มหกรรมศิลปะการแสดงพื้นบ้านชายแดนใต้

04 Aug 2010

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง

ในวันที่ ๙ – ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ นี้ โดยวันที่ ๙ – ๑๐ ส.ค. รอบ ๑๔.๐๐ น.รอบ ๑๙.๐๐ น. วันที่ ๑๑ ส.ค. มีเฉพาะรอบ ๑๔.๐๐ น. จะมีการแสดงที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ก็คือการแสดงศิลปะพื้นบ้านของเยาวชนชายแดนใต้ ๔๐๐ กว่าชีวิต ที่พวกเขามีความตั้งใจที่จะมาเล่าเรื่องราวของชายแดนใต้ ให้คนกรุงเทพมหานครได้เข้าใจ ได้มีความรู้สึกที่ดี เป็นเพื่อน ยอมรับว่าเป็นคนไทยด้วยกัน

พร้อมด้วยการนำสินค้า OTOP ของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มาจำหน่ายมากมาย

การแสดงในครั้งนี้ มี ๕ ตอนใหญ่ๆคือ

ตอนที่ ๑ ความสุข นำเสนอการแสดงในราชสำนักของราชอาณาจักรลังกาสุกะ ที่เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ รุ่งเรืองอยู่ยาวนานพันกว่าปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๗๐๐ โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความเจริญรุ่งเรือง ในยุคที่ศาสนาพราหมณ์รุ่งเรืองในแผ่นดินทะเลใต้ เป็นเมืองท่าชายทะเลที่ค้าขายติดต่อระหว่าง ๒ ฝั่งมหาสมุทร โดยข้ามทางไหล่ทวีป และการค้าขายนี้ ทำให้ราชอาณาจักรมีความเจริญรุ่งเรือง และมั่งคั่ง การแสดงที่เป็นร่องรอยของอารยธรรมอินเดีย ได้แก่ระบำอินเดีย ซึ่งเป็นการแสดงที่สวยงาม มีเยาวชนจากตำบล บางตาวา และเกาะเปาะ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีเป็นผู้แสดง มีผู้ร่วมแสดงทั้งหมด ๑๘ คน

การแสดงที่ยิ่งใหญ่อีกชุดหนึ่งก็คือมโนราห์ ซึ่งเป็นการแสดงเก่าแก่ของคนไทยพุทธ เข้าใจว่ามีมาตั้งแต่ยุคโบราณ ฉากร่ายรำเหมือนเทวดาและนางฟ้าอยู่บนสวรรค์ การแสดงนี้มีเยาวชนแสดงถึง ๕๐ คน เป็นโรงใหญ่จาก ๔ อบต. ได้แก่ อบต.คีรีเขต อำเภอธารโต จังหวัดยะลา / อบต.สุไหง-ปาดี ตำบลสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส / อบต.ป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และ อบต.ควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

นอกจากนี้ยังมีการแสดง ซีละ ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ตำนานเล่าว่า นางฟาตีเมาะ เป็นผู้ค้นพบคนแรก และได้ถ่ายทอดให้กับสามีและลูกศิษย์ เป็นรูปแบบการต่อสู้ที่แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้พัฒนาไปเป็น ปัญจะซีละ ในปัจจุบัน การแสดงซีละที่กำลังจะสูญหายนี้มีเยาวชนและครูภูมิปัญญามาร่วมแสดง ๓๑ คน จาก ๕ อบต. ได้แก่ อบต. ปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส / อบต.บางปอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส / อบต.กายูคละ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส / อบต.ป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และอบต.เกาะเปาะ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

การรำกริช ศิลปะการต่อสู้ของนักรบทะเลใต้ ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงแห่งเดียวที่ยังคงทำกริช ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของนักสู้คาบสมุทรมลายูมายาวนาน ได้แก่ ตำบลตะโละหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ในครั้งนี้พวกเขาจะมารำกริชพร้อมกฎกติกาให้ได้ดู

การแสดงตารีอีนา ซึ่งเป็นการแสดงผสมผสานระหว่างมโนราห์กับซีละ มีท่าสะพานโค้งที่อ่อนช้อยและสวยงาม ซึ่งปัจจุบันเหลือให้ชมอยู่เพียงแห่งเดียว ที่ตำบลกายูคละ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

การแสดงที่สวยงามทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ฉากที่สวยงามของพระราชวังของอาณาจักรลังกาสุกะ

ตอนที่ ๒ เป็นการแสดงในยุคของอาณาจักรปัตตานีดารุสลาม ซึ่งเดิมเป็นเมืองท่าของลังกาสุกะ ต่อมา พัฒนาเป็นเมืองหลวงที่รุ่งเรือง ยาวนาน เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งที่ ๒ บนฝั่งแม่น้ำปัตตานี ส่งออกทรัพยากรทางธรรมชาติ ป่าไม้ ดีบุก และทองคำ ผลิตข้าวและเกลือ เริ่มจากการแสดง ร็องเง็ง ซึ่งตำนานเล่าว่า พ่อค้าชาวเปอร์เซียที่มาค้าขายที่เมืองปัตตานีนำเข้ามา และเป็นการแสดงที่ราชสำนักปัตตานีใช้รับแขกบ้านแขกเมือง โดยการแสดงนี้มีเยาวชนจาก อบต.บานา ซึ่งเป็นเมืองท่าเก่าของเมืองปัตตานีดารุสลาม

การแสดงที่ยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชายแดนใต้ก็คือ การแสดง ดีเกฮูลู ซึ่งเป็นการแสดงของชาวบ้าน คำว่า ดีเก แปลว่า เสียงร้อง ฮูลู แปลว่า ทางใต้ มีทั้งหมด ๖ ตอน การแสดงในครั้งนี้มีเยาวชนร่วมแสดงทั้งสิ้น ๖๐ คน เป็นวงดีเกฮูลูที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นการแสดงที่รวมพลัง ไม่แข่งขันเหมือนในอดีต

สำหรับเยาวชนที่เป็นนักแสดงดีเกฮูลู มาจาก ๗ อบต. ได้แก่ อบต.ตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี / อบต.ปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส / อบต.เตราะบอน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี / อบต.กะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี / อบต.เกียร์ อำเภอสุคีริน จังหวัดนราธิวาส / อบต.บางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และอบต.จะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยเนื้อหาเพลงที่ร้องนั้น เล่าถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรปัตตานี ความร่ำรวยจากแร่ดีบุก แร่ทองคำ ทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงาม คนอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ตอนที่ ๓ ความตาย ความโหดร้ายและทารุณ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นยุคมืดของแผ่นดินใต้ ซึ่งมีแต่เสียงระเบิด เสียงปืน เสียงคร่ำครวญ การพลัดพรากร้องไห้ โรงเรียนถูกเผา ครูถูกยิง ผู้นำศาสนา พระ ถูกฆ่า และความตาย

ในฉากนี้จะมีเสียงร้องเพลง อนาซิด ซึ่งบรรยายถึงความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ มีนักแสดง ๓๒ คน จาก ๑๐ อบต. คือ อบต.น้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี / อบต.กายูบอเกาะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา / อบต.กอตอตือระ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา / อบต.อาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา / อบต.ควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี / อบต.มาโมง อำเภอสุคีริน จังหวัดนราธิวาส / อบต.เกียร์ อำเภอสุคีริน จังหวัดนราธิวาส / อบต.สาวอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส และอบต.พร่อน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ตามด้วยการร้องเพลง อนาซิดกุมปัง จากเยาวชนชาย อบต.ริโก๋ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส/ อบต. บูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส / อบต. กาวะ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส และอบต. กอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่ร้องอ้อนวอนขอพรจากพระเจ้า เพื่อให้นำความสุข ความปลอดภัย กลับมาสู่แผ่นดินนี้

ฉากที่ ๔ ชายแดนใต้เริ่มสันติสุข

ท่ามกลางความวิกฤติที่เกิดขึ้น ความสูญเสียที่มากมาย มูลนิธิสุข – แก้ว แก้วแดง ซึ่งเป็นมูลนิธิฯ ที่ตั้งโดยกลุ่มคนรักบ้านเกิด เพื่อเสริมสร้างสันติสุข ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการสนับสนุนจาก กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุข (สสส.) หลังจากได้ทำกิจกรรมโครงการอื่นๆประสบความสำเร็จ ได้ทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถองค์กรเยาวชน ซึ่งเป็นคนกลุ่มเสี่ยงเบื้องต้น ซึ่งฉากเล่าเรื่องนี้เป็นฉากการเรียนรู้ที่มูลนิธิฯ ในค่ายที่สวยงาม

ผลการดำเนินงานของเยาวชน กิจกรรมที่นำไปสู่สันติสุขก็คือ ความสามัคคีของคนในชุมชนไทยมุสลิมที่ตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งในอดีตแตกแยกความสามัคคีอย่างรุนแรง แต่กิจกรรมการเรียนรู้ดีเกฮูลู ที่มีการเหย้าเยือนระหว่างชุมชน ทำให้เกิดการเป็นเพื่อน เป็นมิตร การออกไปแสดงนอกพื้นที่ ทำให้เกิดความสามัคคีมากขึ้น เยาวชนมีกิจกรรมช่วงกลางคืนลดลง การติดยาเสพติดหายไปโดยปริยาย

สันติสุขของคน ๒ วัฒนธรรม ที่มีทั้งคนมุสลิมและคนพุทธ ที่ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส กิจกรรมการแสดงดีเกฮูลู คู่กับกลองยาวทำให้เยาวชนคนไทยพุทธ และคนไทยมุสลิม กลับมาอยู่ร่วมกันเหมือนที่เคยเป็นในอดีต

การแสดงของชุมชน ๓ วัฒนธรรม คือการเล่าเป็นเพลงจากเยาวชน อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่มีเนื้อหาว่า การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่าง คนจีน คนไทยพุทธ และคนไทยมุสลิม ทำให้เบตงเป็นชุมชนสันติสุข เศรษฐกิจดี เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เหลืออยู่เมืองเดียวในชายแดนใต้

เป็นการแสดงของเยาวชนที่หลากหลายชุมชน ที่ในอดีตเคยอยู่ร่วมกัน ซึ่งช่วงหนึ่งแบ่งแยกความสามัคคี ต่างคนต่างอยู่ แต่จากกิจกรรมขององค์กรเยาวชน ที่มีศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เยาวชนกลับมาเป็นเพื่อนกันอีกครั้งหนึ่ง

ฉากที่ ๕ สุดท้าย

บนเวทีจะมาร้องเพลงที่มีเนื้อหาว่า เรามาร่วมกันสร้างสันติสุข โดยมีนักร้องนำชายและนักร้องนำหญิง โดยในเพลงนั้นจะมีทั้งภาษาไทยใต้ ไทยกลาง ไทยจีน และไทยยาวี โดยมีการเชิญชวนผู้ชมร่วมร้องเพลงร่วมกันทั้งหอประชุม

การแสดงมหกรรมเยาวชนนี้ นอกจากมุ่งที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจกับพี่น้องผู้ชมที่อยู่กรุงเทพมหานครแล้ว การทำกิจกรรมด้วยกันจะทำให้เยาวชนรู้จัก สนิทสนมเป็นเพื่อนกัน ซึ่งจะพัฒนาเป็นเครือข่ายการเสริมสร้างสันติสุขของ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

การแสดงศิลปะพื้นบ้านทั้งหมดนี้ ช่วงหนึ่งได้หายไปจากพื้นที่ การที่เยาวชนได้รื้อฟื้นและสืบทอดมรดกจนกลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

การแสดงในครั้งนี้เริ่มจากเยาวชนเรียนรู้ศิลปะพื้นบ้าน จัดการแสดงในชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับอำเภอ จัดงานมหกรรมองค์กรเยาวชน ๓ จังหวัดชายแดนใต้

การแสดงร่วมกันหลายๆอบต. นี้ เป็นมิติใหม่ เพื่อที่จะสร้างความสามัคคีมากกว่าการแข่งขันกันในอดีต เพราะการแข่งขันกัน บ่อยครั้งที่นำไปสู่ความรุนแรงจนกระทั่งถึงเสียชีวิตก็มี กิจกรรมของมูลนิธิฯ จึงไม่เน้นในเรื่องการแข่งขัน แต่จะเน้นเรื่องความสามัคคี การแสดงทั้งหมดนี้ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้เรียนรู้ เข้าใจคนปักษ์ใต้ เพื่อที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในฐานะที่เราก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง