล็กและพลังงานทดแทน 3 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งประมาณ 22 เมกะวัตต์ หากรวมกำลังการผลิตติดตั้งของ ทุกโครงการทั้งที่ดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนาที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทจะมีกำลังผลิตติดตั้งรวมประมาณ 5,480 เมกะวัตต์

โครงการที่ดำเนินการแล้ว ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าราชบุรี กำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น (99.99%) 3,645 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ กำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น (50%) 350 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ กำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น (25%) 350 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 3 โครงการตั้งอยู่ในจังหวัดราชบุรี และโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่า กำลังผลิตติดตั้ง 1.75 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่บริษัทได้ลงทุนและอยู่ระหว่างการพัฒนาใน สปป. ลาว 4 โครงการ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำ - น้ำงึม 2 กำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น (25%) 153.75 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าหงสา กำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น (40%) 751เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ – น้ำงึม 3 กำลังผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น (25%) ประมาณ 110 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น (25%) 93 เมกะวัตต์

โครงการขนาดเล็กและพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังลมเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ กำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้น (30%) 18 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่า กำลังผลิตติดตั้ง 2.63 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ไทรเสนา 1.8 เมกะวัตต์

หรือสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ratch.co.th

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)วิวรรณ พยัฆวิเชียร หรือ คณุตม์ บุญหนูกลับ โทร. 0 2794 9941-3 อีเมล์ : [email protected]