กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--สวทช.
นักวิชาการเตือนชาวบ้านใช้วิจารณญาณในการขุดว่านจักจั่นมาบูชา เผยไม่ใช่ว่าน แต่เป็น “จักจั่นที่ตายจากการติดเชื้อรา” หรือที่เรียกว่า “ราแมลง” ย้ำไม่ควรนำมาบริโภคเด็ดขาด เพราะอาจมีพิษ หวั่นซ้ำรอยชาวบ้านจังหวัดร้อยเอ็ดที่เคยกินแล้วมีอาการ อาเจียน ท้องร่วงรุนแรง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อปีที่ผ่านมา
ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล นักวิจัยห้องปฏิบัติการราวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวถึงกรณีข่าวที่มีชาวบ้านจำนวนมากเริ่มออกมาขุดหา ว่านจักจั่น ในบริเวณป่าช้าวัดบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เนื่องจากเชื่อว่าเป็นเครื่องรางของขลังที่ช่วยให้มีโชคลาภว่า ว่านจักจั่นที่ชาวบ้านพยายามขุดนั้น เป็นจักจั่นที่ตายจากการติดเชื้อรา คาดว่าเป็นตัวอ่อนในช่วงที่กำลังจะขึ้นมาลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยบนพื้นดิน ซึ่งในระยะลอกคราบนี้ ร่างกายจักจั่นจะอ่อนแอ เมื่อเจอกับฝนตก และอากาศที่ชื้น จึงมีโอกาสติดเชื้อราแมลงที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติได้ง่าย กลายเป็นโรคและตายในที่สุด “หลังจากที่จักจั่นระยะตัวอ่อนเสียชีวิต เชื้อราจะแทงเส้นใยเข้าไปเจริญในตัวจักจั่นเพื่อดูดน้ำเลี้ยงเป็นอาหาร และเจริญเติบโตเป็นโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายเขาบริเวณหัว มีหน้าที่ในการสร้างสปอร์เพื่อแพร่พันธุ์เชื้อรา จึงทำให้ดูเหมือนว่าจักจั่นมีเขา มีแขน มีขา ซึ่งเราเรียกลักษณะที่เกิดขึ้นนี้ว่า ราแมลง ทั้งนี้จากการเก็บตัวอย่างจักจั่นที่มีการขุดค้นพบในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2552 มาตรวจสอบนั้นในเบื้องต้นพบว่าเป็นราที่อยู่ในสกุล คอร์ไดเซพ (Cordyceps sp.) ส่วนจะเป็นชนิดใดนั้นยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบทางพันธุกรรม”
ดร.สายัณห์ กล่าวว่า การนำว่านจักจั่นหรือราแมลงมาเก็บไว้กับตัว หากดูแลรักษาไว้ไม่ดีก็อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากราบนตัวจักจั่นที่ขุดขึ้นมาอาจยังมีชีวิตอยู่และสร้างสปอร์ได้ และแม้ว่าจะนำมาทำความสะอาด หรือใส่กรอบเหมือนกรอบพระ ก็อาจจะยังมีราหลงเหลืออยู่ เพราะว่าราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก อีกทั้งในช่วงนี้เป็นฤดูฝน อากาศมีความชื้นสูง ดังนั้นหากเก็บรักษาไม่ดี จะทำให้มีเชื้อราชนิดอื่นๆ มาเจริญเติบโตซ้ำได้อีก ซึ่งหากเป็นเชื้อราที่ก่อโรคในคนแล้วก็จะยิ่งเป็นอันตรายอย่างมาก
“ที่สำคัญคือห้ามนำมารับประทานโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะกินสด หรือนำมาต้มน้ำดื่ม ตามความเชื่อที่ว่าช่วยรักษาโรคได้ เพราะแม้จะยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่แน่ชัดว่ามีพิษหรือไม่ แต่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552 ได้มีรายงานพบว่า มีชาวบ้านจังหวัดร้อยเอ็ดนำว่านจักจั่นมาต้มน้ำรับประทาน ส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ อาเจียน และท้องร่วงอย่างรุนแรง จนต้องนำส่งโรงพยาบาล”
อย่างไรก็ดี ราแมลงไม่ได้พบแค่เฉพาะจักจั่นเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในแมลงทั่วไป เช่น หนอน ด้วง แมลงวัน มวน เพลี้ย ผีเสื้อ ปลวก แมงปอ และแมงมุม เป็นต้น ซึ่งชนิดของราที่พบก็จะแตกต่างกันไป จึงถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์หรือสิ่งแปลกประหลาด จึงอยากเตือนประชาชนให้ใช้วิจารณญาณ อย่าตกเป็นเหยื่อจากความเชื่อในครั้งนี้
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit