สถาบันอาหาร ชวนผู้ประกอบการไทย เปิดโลกธุรกิจ สร้างโมเดลให้ SMEs สู่ยุคแห่งนวัตกรรมแบบเปิด

06 Aug 2010

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--สถาบันอาหารชี้ช่องสร้างธุรกิจ

สถาบันอาหารชี้ช่องสร้างธุรกิจ SMEs ไทยให้แข็งแรง เปิดโลกธุรกิจศตวรรษที่ 20 ด้วยนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) แนะผู้ประกอบการด้านอาหารต้องเปิดทัศนคติเพื่อรับความรู้จากแหล่งต่างๆ มาผสมผสานกับความรู้ที่มีอยู่ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ต่อสู้ในตลาดอาหารโลก

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า “ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 20 “นวัตกรรม” ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยใช้ความรู้ประสบการณ์ และความสามารถของบุคลากรภายในองค์กรมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ตั้งแต่การทำวิจัยขั้นต้น พัฒนาจนได้ผลิตภัณฑ์ บริหารจัดการ และทำการตลาด จนกระทั่งผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ ซึ่งรูปแบบของนวัตกรรมดังกล่าวนี้เรียกว่า นวัตกรรมแบบปิด (Closed Innovation) แต่นวัตกรรมแบบปิด มีข้อเสียที่ทำให้องค์กรผลักดันผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้อย่างล่าช้าเพราะต้องเริ่มต้นทำทุกอย่างใหม่ และยังต้องยึดติดกับความรู้ที่ได้จากบุคลากรคนใดคนหนึ่ง ซึ่งอาจนำองค์ความรู้ติดตัวไปด้วยเมื่อพนักงานเหล่านั้นลาออกไป ดังนั้น เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์มากขึ้น นวัตกรรมแบบปิด (Closed Innovation) จึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการอีกต่อไป แต่จะมีนวัตกรรมรูปแบบใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งเรียกว่า นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation)”

นวัตกรรมแบบเปิดเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจจากแวดวงนักวิชาการ และองค์กรนวัตกรรมระดับโลก โดยมีแนวคิดว่า องค์กรควรมีการแลกเปลี่ยนความรู้และพร้อมเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ จากแหล่งภายนอก ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่งานวิจัย พัฒนา และผลักดันนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ด้วยตนเองทั้งหมด แต่เป็นการนำองค์ความรู้จากภายนอกมาผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในองค์กร เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

“สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร นวัตกรรมแบบเปิดได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน มีทั้งคู่แข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น และผู้บริโภคก็มีความต้องการที่หลากหลายและสลับซับซ้อน จึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องเปิดใจรับความรู้จากแหล่งภายนอกมากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกระแสนวัตกรรมแบบเปิดไม่ได้มีแนวโน้มที่ได้รับความสนใจแต่เฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ในบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ต่างเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน” รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าว

จากการศึกษาของ Sungjoo Lee นักวิจัยชาวเกาหลี พบว่า ความจริงแล้วบริษัท SMEs มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ได้อย่างน่าสนใจ ประกอบกับโครงสร้างองค์กรขนาดเล็ก ปรับตัวได้ง่าย จะยิ่งส่งผลดีต่อการรับความรู้จากแหล่งภายนอกมาใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่ยังพบว่าปัญหาสำคัญสำหรับ SMEs คือ ขาดแนวทางในการนำผลิตภัณฑ์ไปสู่ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ คือ การสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดความเข้มแข็ง ค้นหาแหล่งความรู้ และช่วยหาพันธมิตร ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหน่วยงานที่เรียกว่า KICMS (Korean Integrated Contract Manufacturing Service) มาผสานให้เกิดความเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs เพื่อผลักดันนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ เช่น ผสานให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างองค์กร และสร้างความร่วมมือการวิจัยทางการตลาด เป็นต้น

นายอมร กล่าวต่อไปว่า “สำหรับประเทศไทยนั้น แม้อุตสาหกรรมอาหารจะเป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก และมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 7-8 ของการผลิตมวลรวมของประเทศ แต่จากสภาวการณ์แข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงมากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการจะต้องหันมาให้ความสนใจนวัตกรรมแบบเปิด เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการเปิดใจรับรู้สิ่งใหม่ๆ นอกเหนือจากความรู้เดิมในองค์กร รวมทั้ง แสวงหาพันธมิตรเพื่ออาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ ในการสร้างนวัตกรรม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งอาจมีเงินทุนในการทำวิจัยและพัฒนาน้อย แต่หากมีการเปิดทัศนคติเพื่อรับความรู้จากแหล่งต่างๆ มาผสมผสานกับความรู้ที่ตนเองมีอยู่ รวมทั้งามมผสานกับความรู้ที่ตนเองมีอยู่ ตามที่บัตการiรใสใช้ประโยชน์จากความร่วมมือที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ก็จะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ได้ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ดี คงไม่สามารถตอบได้ว่านวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) จะดีกว่านวัตกรรมแบบปิด (Closed Innovation)หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจะมีความสามารถในการซึมชับความรู้ (Absorptive Capacity) เพื่อใช้ประโยชน์ได้มากแค่ไหน มีองค์ความรู้และความพร้อมเพียงพอที่จะนำไปแลกเปลี่ยนกับองค์กรอื่นหรือไม่ หากมีความสามารถดังกล่าวนี้มากเพียงพอ การนำนวัตกรรมแบบเปิดมาใช้ก็จะช่วยสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างมาก แต่ทั้งนี้องค์กรจำเป็นที่จะต้องสร้างบุคลากรให้มีทักษะและความสามารถมากยิ่งขึ้น เพื่อให้รู้จักการคัดสรรความรู้ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนครับ”

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net