สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ จัดประชุมใหญ่เภสัชกรโรงพยาบาลทั่วประเทศ เร่งพัฒนาคุณภาพบริการทางเภสัชกรรม สู่ระบบการใช้ยาที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนของผู้

05 Aug 2010

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล

“ชี้อัตรากำลังเภสัชกรโรงพยาบาลขาดกว่า 5,000 คน วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข”

สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) จัดประชุมใหญ่เภสัชกรโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 700 คน ระดมสมองเร่งพัฒนาคุณภาพบริการทางเภสัชกรรม สู่ระบบการใช้ยาที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนของผู้ป่วย นายกสมาคมเภสัชฯ ชี้ปัญหาการใช้ยาไม่ปลอดภัยในคนไทยเป็นปัญหาสะสมมายาวนาน เหตุจากพฤติกรรมการใช้ยาแบบผิดๆ ของผู้ป่วยและปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังเภสัชกรโรงพยาบาลต่อผู้ป่วยซึ่งยังต่ำกว่ามาตรฐานอยู่กว่า 5,000 คน ส่งผลให้บริการไม่ทั่วถึง วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

ภก.วิพิน กาญจนการุณ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ยารักษาโรคเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิต แต่ก็อาจก่อให้เกิดโทษมหันต์ได้หากใช้อย่างไม่ถูกต้องปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาของคนไทยที่พบบ่อย ได้แก่ การแพ้ยา ใช้ยาเสื่อมคุณภาพ ใช้ยาเกินขนาด หรือการได้รับปริมาณยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม เช่นมากไป หรือน้อยไป และการใช้ยาไม่ถูกกับโรค เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้าใจและพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของตัวผู้ป่วยเอง ในอีกมุมหนึ่งนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาของผู้ป่วยอาจเกิดจากระบบสาธารณสุขและการให้บริการทางเภสัชกรรมที่ทำได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะโรงพยาบาลต่างจังหวัด เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนอัตรากำลังของเภสัชกรประจำโรงพยาบาลอยู่มาก

“หากย้อนไปเมื่อ 15-30 ปีก่อน บทบาทเภสัชกร มีเพียงงานสั่งซื้อ งานคลัง งานจ่ายยา และงานผลิต แต่ในปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ของเภสัชกรได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม จะต้องเข้ามาดูแลระบบความปลอดภัยด้านยาร่วมกับวิชาชีพอื่น เช่น งานบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก งานบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยในดังนั้นอัตรากำลังในปัจจุบันจึงยังไม่สอดคล้องกับภาระงานและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ยิ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลมีการพัฒนาเพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานโรงพยาบาล (Hospital Accreditation : HA) ประกอบกับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเข้าถึงบริการได้โดยสะดวก ทั่วถึง และมีความคาดหวังว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าภาระงานในปัจจุบันเพิ่มกว่าในอดีตมาก ทำให้บุคลากรสาธารณสุข เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร มีความเครียดในการทำงานและแบกรับความรับผิดชอบสูงมาก

ดังนั้นสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ จึงขอวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับอัตรากำลังของเภสัชกรโรงพยาบาลให้เหมาะสมกับผู้ใช้บริการด้วย เพราะนั่นหมายถึงประสิทธิภาพการรักษา และความปลอดภัยด้านยาของผู้ป่วย โดยอัตรากำลังที่ควรจะเป็นในปัจจุบัน จำนวนเภสัชกรโรงพยาบาลยังขาดอยู่ราว 5,000 คน เพราะในปัจจุบันการดูแลรักษาผู้ป่วยทำเป็นแบบสหสาขาวิชาชีพ เภสัชกรทำหน้าที่ ดูแลผู้ป่วยด้านยา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่ถูกต้อง ใช้ยาอย่างถูกวิธี ทำให้การรักษามีประสิทธิผลสูงสุด” ภก.วิพิน กล่าว และเสริมว่า “บทบาทหน้าที่ของเภสัชกรในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่ทำหน้าที่เพียงจัดซื้อจัดหายาให้เพียงพอต่อความต้องการ และจ่ายยา มาเป็นบทบาทในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยแบบสหสาขา โดยดูแลความปลอดภัยด้านยา เช่น ในการบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยในจะดำเนินการในเรื่องต่างๆ” ดังนี้

(1) การประสานรายการยาเดิมที่ผู้ป่วยใช้อยู่จะสืบค้นประวัติการใช้ยาเดิม โรคประจำตัว การแพ้ยา

(2) การดูแลรายการยาต่อเนื่องของผู้ป่วย ความเหมาะสมของขนาดยา การแพ้ยา และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาและ Drug Interaction

(3) การบริหารยาที่เหมาะสม ยาที่ห้ามบด สารน้ำที่เลือกใช้ อัตราเร็วที่ให้โดยเฉพาะ ยาที่มีดัชนีการรักษาแคบหรือยากลุ่มเสี่ยง

(4) การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย และประสานรายการยา การประเมินความเหมาะสมในการสั่งใช้ยา การให้คำปรึกษาด้านยาก่อนกลับบ้าน

ภก.วิพิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ มีความมุ่งมั่นในการสร้างแนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมคุณภาพการบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้น สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ จึงได้มีการจัดการประชุมวิชาการ และประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 ขึ้นในหัวข้อ “คุณภาพการบริการทางเภสัชกรรม : ก้าวสำคัญสู่ระบบการใช้ยาที่ปลอดภัย” เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการทางเภสัชกรรมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สู่ระบบการใช้ยาที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมนำองค์ความรู้ไปดูแลผู้ป่วย นับตั้งแต่เริ่มเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จนกระทั่งกลับบ้าน ทั้งกระบวนการจัดการ ประมวลรายการยาที่ผู้ป่วยใช้จากบ้าน ประสานกับรายการยาที่ใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งครอบคลุมทั้งยาของผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก การติดตามการใช้ยารวมถึงการตรวจทานขนาดยา และวิธีการให้ยา ตลอดจนการให้คำแนะนำ/ปรึกษาเรื่องยาแก่บุคลากรสาธารณสุข และผู้ป่วย เพื่อให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสม และปลอดภัยแก่ผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้ยังเป็นเวทีสำหรับเผยแพร่ผลงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของเภสัชกรโรงพยาบาลด้วย โดยมีเภสัชกรโรงพยาบาลจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 700 คน ณ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปีฯ ซ.ศูนย์วิจัย ถ.เพชรบุรี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

คุณบุษบา สุขบัติ (บุษ) หรือ คุณพิธิมา รัตนรังสิกุล (ก้อย)

โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 หรือ 134

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net