ดุลยวัต นิสิตสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ พร้อมยังเป็นหนึ่งใน 25 คนในรอบ semi-finalist ระดับโลกสองปีซ้อน

24 Jun 2010

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์

ดุลยวัต นิสิตสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ พร้อมยังเป็นหนึ่งใน 25 คนในรอบ semi-finalist ระดับโลกสองปีซ้อน จากการแข่งขัน “อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2010” ด้วยผลงานออกแบบอุปกรณ์จัดเก็บและทำความสะอาดเสื้อผ้า Zephyr

เป็นอีกปีหนึ่งที่ดุลยวัต วงศ์นาวา นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด “อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2010” เป็นปีที่สองติดต่อกันจากผลงานการออกแบบ “อุปกรณ์จัดเก็บและทำความสะอาดเสื้อผ้า” ที่ใช้ชื่อว่า Zephyr โดยก่อนหน้านี้ ดุลยวัตเคยคว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศจากการแข่งขันออกแบบผลิตภัณฑ์ “อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2009” ในปีที่ผ่านมา

ไม่เพียงแต่รางวัลในระดับประเทศเท่านั้น ผลงานอันเปี่ยมไปด้วยนวัตกรรมของดุลยวัตยังได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ “อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2010” คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผลงานการออกแบบที่เข้ารอบ 25 ผลงานสุดท้ายในรอบ semi finalist ของการแข่งขัน “อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2010” ในระดับโลกอีกด้วย ซึ่งการแข่งขันในระดับโลกเปิดกว้างให้เยาวชนจากทั่วโลกได้มีโอกาสส่งผลงานเข้าประกวด โดยผลงานการออกแบบที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รอบ 25 ชิ้นสุดท้ายในครั้งนี้เป็นผลงานที่มาจากบรรดาเยาวชนนักออกแบบจาก 17 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยคือ ผลงาน “อุปกรณ์จัดเก็บและทำความสะอาดเสื้อผ้า Zephyr” ในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ จะมีการประเมินและคัดเลือกผลงานของผู้ที่เข้ารอบ 25 คนสุดท้ายให้เหลือเพียง 8 ชิ้นงานในรอบสุดท้าย โดยจะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่เข้ารอบ 8 คนสุดท้ายภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ และผู้ที่เข้ารอบ 8 คนสุดท้ายนี้จะได้รับเชิญให้ไปแสดงแนวความคิด และนำเสนอผลงานอันเปี่ยมด้วยนวัตกรรมต่อหน้าคณะกรรมการจากหลากหลายวงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษใน เดือนกันยายนนี้ โดยผู้ชนะเลิศระดับโลกอันดับที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 5,000 ยูโร พร้อมทั้งโอกาสในการฝึกงานที่ศูนย์การออกแบบระดับโลกของอีเลคโทรลักซ์เป็นเวลา 6 เดือน ส่วนผู้ชนะเลิศระดับโลกในอันดับที่ 2 และที่ 3 จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 3,000 และ 2,000 ยูโรตามลำดับ

ในการแข่งขัน“อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2010” ซึ่งปีนี้นับเป็นการจัดครั้งที่ 8 ในระดับโลก ปีนี้ อีเลคโทรลักซ์ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเพื่อการใช้งานอย่างมืออาชีพชั้นนำ และผู้นำด้านนวัตกรรมที่คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภค ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วทุกมุมโลกส่งผลงานเพื่อเข้าร่วมประกวดแข่งขันผ่านทาง www.electroluxdesignlab.com ซึ่งทางอีเลคโทรลักซ์ได้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงระดับโลก และระดับประเทศ เพื่อร่วมทีมคณะกรรมการตัดสินเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้มีเยาวชนจากทั่วโลกร่วมส่งผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์กว่า 1,300 ชิ้นเข้าร่วมประกวด (นับเป็นจำนวนที่มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 30%)

โจทย์สำหรับการแข่งขันในปีนี้คือ “นวัตกรรมดีไซน์ สำหรับพื้นที่จำกัดแห่งอนาคต ค.ศ. 2010” ที่เน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตในอนาคต คำนึงถึงความสะดวกสบายและความกะทัดรัดในการใช้งานในพื้นที่จำกัด ทั้งด้านการประกอบอาหารและการถนอมอาหาร การทำความสะอาดเสื้อผ้า ตลอดจนการทำความสะอาดภายในบ้าน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรในยุคปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 40 ปีข้างหน้าที่กว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในชุมชนเมือง ซึ่งหัวข้อการแข่งขันในครั้งนี้นับว่ามีความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากเกณฑ์ที่คณะกรรมการใช้ในการตัดสินมิได้อิงจากการออกแบบที่เปี่ยมไปด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบจะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการใช้งานได้จริงในอนาคตอีกด้วย

คุณ สุทธิ มโนกิจจรูญมั่น ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เรามีความยินดีที่ได้จัดกิจกรรม อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ ขึ้นอีกครั้งในปีนี้ และรู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นความสามารถของเด็กไทยในเวทีระดับโลกซึ่งเรียกได้ว่าไม่แพ้เยาวชนจากชาติอื่นเลย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมดี ๆ นี้จะช่วงส่งเสริมให้ประเทศไทยผลิตบุคลากรด้านการออกแบบที่มีคุณภาพได้ทัดเทียมกับนานาชาติ”

ในครั้งนี้ผลงานอันน่าภาคภูมิใจที่ทำให้ ดุลยวัต วงศ์นาวา ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ “อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2010” อีกครั้งเป็นปีที่สองติดต่อกันคือ Zephyr หรือ “อุปกรณ์จัดเก็บและทำความสะอาดเสื้อผ้า” โดยผลงานดังกล่าวได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิดที่ว่า พื้นที่อยู่อาศัยของประชากรโลกจะมีขนาดเล็กลงในอีก 40 ปีข้างหน้าเนื่องจากประชากรโลกจะเข้ามาอยู่อาศัยอย่างกระจุกตัวอยู่ในชุมชนเมือง ซึ่งส่งผลถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านเรือนที่ต้องมีการปรับรูปแบบตามสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

ดุลยวัตให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เมื่อพิจารณาถึงลักษณะงานบ้านในปัจจุบัน งานบ้านที่ใช้พื้นที่มากที่สุดในการปฏิบัติงานคือ งานทำความสะอาดและจัดเก็บเสื้อผ้า เนื่องจากการทำความสะอาดเสื้อผ้าในปัจจุบันมีการแบ่งแยกขั้นตอนการทำงานออกจากกันอย่างชัดเจนในหลายขั้นตอน ได้แก่ การซักล้าง การตากแห้ง การรีด และการจัดเก็บ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนล้วนต้องใช้พื้นที่ในการใช้งานเฉพาะตัว ปัญหาเรื่องขนาดการใช้พื้นที่จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการทำความสะอาดเสื้อผ้ารูปแบบใหม่ที่รวมขั้นตอนการทำความสะอาดเสื้อผ้าเข้ากับพื้นที่ในการจัดเก็บเสื้อผ้า เพื่อจุดประสงค์ในการลดขนาดพื้นที่ในการใช้งาน และยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้อีกด้วย

แนวคิดที่สำคัญของการออกแบบผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ที่ประหยัดพื้นที่ใช้สอยนี้คือ การนำเสื้อผ้าที่ใส่แล้วและต้องการทำความสะอาด ใส่เข้าไปใน “อุปกรณ์จัดเก็บและทำความสะอาดเสื้อผ้า Zephyr” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตู้เสื้อผ้า เพียงแต่ว่าเสื้อผ้าแต่ละชิ้นจะถูกจัดเก็บในช่องที่แยกออกจากกัน จากนั้นกระบวนการทำความสะอาดจะเริ่มขึ้นเมื่อนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วไปใส่ไว้ภายในช่องเก็บผ้า โดยเครื่องจะสแกนอ่านวิธีทำความสะอาดสำหรับผ้าชิ้นนั้นจาก RFID ที่ฝังไว้ภายในเนื้อผ้า จากนั้นเครื่องจะเลือกโปรแกรมการทำความสะอาดที่เหมาะสมสำหรับผ้าชนิดนั้น จุดเด่นของเทคโนโลยีที่ออกแบบมาสำหรับ โลกอนาคตนี้คือ เทคโนโลยีการทำความสะอาดแบบไม่ใช้น้ำ (Air Wash) โดยการเป่ากระแสลมร้อน พร้อมกับปล่อยไอออนของประจุลบเข้าไปจับกับคราบสกปรกที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้า

จุดเด่นของ “อุปกรณ์จัดเก็บและทำความสะอาดเสื้อผ้า Zephyr” คือสามารถช่วยลดภาระในการทำความสะอาดเสื้อผ้าของผู้ใช้จากการลดความซับซ้อนและยุ่งยากของขั้นตอนการทำความสะอาดเสื้อผ้า อีกทั้งยังช่วยลดพื้นที่ที่ต้องใช้ในการทำความสะอาดทั้งหมดให้เหลืออยู่เพียงภายในตู้เสื้อผ้าขนาดเล็กหนึ่งตู้เท่านั้น

จากการได้รับรางวัลชนะเลิศถึงสองปีซ้อน นายดุลยวัต กล่าวถึงความรู้สึกในครั้งนี้ว่า “ผมรู้สึกดีใจและประหลาดใจมากที่ผลงานของผมได้รับรางวัลชนะเลิศอีกครั้งในปีนี้ เนื่องจากผมคิดว่าหัวข้อการประกวดในปีนี้ค่อนข้างยากและท้าทายเป็นอย่างมาก ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสรรค์สร้างผลงานที่ช่วยลดเวลาและขั้นตอนในการทำความสะอาดเสื้อผ้า ที่ช่วยให้เรามีเวลาสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ได้มากขึ้น และผมหวังว่าวันหนึ่งแนวคิดของผมจะได้รับการปรับใช้เป็นรูปธรรมในอนาคต”

โครงการ “อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ” ในประเทศไทย ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 และในแต่ละปีทางบริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย จะทำการประชาสัมพันธ์แบบโรดโชว์ไปตามมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั่วกรุงเทพฯ และส่งจดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจจาก น้องๆ ในระดับอุดมศึกษา ในการส่งผลงานเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ และทางบริษัทฯ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ อันประกอบไปด้วย หม่อมหลวง คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักธุรกิจสัมพันธ์ และให้คำปรึกษา กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์, คุณกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC), คุณสักกฉัฐ ศิวะบวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ ดีไซน์ พับลิชชิ่ง จำกัด และผู้บริหารจากบริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการตัดสินการประกวดโครงการฯ

“ผลงานจากการแข่งขันในปีนี้มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากผลงานที่ผู้เข้าแข่งขันออกแบบต้องเป็นการออกแบบที่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในอนาคต และต้องตอบโจทย์เรื่องการใช้พื้นที่อย่างจำกัดได้ เยาวชนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และน้อง ๆ อีกหลายคนที่ส่งผลงานเข้าประกวดมีความเข้าใจในโจทย์ข้อนี้และสร้างสรรค์ผลงานที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างดี อีกทั้งยังสามารถนำเสนอการควบรวมของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกกับพื้นที่การใช้งานส่วนอื่นภายในบ้านเรือน มารวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างกลมกลืน” คุณกิตติรัตน์ หนึ่งในคณะกรรมการผู้ตัดสินกล่าว

นอกจากนี้ยังมีรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในระดับประเทศ ซึ่งได้แก่ “Quarter – ตู้เย็นอัจฉริยะ” จากการออกแบบของ น.ส.ขวัญจิตร์ ชยาภัม นิสิตชั้นปีที่ 4 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานการออกแบบนวัตกรรมตู้เย็นแบบประหยัดพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนเพดาน โดยสามารถปรับขนาดความจุของตู้เย็นได้ตามจำนวนผู้ใช้งาน และอาหารจะถูกจัดเก็บโดยโปรแกรมอัจฉริยะที่สามารถจำแนกอาหารได้ และในขณะเดียวกันตู้เย็นแบบโค้งนี้ยังเป็นโคมไฟติดเพดานที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้แก่ห้อง และยังใช้พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย

ส่วนรางวัลที่ 2 คือ “Surge – เครื่องทำความสะอาดเสื้อผ้าแบบครบวงจร” ซึ่งออกแบบโดย นายเฉลิมพล ธีรกุลวาณิช นักศึกษาชั้นปีที่ 5 ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่มีแนวคิดในการออกแบบเครื่องทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ใช้คลื่นความถี่และประจุไฟฟ้าเพื่อที่จะซัก อบ และรีดเสื้อผ้าในขณะเดียวกันได้ในเครื่องทำความสะอาดเพียงเครื่องเดียว เพียงแค่นำเครื่องไปแขวนหรือตั้งไว้ในตู้เสื้อผ้า และนำเสื่อผ้าที่ใส่แล้วกลับไปในที่ ๆ เคยหยิบมา จากนั้นเครื่องก็จะทำความสะอาดตามขั้นตอน และเครื่องนี้ยังสามารถเก็บข้อมูลรายละเอียดของเสื้อผ้าที่อยู่ในตู้ไว้เป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อช่วยในการแต่งตัวอีกด้วย นอกจากนั้นระบบการควบคุมยังเชื่อมต่อกับแผงควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมภายในบ้าน เพื่อควบคุมการทำงานต่างๆที่ได้ทำการเชื่อมต่อข้อมูลไว้ ได้จากแผงควบคุมเพียงชิ้นเดียว โดยรางวัลรวมในระดับประเทศไทยของการแข่งขันในครั้งนี้มีมูลค่าถึง 90,000 บาท

ภาพประกอบ 1

คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันตัดสินผลงานการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ “อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2010” ระดับประเทศ

บุคคลในภาพ (จากซ้ายไปขวา)

1. คุณสักกฉัฐ ศิวะบวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ ดีไซน์ พับลิชชิ่ง จำกัด

2. คุณสุทธิ มโนกิจจรูญมั่น ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย

3. คุณกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC),

4. หม่อมหลวง คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักธุรกิจสัมพันธ์ และให้คำปรึกษา กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์

ภาพประกอบ 2

ผลงาน “อุปกรณ์จัดเก็บและทำความสะอาดเสื้อผ้า Zephyr” ซึ่งออกแบบโดยนายดุลยวัต วงศ์นาวา ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด “อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2010”

เกี่ยวกับโครงการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ

นับแต่ปี 2546 อีเลคโทรลักซ์ ได้จัดโครงการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ ดีไซน์ แล็บ ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาด้านการออกแบบได้แสดงศักยภาพทางความคิดสังสรรค์ คิดนวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนใหม่ๆ ซึ่งนักเรียนออกแบบหลายพันคนจากกว่าหนึ่งร้อยประเทศทั่วโลก ได้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกับ โครงการอีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสสู่งาน และธุรกิจออกแบบโดยตรง อย่างเช่นในขณะนี้ผู้ชนะเลิศระดับโลกได้มีโอกาสเข้าทำงานกับหนึ่งใน อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ เซ็นเตอร์, ผู้ชนะเลิศระดับโลกในปีที่ผ่านๆ มา ก็เช่นกันที่ได้รับการฝึกงานกับทางอีเลคโทรลักซ์เป็นเวลา 6 เดือน และหลายคนก็ประสบความสำเร็จในธุรกิจการออกแบบ การประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์มีหัวข้อและสถานที่จัดงานแถลงข่าวระดับนานาชาติแตกต่างกันไปทุกปี หัวข้อและสถานที่การจัดงานในปีที่ผ่านมา เช่น ปี 2552 การออกแบบผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตใน 90 ปีข้างหน้า จัดขึ้นที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ, ปี 2551 การออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแห่งอนาคตสำหรับผู้บริโภคในยุคอินเตอร์เน็ต จัดขึ้นที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, ปี 2550 ออกแบบนวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลก จัดขึ้นที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติมและข่าวประชาสัมพันธ์กรุณาเยี่ยมชม www.electrolux.com/designlab

เกี่ยวกับอีเลคโทรลักซ์

อีเลคโทรลักซ์ เป็นบริษัทผู้นำระดับโลกด้านการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการใช้งานในครัวเรือน และเพื่อการใช้งานระดับมืออาชีพ โดยในแต่ละปีมียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์มากกว่า 40 ล้านชิ้นในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก บริษัทได้เน้นย้ำถึงการเป็นผู้ค้นคว้านวัตกรรมใหม่ มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยได้ใช้ข้อมูลจากการทำวิจัยเพื่อให้ทราบถึงหรือมีความเข้าใจลูกค้าอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ทั้งนี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค และผู้ใช้งานระดับมืออาชีพได้อย่างแท้จริง ผลิตภัณฑ์ของอีเลคโทรลักซ์นั้นรวมถึงตู้เย็น เครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น และเตาหุงต้ม ภายใต้ตราสินค้าอีเลคโทรลักซ์ เออีจี-อีเลคโทรลักซ์ ซานุซซี่ ยูเรก้า และฟริจิแดร์ ในปี 2552 อีเลคโทรลักซ์ มียอดขายผลิตภัณฑ์ 109 พันล้านโครเนอร์สวีเดน หรือประมาณห้าแสนล้านบาท และมีพนักงานทั้งสิ้นจำนวน 51,000 คน

สำหรับสื่อมวลชน และผู้ที่สนใจข่าวสารของทางอีเลคโทรลักซ์สามารถเข้าเยี่ยมชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.electrolux.co.th, และทาง http://newsroom.electrolux.com/th/

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข่าวประชาสัมพันธ์โปรดติดต่อ

คุณวรางคณา พวงศิริ / คุณพัชราภา กนิษฐานนท์

บริษัท สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด โทร 02 653-2717 ถึง 9

อีเมลล์ [email protected]/[email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net