iTAP เตือนใช้ “เราท์เตอร์- เครื่องมืองานไม้”ต้องรู้จริง เร่งหนุนทักษะ เสริมทัพอุตฯเฟอร์นิเจอร์

10 Jun 2010

กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--iTAP

iTAP หนุนทักษะการใช้ “เราท์เตอร์- เครื่องมืองานไม้” ซึ่งใช้ในการตกแต่งขอบไม้ หรือแกะลวดลายต่างๆของชิ้นงานตกแต่งบ้าน หรือเฟอร์นิเจอร์ฯลฯ ย้ำเครื่องมือเฉพาะทางเหล่านี้ต้องมีทักษะ ใส่ใจในการทำงาน และระมัดระวังเพื่อปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากที่สุด เชื่อหากภาคอุตสาหกรรมสร้างบุคลากรมีความรู้ นอกจากจะได้ผลงานคุณภาพ ยังสร้างศักยภาพการแข่งขันในตลาด

iTAP หรือโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ จึงจัดกิจกรรมอบรมเทคนิคความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้” ในปีงบประมาณ 2553 โดยครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 7 และเป็นการให้ความสำคัญกับการใช้ “เครื่องมือ”ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ในการทำงาน

นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี iTAP กล่าวว่า โจทย์จากการอบรมแต่ละครั้งนั้นจะมาจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยทีม iTAPได้สำรวจความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดการอบรมและสัมมนาในหัวข้อครั้งนี้ คือ “เทคนิคการขึ้นรูปด้วยเครื่องมือกลเราท์เตอร์”โดยเครื่องมือเราท์เตอร์ดังกล่าวนั้นจะเป็นเครื่องมือเฉพาะทางที่สำคัญในการทำงานของอุตสาหกรรมไม้ แต่ผู้ใช้งานยังขาดทักษะและเทคนิคความเข้าใจ จึงอาจสร้างความเสียหายให้แก่ชิ้นงาน รวมทั้งความปลอดภัยของผู้ใช้งานดังกล่าวด้วย การให้ความรู้ในครั้งนี้จึงสนับสนุนให้ผู้ใช้เครื่องมือดังกล่าวให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ไทยในที่สุด

ผศ.สมศักดิ์ ร่มสนธิ์ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า เราท์เตอร์ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในงานไม้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และมีลักษณะการทำงานที่ใช้กับการกัดไม้เพื่อเข้าเดือย ขึ้นรูปชิ้นงาน และกัดขอบบัวหรือแกะลวดลายต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้กัดขอบไม้บางและแผ่นพลาสติกให้เรียบเสมอกันกับขอบชิ้นงาน เป็นต้น

โดยเครื่องเราท์เตอร์ดังกล่าวยังมีหลายประเภท อาทิ เครื่องเราท์เตอร์มือถือ ซึ่งเป็นเครื่องมือกล ขนาดเล็กที่ใช้มือจับถือในการทำงาน เครื่องเราเตอร์หัวล่าง เครื่องมือที่ต้องใช้ทักษะในการควบคุมการทำงานค่อนข้างสูงใช้ในการกัดขึ้นรูปชิ้นงานให้มีรูปร่างต่างๆตามต้องการ หรือ เครื่องมือเราท์เตอร์แท่น ซึ่งเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่เหมาะสำหรับการทำงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการทำงานในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเพื่อให้ได้มาตรฐาน จำเป็นต้องมีการนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้งาน ดังนั้นผู้ใช้งานจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคต่างๆเพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องคำนึงด้านความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นหลัก

สำหรับปัญหาในการใช้งานเราท์เตอร์ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น ผศ.แจ่มจันทร์ ธรรมสุจริต ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ให้ความเห็นว่า การใช้งานเราท์เตอร์นั้นส่วนใหญ่จะเกิดจากความประมาทและไม่เข้าใจการใช้งานของเครื่องมือดังกล่าว ทำให้ต้องระวังในการทำงานสูง โดยเฉพาะมีชิ้นส่วนสำคัญ คือ ดอกกัด ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของเครื่องเราท์เตอร์ที่มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไปตามการใช้งาน อีกทั้งยังมีความคมและแข็งเพื่อใช้ในการตัดแต่งชิ้นงานต่างๆ ดังนั้นในการทำงานแต่ละครั้งต้องมีความรอบคอบ เช่น ก่อนเปิดเครื่องต้องสำรวจว่าชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเรียบร้อย หรือหลังจากใช้เครื่องจักรเสร็จแล้วจะต้องปิดสวิทช์และรอจนกว่าดอกกัดจะหยุดหมุนเสียก่อน จึงค่อยวางเครื่องลงบนโต๊ะงาน เป็นต้น

โดยคำเตือนเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากในการใช้เครื่องมือ เนื่องจากหากผู้ใช้งานบางคนเผลอเรอก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆขึ้นได้ ด้านมุมมองของปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไทย นักวิชาการจาก มจพ.มองว่า หากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญงานไม้ โดยเฉพาะการนำเครื่องจักรมาใช้อย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังสร้างมาตรฐานการทำงาน ลดของเสีย และที่สำคัญอุปกรณ์เหล่านี้บางอย่างต้องใช้ความระมัดระวังในการทำงานค่อนข้างสูง หากมีความรู้เทคนิคและหลักการใช้งานนอกจากผู้ใช้จะปลอดภัยแล้วยังได้ผลงานที่มีศักยภาพ สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมนี้แข่งขันในตลาดโลกได้ต่อไป

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ iTAP

โทร.02-564 -7000 ต่อ 1301

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit