กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ซี.ไอ. กรุ๊ป
CIG เปิดพันธมิตรใหม่ OMS จากประเทศจีน ร่วมกันพัฒนาคอยล์ (Coil) แอร์ชนิดใหม่ Microchannel Heat Exchanger และแต่งตั้งเป็น Exclusive Distributor ดูแลในตลาดอาเซียนทั้งหมด ยกเว้นจีน รวมทั้งตลาดยุโรป ระบุ ถือเป็นความท้าทายในเรื่องเครื่องปรับอากาศ ที่ต้องการนำมาทดแทนคอยล์รูปแบบเดิม เพราะประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายเพื่อการพาณิชย์ได้เร็วที่สุดประมาณปลายไตรมาส 4 หรืออย่างช้าประมาณต้นปี 2554 และช่วยเพิ่มยอดขายให้บริษัทประมาณ 20% ปัจจุบันได้มีการส่งทดสอบอย่างเป็นทางการกับลูกค้ารายใหญ่แล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
นายอารีย์ พุ่มเสนาะ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CIG กล่าวหลังเปิดตัวพันธมิตรใหม่จากประเทศจีน บริษัท ZHONGSHAN OMS INDUSTRIAL จำกัด หรือ OMS ว่า เป็นการเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างกัน ในโครงการคอยล์แอร์ชนิดใหม่ Microchannel Heat Exchanger Project และการแต่งตั้งให้เป็น Exclusive Distributor เพื่อดูแลในตลาดอาเซียนทั้งหมด ยกเว้นจีน รวมทั้งตลาดยุโรป และตลาดที่บริษัทมีสายสัมพันธ์ รวมไปถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมไปถึงการพัฒนาคอยล์ (Coil) แอร์ชนิดใหม่ คือ Microchannel
"เขาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศจีน จุดเริ่มต้นของธุรกิจเพื่อสนับสนุนธุรกิจยานยนต์ในประเทศจีนเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกถือว่ายังใหม่ หากไปศึกษาเพื่อให้ทราบถึงความต้องการของลูกค้า ประเภทลูกค้า คงต้องใช้เวลา และยังต้องตอบสนองลูกค้าเดิมอยู่ด้วย จึงทำให้โอกาสในการทำตลาดต่างประเทศค่อนข้างลำบาก ขณะที่ CIG ผลิตและจำหน่ายคอยล์มานานกว่า 30 ปี สิ่งที่เขามาร่วมมือกับเรา ถือว่าเป็นการเรียนลัด รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะทำร่วมกัน ถือเป็นประโยชน์สำหรับ OMS ด้วยเช่นกัน เพราะทำให้สามารถเจาะตลาดได้อย่างรวดเร็ว"
โครงการความร่วมมือคอยล์ชนิดใหม่ นี้เรียกว่า Microchannel Heat Exchanger Project หรือ โครงการเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนชนิดไมโครแชลแนล ถือเป็นนวัตกรรมที่ก้าวหน้าของคอยล์หรือเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มองไปถึงอนาคตกับนวัตกรรมใหม่ ถือเป็นความท้าทายในเรื่องเครื่องปรับอากาศ ที่ทาง CIG เชื่อว่าอนาคตจะสามารถพัฒนาเพื่อนำมาทดแทนคอยล์รูปแบบเดิมได้ มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเป็นอลูมิเนียมทั้งหมด ทำให้มีราคาถูกกว่าวัตถุดิบที่เป็นทองแดง แต่ราคาวัตถุดิบก็จะยังเคลื่อนไหวไปตามราคาตลาดโลกเช่นเดียวกัน
ขณะที่คุณสมบัติ จะทนความดันได้สูงกว่าของเดิม ป้องกันการเกิดการกัดกร่อนได้เป็นอย่างดี มีความแข็งแรง เนื่องจากเชื่อมด้วยโลหะผสมอะลูมิเนียม และทองเหลือง ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังมีขนาดเล็ก ทำให้ต้นทุนการบรรจุและจัดส่งลดลง ที่สำคัญคือ Microchannal ถูกนำไปใช้ในรถยนต์มากกว่า 20 ปี และประสบความสำเร็จมาโดยตลอด
"จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ เป็นการผลิตในลักษณะ In house คือทำใช้เองภายในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น นิปปอนเดนโซ่ ที่ผลิตแอร์รถยนต์ให้กับค่ายรถยนต์รายใหญ่ และโรงงานในจีนที่ร่วมมือกับ CIG ถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ที่ผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ ก็ยังมีกำลังการผลิตเหลือเพียงพอที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงต้องมองหาพันธมิตร ขณะเดียวกันชื่อเสียงของ CIG ก็โดดเด่นในฐานะผู้ผลิตคอยล์ ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของลูกค้ารายใหญ่ เช่น เทรน แคร์เรีย"
สำหรับมาตรฐานของ Microchannel Heat Exchanger ถือเป็นการตอบโจทย์ที่จะมีต่อไปในอนาคต ถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะเข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน ความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่การพัฒนาจะต้องคำนึงถึงต้นทุนด้านวัตถุดิบและพลังงานที่ใช้ให้น้อยลง ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจของ CIG ที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน และยังไม่มีพวกโลหะหนักประเภทสารตะกั่ว โครเมียม ปรอท แคดเมียม นอกจากนี้ยังใช้ปริมาณสารทำความเย็นลดลง ความดันอากาศต่ำกว่า ทำให้ลดเสียงรบกวน แต่ประสิทธิภาพสูง และถ่ายเทความร้อนได้ดี
"นอกเหนือจากมาตรฐานของ OMS ที่ได้รับแล้ว ความร่วมมือครั้งนี้ ในทุกกระบวนการผลิตยังต้องได้คุณภาพ และมาตรฐานที่ CIG กำหนด คาดว่ากระบวนการต่างๆ จากความร่วมมือในครั้งนี้จะแล้วเสร็จ สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายเพื่อการพาณิชย์ได้เร็วที่สุดคือประมาณปลายไตรมาส 4 หรืออย่างช้าประมาณต้นปี 2554 และคาดว่าจะส่งผลบวกต่อผลยอดขายของบริษัทประมาณ 20% จากยอดขายเดิม และปัจจุบันได้มีการส่งทดสอบอย่างเป็นทางการกับลูกรายใหญ่ๆ ของเราแล้วเชื่อว่าจะได้ข้อสรุปในไม่นานนี้"
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit