กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--สวช.
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเกศอัมรินทร์และมูลนิธิดุริยประณีต ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เปิดตัวโครงการประกวดร้อง-รำ-ทำเพลง "ตามหาเงาแม่สุดจิตต์ ดุริยประณีต (ศิลปินแห่งชาติ)" เพื่อส่งเสริมความสามารถของคนรุ่นใหม่ และสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทย โดยแรงบันดาลใจจากแม่สุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ บรมครูสายดนตรีไทย
นายพรหมฤทธิรงค์ มหัพพล กรรมการผู้จัดการ บจ.อาร์ตแอนด์คัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงที่มาของโครงการประกวดศิลปะการแสดงและดนตรีไทย (ร้อง-รำ-ทำเพลง) "ตามหาเงาแม่สุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ" ว่า “แม่สุดจิตต์ ดุริยประณีต เป็นปูชนียบุคคลของแวดวงดนตรีไทย ท่านมีความสามารถขับร้องเพลงไทยได้ทุกเพลง เล่นเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชิ้น จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติด้านคีตศิลป์และนาฏศิลป์ไทย ประเทศไทยจึงควรจะส่งเสริมบุคคลที่มากความสามารถดังเช่นแม่สุดจิตต์ เพื่อส่งเสริมการสืบทอดศิลปะการแสดงและดนตรีไทยให้คงอยู่กับสังคมวัฒนธรรมไทย จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ เพื่อค้นหาผู้ที่มีความเพียบพร้อมทั้งดนตรี คีตศิลป์ และนาฏศิลป์ ขณะเดียวกันก็มีคุณธรรมจริยธรรมดังเช่นแม่สุดจิตต์ ดุริยประณีต ซึ่งเป็นที่เคารพรักของคนทุกเพศทุกวัย”
ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติวัยเกือบ 83 ปี เปิดเผยความรู้สึกว่า “ ดีใจมากและชื่นใจที่ได้ทำในสิ่งที่รัก และมีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมไทย โดยการจัดโครงการประกวดศิลปะการแสดงและดนตรีไทย เพื่อช่วยขยายพื้นที่การแสดงออกให้บุคลากรในวงการนี้ ชีวิตครูอยู่กับวงการศิลปะการแสดงมาตั้งแต่เกิด มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนของศิลปะการแสดงไทย คนรุ่นใหม่สนใจศิลปะหลากหลาย ทำให้พื้นที่ดนตรีไทยลดน้อยลงโดยปริยาย”
"ชีวิตครูจึงพยายามรักษาและส่งเสริมการขยายดนตรีไทยสู่คนรุ่นใหม่เท่าที่จะทำได้ แต่ศักยภาพของครูมีจำกัด บ้านดุริยประณีตพื้นที่จำกัดไม่กว้างขวาง รองรับได้บางส่วน ปัจจุบันเปิดสอนวันละ 3 รอบ คือรอบเช้าสำหรับเด็กเล็ก รอบบ่ายโตขึ้นมาหน่อยเป็นเด็กประถม ส่วนรอบเย็นเหมาะกับนักศึกษาที่เล่นได้เก่งแล้ว การที่หหลายหน่วยงานมาช่วยกันทำให้คนรู้จักศิลปวัฒนธรรมไทยมากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ดี" ครูสุดจิตต์กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับโครงการประกวดครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการแสดงความสามารถสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านการร้อง-รำ-ทำเพลง แต่ก็ยากเหมือนกันที่คนคนหนึ่งจะทำได้ทั้ง 3 อย่าง ถ้าผู้เข้าประกวดมีความสามารถจริงจะเจริญรอยตามแม่ได้ และจะถือเป็นการค้นหาเพชรเม็ดงามในวงการศิลปะอีกด้วย
คุณสมบัติของผู้เข้าประกวด เล่นดนตรีเก่ง รำสวย ร้องเพลงเสียงไพเราะ ไม่ผิดเพี้ยน ต้องโดดเด่นทั้ง 3 อย่างถึงจะได้รับรางวัล การประกวดครั้งนี้จะช่วยพัฒนาวงการ เพราะตามสถาบันมีการเรียนการสอนดนตรีไทย คนรุ่นใหม่ที่เก่งจริงๆ จะสามารถก้าวเข้ามาเป็นดาวเด่นในวงการ และอาจจะเติบโตไปเป็นศิลปินแห่งชาติอย่างที่แม่ได้รับการยกย่องก็ได้ แต่จะเก่งดนตรีไทยได้อยู่ที่ขยันฝึกซ้อมนะ" ศิลปินแห่งชาติกล่าว พร้อมเชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนที่มีความสามารถด้านดนตรีไทยเข้าร่วมประกวด ไม่ใช่เพื่อเงินรางวัล แต่เพื่อช่วยอนุรักษ์ดนตรีไทยให้ยืนยาวต่อไปในโลกใบนี้
สำหรับหลักเกณฑ์การประกวด ผู้เข้าประกวดต้องมีความสามารถครบถ้วนทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ การขับร้องเพลงไทย (คีตศิลป์) จะต้องเลือกเพลงจากตัวอย่างเพลงที่กำหนด (เพลงพระราชนิพนธ์ 1 เพลง และเพลงจากชุดเพลงหวานตำนานรัก 1 เพลง) ซึ่งควรเลือกเพลงที่มีระดับเสียงที่เหมาะสมกับผู้ประกวดเอง
การแสดงรำไทย (นาฏศิลป์) ผู้เข้าประกวดสามารถเลือกการแสดงรำไทยตามความเหมาะสม โดยมีความยาวไม่เกิน 5 นาที และการแสดงดนตรีไทย (ดุริยางคศิลป์) จะเลือกบรรเลงโดยใช้เครื่องดนตรีไทยชนิดใดก็ได้ แต่ต้องเลือกบรรเลงเพลง 1 เพลงจากเพลงบังคับ ดังต่อไปนี้ ประเภทประชาชน เพลงสุรินทราหู นกขมิ้น สารถี ลาวแพน สุดสงวน พญาโศก กราวใน ประเภทเยาวชน เพลงเขมรโพธิสัตย์ 3 ชั้น แสนเสนาะ 3 ชั้น แสนสุดสวาท 3 ชั้น เทพนิมิตร 3 ชั้น และปลาทอง 3 ชั้น การประกวดแบ่งเป็นระดับเยาวชน อายุ 15-25 ปีและระดับประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป
ผู้ประกวดต้องบันทึกภาพและเสียงผลงานการแสดงที่จะส่งเข้าประกวดทั้งหมดลงในวีซีดีหรือดีวีดี แล้วส่งผลงานประกวดมาที่บ้านดุริยประณีต 83 ถนนลำพู (สามเสน 1) แขวงสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 หมดเขตส่งผลงานภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 กรณีส่งทางไปรษณีย์จะยึดตราประทับเป็นสำคัญ การประกวดมีค่าธรรมเนียมการสมัคร 300 บาท จะได้รับใบสมัครพร้อมซีดีรวม 2 แผ่น(ตัวอย่างเพลงพระราชนิพนธ์ และเพลงหวานตำนานรัก) โดยจะประกาศผลผู้ผ่านรอบแรกในวันที่ 20 กรกฎาคมศกนี้ และประกวดรอบสองที่สวนสันติไชยปราการ ในวันที่ 24-25 กรกฎาคมนี้
รางวัลการประกวดมีดังนี้ ระดับประชาชน รางวัลชนะเลิศเป็นเงินสด 100,000 บาท รองอันดับ 2 เงินสด 30,000 บาท รางวัลชมเชยรวม 3 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท ระดับเยาวชน รางวัลชนะเลิศเป็นเงินสด 50,000 บาท รองอันดับ 1 เงินสด 30,000 บาท รองอันดับ 2 เงินสด 10,000 บาท รางวัลชมเชยรวม 3 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท โดยรอบชิงชนะเลิศผู้เข้าประกวดที่ผ่านคัดเลือกแต่ละประเภท จะแสดงความสามารถต่อหน้าคณะกรรมการและผู้ชมระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคม 2553 ในงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีไทยนานาชาติ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2282-1006 หรือดาวน์โหลดใบสมัคร ที่ www.artandcultureinter.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit