กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--สวทช.
บ. เว็ลธ์ แมนเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จก. เจ้าของรางวัลเจ้าฟ้าไอทีฯ ปีแรก ผู้ผลิต “ซอฟต์แวร์โบนันซ่า” ที่ตอบสนองการทำงานอย่างครบวงจรในแวดวงการเงินไทย เผยความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการทำ “มาตรฐานซอฟต์แวร์” ผ่าน CMMI Level 3 ร่วมกับ iTAP - ซอฟต์แวร์พาร์ค ซึ่งช่วยการพัฒนาคุณภาพการทำงาน จึงช่วยลด ”ของเสีย” จากการผลิตซอฟต์แวร์ และมองว่า บ.ซอฟต์แวร์ไทยจะแข่งกับต่างชาติได้ ต้องมีมาตรฐานระดับสากล พร้อมปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ชี้แนวคิดนี้เป็นส่วนสำคัญที่สร้าง “เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม” ให้เป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเหนือคู่แข่งจากต่างประเทศ และผงาดในวงการซอฟต์แวร์บริหารการเงินการลงทุนได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
บริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด ( Wealth Management System Limited : WMSL ) ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้บริหารการจัดการลงทุน การบริหารเงิน และเทคโนโลยีสารสนเทศ จากธนาคารซิตี้แบงก์ และบริษัท เชลล์ มุ่งวิจัย และพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เฉพาะทางด้านบริหารการเงิน การลงทุน (Treasury and Asset Management) ให้คำปรึกษา และพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ให้กับสถาบันการเงินชั้นนำทั้งไทย และต่างประเทศ
ที่ผ่านมา เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม ได้พิสูจน์บทบาทขององค์กรแล้วว่า เป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพ จนกลายเป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในแวดวงการเงินของไทย และได้รับรางวัลการันตีคุณภาพมากมาย อาทิ รางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดของวงการไอทีไทย รางวัลชนะเลิศ “เจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ในปี 2548 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก โดยมูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งยังชนะเลิศการประกวดผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิ ชนะเลิศ Thailand ICT Award ทุกครั้งที่เข้าแข่งขัน , รางวัล Hall of Fame ซึ่งมอบให้กับบริษัทชั้นนำด้านการผลิตซอฟต์แวร์ ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างคุณูปการให้แก่สังคม และเป็นบริษัทเดียวในกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์ที่ได้รับรางวัลสุดยอด SME รวมถึงได้รับการบันทึกชื่อให้เป็นหนึ่งในบริษัท Success story Newsletter ของ Microsoft Y2005 และ Intel Y2009 และ Local Hero โดย IDC (USA)
นาย สมเกียรติ ชินธรรมมิตร์ CEO แห่ง เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม เผยถึงความสำเร็จของบริษัท ว่า เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2538 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
“อดีตมองว่า ตลาดซอฟต์แวร์ยังโตได้อีกมาก หากเทียบกับ Market Capitalization (มูลค่าราคาตลาดหุ้นทุน ) ของกลุ่มหุ้นซอฟต์แวร์และกลุ่มหุ้นแบงค์ต่างประเทศ กลุ่มหุ้นซอฟต์แวร์ไทยมีสัดส่วนเล็กมาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ธุรกิจซอฟต์แวร์ไม่เคยตก แม้ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ทั้งมั่นใจว่าธุรกิจซอฟต์แวร์ยังไปได้อีกไกล หากสามารถหา Business Model ที่เหมาะสมและชัดเจน”
เมื่อได้มาทำธุรกิจด้านนี้ จึงแน่ใจว่าต้องทำได้สำเร็จ และมองสาเหตุของธุรกิจซอฟต์แวร์ในประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จว่า “ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานแบบ Turn Key เป็นหลัก คือ การรับจ้างผลิตเพียงอย่างเดียว ให้เขียนโปรแกรมอะไรก็ทำให้ ซึ่ง Business Model แบบ Turn Key นี้อันตราย เพราะการเรียกร้องของลูกค้ามักไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งเป็นบริษัทเล็กแต่อยากได้ลูกค้ารายใหญ่ เวลาต่อรองสัญญาจะเสียเปรียบตั้งแต่ต้น ลูกค้าสามารถเปลี่ยน Requirement ได้จนนาทีสุดท้าย หากไม่ทำอาจไม่ตรวจรับ และโดนแบลคลิสไปด้วย” ดังนั้น แนวทางการทำงานของ เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จึงแตกต่าง
“ เราเริ่มต้นด้วยการรวมกลุ่มคนที่มีความสามารถทั้งทางด้านไอที และนักการเงิน พัฒนาซอฟต์แวร์เป็นแพคเกจสำเร็จรูปชื่อว่า “ Bonanza : โบนันซ่า ” ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ด้านบริหารการเงิน การลงทุน และความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน ปัจจุบันมีองค์กรสำคัญๆ ได้นำซอฟต์แวร์นี้ไปใช้บริหารการเงิน และการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทจัดการลงทุน และสถาบันการเงินชั้นนำทั้งไทย และต่างประเทศ ”
จุดเด่นของโบนันซ่า คือ การออกแบบครั้งแรกที่ทำได้ดีกว่าคู่แข่ง เพราะได้รวมการทำงานทั้งระบบการลงทุน การตรวจสอบ การบริหารความเสี่ยง และการลงบัญชี ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีซอฟต์แวร์รายใดเลยที่รวมระบบงาน FRONT /MIDDLE / BACK OFFICE ไว้ในระบบงาน PC แต่เราเชื่อมโยงความสำคัญสามส่วนนี้ไว้ด้วยกัน จึงสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเหนือคู่แข่งต่างชาติ และมองว่าซอฟต์แวร์ทางการเงินที่ดีไม่ได้หมายความว่า สามารถคำนวณได้แม่นยำเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง ต้องมีกระบวนการทางธุรกิจ( Business Process) ที่ดีกว่า
แม้จะประสบความสำเร็จแต่ เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม ยังคงมุ่งพัฒนาแนวทางการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมองไกลไปสู่การทำ “มาตรฐานซอฟต์แวร์” เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร
CEO เว็ลธ์ฯ กล่าวว่า การผลิตซอฟต์แวร์มักจะมีของเสียเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น จากรายงานวิจัยของ IBM พบว่า การผลิตซอฟต์แวร์ 1 โปรแกรมจะสูญเสียต้นทุนราว 70-80% ในการค้นหา ป้องกัน แก้ไข BUG ดังนั้นการผลิตซอฟต์แวร์ 100 ล้านบาท บริษัทอาจต้องเสีย 70 - 80 ล้านบาทไปกับเรื่องค้นหา ป้องกัน แก้ไข ของเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไม่รู้ตัว
สมมุติว่า 1 ปีบริษัทมีต้นทุนในองค์กร เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าพัฒนาโปรแกรม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ต่างๆในองค์กร ฯลฯ ประมาณปีละ 70 ล้านบาท จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ราว 60 ล้านบาท
อย่างบ.เว็ลธ์ฯ เปิดมาแล้ว 15 ปี คูณด้วย 60 ล้านบาทเท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่บริษัทต้องจ่ายเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ไปแล้วประมาณ 900 ล้านบาท หากคิดง่ายๆ เพียง 50%คือ 450 ล้านบาทจะเป็นต้นทุนเกี่ยวกับการจัดการของเสีย (Cost of Quality) หากคิดตามรายงานวิจัยต้นทุนของเสียของ IBM จะสูงถึง 70-80% เลยทีเดียว ซึ่งเป็นเงินที่ต้องสูญเสียไปโดยแทบไม่รู้ตัว ต้นทุนของเสียนั้น มักถูกผลักไปที่ลูกค้าต้องจ่ายบ้าง จ่ายโดยโบนัสของพนักงาน และ/หรือเงินปันผลของผู้ถือหุ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญที่สุดคือ การใส่ใจในทุกกระบวนการผลิต เราต้องพบของเสียให้เร็วที่สุด เพราะต้นทุนในการแก้ไขจะสูง 5 เท่าในช่วงการออกแบบ และจะกลายเป็น 200 เท่าทันที หากพบของเสียหลังการส่งมอบโปรแกรมแล้ว ซึ่งนี่คือเป้าหมายหลักของการปรับปรุงกระบวนผลิตโดยยึด CMMI เป็นแม่แบบ “ ไม่มีอุตสาหกรรมไหนอยู่รอดได้ หากมีของเสียจากกระบวนการผลิตมาก ต้องไม่ลืมว่าต้นทุนการผลิตซอฟต์แวร์กว่า 70 – 80 % เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการป้องกัน การค้นหา และแก้ไข BUG หัวใจสำคัญคือ กระบวนการผลิตของเราต้องลด BUG หรือหาเจอ BUG และแก้ไข BUG ให้เร็วที่สุดจึงอยู่รอดได้ ”
หากพบของเสียตั้งแต่ต้น จะทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงไปได้มาก และหน้าที่ของเรา คือ การสร้างกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนของเสียน้อยสุด โดยมี 2 วิธีคือ คิดเองไปเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เสียเวลา และอีกวิธีคือ การมองหาแม่แบบที่ดีในการทำงาน (Best Practice)ซึ่งเราเชื่อว่า CMMI เป็นแม่แบบดีสุดที่จะช่วย “ลดของเสีย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มโบนัสทีมงาน”
บริษัทฯจึงเข้าร่วม โครงการการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (SPI@ease) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย(ซอฟต์แวร์พาร์ค) และโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โดยการเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อต้องการทำมาตรฐาน CMMI หรือ Capability Maturity Model Integration ที่สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (SEI) แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon) สหรัฐอเมริกาพัฒนาขึ้น และนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก อีกทั้งหากบริษัทซอฟต์แวร์ใดที่นำมาตรฐาน CMMI มาใช้จะมีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ทำให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าทางการตลาดให้สูงขึ้นตามมา
นายสมเกียรติ อธิบายเพิ่มเติมว่า “สมมุติเราบอกลูกน้องว่า บริษัทฯ ต้องมีกระบวนการทำงานที่ดี คำสั่งนี้จะไม่ชัดเจนว่าคืออะไร กว้างมาก จับต้องไม่ได้ แต่หากบอกว่าบริษัทฯ จะเข้าร่วมโครงการ SPI@ease เพื่อทำ CMMI Level 3 ภายใน 12 เดือน ทำเหมือนไปแข่งกีฬา มีการตั้งเป้าให้ได้ถ้วยมาใบหนึ่ง แบบนี้แรงต้านจะน้อยลง ความเป็นหนึ่งเดียว ความเป็นทีมก็จะมากขึ้น การเข้าร่วมโครงการนี้เหมือนมีโค้ชคอยแนะว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง ทำให้สำเร็จได้รวดเร็วชัดเจนว่า CMMI ระดับไหนต้องทำอะไร (Process Area) มี Best Practice ที่ทั่วโลกได้เรียนรู้ และยอมรับมาเพิ่มความมั่นใจ ดังนั้น เข้าร่วมโครงการ SPI@ease จึงเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จ และเป็นกุศโลบายที่ดีในการบริหารองค์กร”
CEO เว็ลธ์ฯ ยังมองความสำคัญของการมีมาตรฐาน CMMI ว่า “เหมือนทีมไทยไปแข่งบอลโลก จำเป็นต้องมีเทคนิคการเล่นที่แข็งแกร่ง เพื่อให้สู้กับทีมอื่นๆระดับโลกได้ ตลาดซอฟต์แวร์ก็เหมือนกัน เนื่องจากขณะนี้เราไม่ได้แข่งขันกับบริษัทซอฟต์แวร์ไทย ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับบริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ทั่วโลกที่แข่งด้วย” นอกจากนี้ยังวางอนาคตของการทำมาตรฐานซอฟต์แวร์ว่า ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการนี้มองไปถึง CMMI Level 5 ซึ่งปัจจุบันจำเป็นต้องมีการเตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อน เพื่อประหยัดงบประมาณ และเวลาในการผ่านการประเมิน อีกทั้งต้องได้จิตวิญญาณของ CMMI เพราะจะเป็นตัวเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรคุณภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในความเป็น Professional Best หรือความเป็นมืออาชีพที่ดีที่สุด หากถามว่าจะสร้างองค์กรให้ยั่งยืนอย่างไร ผู้บริหาร เว็ลธ์ฯ มองว่า CMMI ถือเป็นคำตอบส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีส่วนสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทเว็ลธ์ฯ “ เรามีวัฒนธรรมองค์กรแบบ Professional Best ซึ่งเป็นนิยามว่า ต้องเป็น.. ผู้รู้ คือ รู้จริงในวิชาชีพของตน ผู้ตื่น คือ ตื่นจากการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และ ผู้เบิกบาน คือ เบิกบานจากเป็นผู้ให้ และคืนกลับสู่สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายึดถือมาตลอด” แนวการทำงาน และมุมมองความคิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ บริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด ผงาดในวงการซอฟต์แวร์บริหารการเงิน การลงทุน และยืนหยัดอยู่ในแถวหน้าของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เฉพาะทางมาอย่างยาวนาน โดยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเหนือคู่แข่งต่างชาติ รวมถึงการยอมรับจากสถาบันการเงิน และบริษัทไอทีสำคัญๆของโลกอย่างน่าภาคภูมิใจ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit