กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กระทรวงศึกษาธิการ
กำลังเป็นที่สนใจค่อนข้างมาก สำหรับการรื้อฟื้น “โครงการครูพันธุ์ใหม่” ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก “โครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี)” หรือครูพันธุ์ใหม่ ที่เคยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 เกิดอาการสะดุด เนื่องจากติดขัดปัญหาด้านงบประมาณ
โดยโครงการเดิมเกิดขึ้นในปีเดียวกันกับที่มีการเริ่มใช้หลักสูตรผลิตครูแบบใหม่ (หลักสูตร 5 ปี) หรือที่เรียกว่า “หลักสูตรครู 5 ปี” โดยรัฐจะให้ทุนการศึกษากับผู้ที่มีผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2.75 ขึ้นไป จำนวน 3 รุ่นๆ ละ 2,500 คน รวม 7,500 คน เมื่อเรียนจบแล้วมีหลักประกันว่าทุกคนจะได้บรรจุเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนของรัฐ
แต่หลังจากโครงการผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรี (หลักสูตร 5 ปี) เริ่มดำเนินการได้เพียง 1 รุ่น ก็ต้องหยุดชะงักไป เนื่องจากติดขัดในเรื่องงบประมาณ
กระทั่งในสมัยที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้หารือร่วมกับ รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขณะนั้นนั่งเป็นประธานคณะกรรมการวางแผนผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ศ.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อยู่ในช่วงนั้น เกี่ยวกับการสานต่อโครงการครูพันธุ์ใหม่ จนเป็นที่มาของ “โครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2552-2553” จำนวน 4,000 คน โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ สำหรับปีการศึกษา 2552-2553 ได้สรุปเกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษา และสถาบันที่จะเข้าร่วมโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่
ในส่วนของหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก “นักศึกษา” ที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่นั้น กำหนดให้นักศึกษาคณะครุศาสตร์ หรือคณะศึกษาศาสตร์ ที่จะร่วมโครงการ จะต้องเรียนอยู่ในชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย (GPAX) ไม่ต่ำกว่า 3.00 ต้องมีผลการเรียนในวิชาเอกสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 และต้องมีผลการเรียนในวิชาชีพครูสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 เช่นกัน
รวมทั้ง ต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์ มีบุคลิกดี มีจิตอาสา และเต็มใจปฏิบัติตามเงื่อนไขของการรับทุน ได้แก่ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ต้องบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือสถานศึกษาในสังกัดคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำหนด เป็นระยะเวลา 2 เท่าของเวลาที่รับทุน โดยจะต้องไม่ขอย้ายระหว่างที่ชดใช้ทุน
หากผู้รับทุนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็จะต้องใช้ทุนคืนเป็น 2 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมด!!
สำหรับจำนวนนักศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ในปีการศึกษา 2552-2553 แบ่งเป็น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 2,000 คน และนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 2,000 คน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะไม่ได้ให้เป็นทุนการศึกษา แต่จะมี “อัตราบรรจุ” ให้เมื่อสำเร็จการศึกษา
ส่วนหลักเกณฑ์คุณสมบัติ และการพิจารณาคัดเลือก “สถาบัน” ที่จะเข้าร่วมโครงการนั้น จะต้องเป็นสถาบันที่เปิดสอนสาขาครุศาสตร์ สาขาศึกษาศาสตร์ หรือสาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรม ในหลักสูตรที่โครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่กำหนด ได้แก่ หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี หรือประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ที่มีศักยภาพในการผลิตครูส่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ระดับคณะครุศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และหลักสูตรต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากคุรุสภา และ สกอ.
นอกจากนี้ ในการพิจารณาคัดเลือกสถาบัน จะพิจารณาจาก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ คุณภาพอาจารย์ประจำหลักสูตร คุณภาพอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตร และการบริหารจัดการและการพัฒนาคุณภาพ
ทั้งนี้ ในส่วนของคุณภาพอาจารย์ประจำหลักสูตร และคุณภาพอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตร จะต้องพิจารณาเรื่องคุณวุฒิสูงสุด ระดับตำแหน่งทางวิชาการ วุฒิตรงตามหลักสูตร ต้องมีผลงานทางวิชาการที่เป็นตำรา หรือหนังสือตามหลักสูตร และมีผลงานวิจัยที่พิมพ์เผยแพร่ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา รวมถึง การบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพ จะต้องดูคะแนนการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับคณะ ผลประเมินภายนอกของ สมศ.และต้องมีหอพัก
ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรายชื่อสถาบันฝ่ายผลิตโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2552 จำนวน 45 สถาบันไปแล้ว เพื่อที่จะคัดเลือกนักศึกษาคณะครุศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ รุ่นแรกที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 4 จำนวน 2,000 คน โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาในรุ่นแรก จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,867 คน และข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 133 คน ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติคืนอัตราเกษียณให้แก่ ศธ.แล้ว
ล่าสุด คณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและผู้รับทุนโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ที่มี ศ.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ เป็นประธาน ได้มอบหมายให้สถาบันฝ่ายผลิตทั้ง 45 แห่ง สอบสัมภาษณ์ผู้รับทุนในวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา และส่งผลการสอบสัมภาษณ์มายังคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและผู้รับทุนโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ในวันที่ 14 มิถุนายน จะทำให้ทราบกันในเร็วๆ นี้ ว่านักศึกษาที่เป็นผู้รับทุนในโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2552 มีใครกันบ้าง ซึ่ง ศ.สมหวังระบุว่า โครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ได้รับการตอบรับค่อนข้างมาก เพราะจากการประเมินโครงการของปีแรก พบว่า มีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนในคณะครุศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ เพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าตัว ที่สำคัญ ส่วนใหญ่มีผลการเรียนเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป
ประเด็นนี้ ทำให้ประธานคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและผู้รับทุนโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ เห็นว่า การดำเนินการโครงการน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยจะทำให้ “วิชาชีพครู” กลายเป็นวิชาชีพชั้นสูง และจะทำให้ “เงินเดือน” ของครู เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ส่วนการประกาศรายชื่อสถาบันฝ่ายผลิตโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2553 สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 2,000 คนนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและผู้รับทุนโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ได้เปิดโอกาสให้สถาบันผลิตครูทั่วประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ ให้ประเมินว่าแต่ละสถาบันมีความเชี่ยวชาญในการผลิตครูในด้านใดบ้าง โดยให้เสนอเรียงลำดับสาขาวิชาที่จะผลิตใน 3 วิชาเอก และสำรอง 2 วิชาเอก รวม 5 วิชาเอก เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกภายในวันที่ 14 มิถุนายน
นอกจากโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2552-2553 แล้ว ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554-2558 กระทรวงศึกษาธิการยังมีโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่อีก 30,000 คน โดยโครงการดังกล่าวจะให้ทั้งทุน และประกันการมีงานทำ
โดยเบื้องต้น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 4,235 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณในส่วนของทุนการศึกษา จำนวน 2,570 ล้านบาท งบประมาณดำเนินการอีก 1,413 ล้านบาท และงบประมาณบริหารโครงการ 215 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตอกย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่ ศธ.จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนา และเพิ่มศักยภาพของครูไทยให้เป็นครูพันธุ์ใหม่ คือ ผลการประเมินสมรรถนะครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษารายบุคคลทั่วประเทศ ตามโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ล่าสุดปรากฏว่าผลการประเมิน “ไม่น่าพอใจ” อย่างยิ่ง
เช่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครูผู้สอนเข้าประเมิน 13,385 คน ทำคะแนนได้ในกลุ่มสูง หรือคะแนน 80% ขึ้นไป จำนวน 7,260 คน คิดเป็น 54.24%, กลุ่มกลาง ทำคะแนนได้ 60-79% จำนวน 4,925 คน คิดเป็น 36.79% และกลุ่มต้น ทำคะแนนได้ต่ำกว่า 60% จำนวน 1,200 คน คิดเป็น 8.97%
เรื่องนี้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกังวลในเรื่องนี้มาก และมองว่าครูผู้สอน โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีความจำเป็นพิเศษที่ต้องพัฒนาให้มีความรู้ตรงกับกลุ่มสาระวิชาเอกที่สอน เพื่อให้ครูเกิดความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการสอน และให้นักเรียนผ่านสาระการเรียนรู้เกิน 50% ในทุกวิชา ซึ่งสอดรับกับโครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ที่ ศธ.กำลังขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาครูทั้งระบบ
โครงการนำร่องครูพันธุ์ใหม่ จึงนับว่าเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อผลิต พัฒนา เพิ่มศักยภาพ และยกระดับวิชาชีพของแม่พิมพ์ไทย ให้เป็น “ครูมืออาชีพ” ที่มีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการ มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาชีพ มีอุดมการณ์ และมีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่แท้จริง!!
นอกจากนี้ ยังสามารถดึงดูดให้ “คนเก่ง” และ “คนดี” มาเข้าเรียนครูเพิ่มมากขึ้น โดยผ่านกระบวนการผลิตที่เน้นการปฏิบัติ และการฝึกอบรมที่เข้มข้น ไม่ใช่แบบเดียวกับที่ผ่านมา ที่ผู้ที่ตัดสินใจเข้าเรียนครูเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร หรือเรียนอะไรก็ไม่ได้ จึงหันมาเรียนครูแทน จนทำให้เกิด “วิกฤต” ในวิชาชีพครูจนถึงทุกวันนี้
ทั้งยังสามารถผลิตครูให้สอดคล้องกับสาขาวิชาที่ขาดแคลน และพื้นที่ที่ต้องการใช้ครู แทนที่จะปล่อยปละละเลยให้สถาบันที่ผลิตครู ผลิตโดยไม่ได้ดูความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้เหมือนที่ผ่านๆ มา ที่สำคัญ มองเห็น “อนาคต” เมื่อเรียนจบแล้ว เพราะมีหลักประกันในการทำงาน โดยทุกคนจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็น “ข้าราชการครูฯ” ในทันที แทนที่จะต้องวิ่งแข่งขันเพื่อสอบบรรจุครูที่นั่นที่นี่ และหากสอบไม่ได้ ก็ต้อง “เตะฝุ่น” ไปพลางๆ ระหว่างหางานอื่นทำ
ฉะนั้น หากรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแรงร่วมใจผลักดัน “โครงการครูพันธุ์ใหม่” อย่างจริงจัง ก็ต้องจัดสรรงบประมาณให้อย่างเพียงพอ เร่งพัฒนาระบบ และกระบวนการผลิตของสถาบันอุดมศึกษาให้เข้มข้น
“ครูพันธุ์ใหม่” ก็จะกลายเป็นอีกตัวแปรสำคัญตัวแปรหนึ่ง ที่จะช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง และยังช่วยพลิกฟื้น “วิกฤต” ทางการศึกษาทั้งระบบ ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ ให้ผ่านพ้นไปได้!!
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit