กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนเกษตรกรในจังหวัดภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานชะลอการปลูกข้าวนาปีออกไปก่อน เพื่อป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำเหลือน้อย ประกอบกับอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในระยะนี้
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศ พบว่า อยู่ในภาวะวิฤตปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยฉพาะเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ
ร้อยละ 32 และเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำร้อยละ 36 แต่ต้องกันไว้ใช้สำหรับการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ในลำน้ำเป็นหลัก จึงไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อทำการเกษตรได้ และแม้ว่าระยะนี้จะมีฝนตกในหลายพื้นที่แต่ส่วนใหญ่ฝนตกในบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อน ทำให้ไม่มีน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนเพิ่มเติม รวมทั้งจากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยายังระบุอีกว่า ช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำยาวนานมากยิ่งขึ้น ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ได้ออกประกาศให้เลื่อนการทำนาปีในเขตชลประทานที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ แต่จากการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกข้าว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่า เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มหว่านข้าวทำนาปีบ้างแล้ว ซึ่งมีความเสี่ยงที่ต้นข้าวจะขาดแคลนน้ำในระยะเติบโต ส่งผลให้ข้าวยืนต้นตาย ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนให้เกษตรกรในจังหวัดภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในเขตชลประทานที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมถึงพื้นที่นอกเขตชลประทานชะลอการปลูกข้าวนาปีออกไปก่อน โดยเลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทน รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ สภาพอากาศ เพื่อจะได้วางแผนทำนาหรือปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ ทั้งนี้คาดว่าเกษตรกรจะเริ่มเพาะปลูกได้ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม 2553 เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายสภาวะอากาศในช่วงดังกล่าวว่าจะมีฝนตกกระจายเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สามารถจัดสรรน้ำสำหรับการทำนาและเพาะปลูกพืชได้ อย่างไรก็ตามปรากฎการณ์เอลนิโญ่ได้ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศของโลกค่อนข้างแปรปรวน ทำให้ไม่สามารถคาดหมายลักษณะอากาศได้อย่างชัดเจน จึงขอให้เกษตรกรติดตามสถานการณ์น้ำและสภาวะอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนดำเนินการเพาะปลูกพืชหรือหว่านข้าวนาปี ท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจาก การขาดแคลนน้ำอุปโภค และบริโภค สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ปภ.