งานของคนรักหนังที่เปิดพื้นทีใหม่ เชื่อมประสานท้องถิ่นและชุมชนสู่สากลผ่านภาพยนตร์กว่า 50 เรื่องจากทั่วโลก

30 Sep 2010

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติดอยสะเก็ด

จากแนวคิดที่ว่าการชมภาพยนตร์ในอดีต เคยเป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่งที่ผู้คนในสังคมหรือชุมชนมีร่วมกัน แต่ในปัจจุบัน การชมภาพยนตร์ กลายเป็นกิจกรรมเฉพาะตัว และเป็นเรื่องส่วนบุคคล รูปแบบของภาพยนตร์ และจำนวนของภาพยนตร์ที่ถูกสร้างเพิ่มมากขึ้นนั้น เพิ่มโอกาสในการเลือกชมของผู้ชมได้จริง แต่กลับลดโอกาสในการสื่อสารของผู้คนในสังคม จนในบางครั้ง ภาพยนตร์กลับกลายเป็นตัวชี้ วัด ในการแบ่งแยกของผู้คนในสังคม ซึ่งนั่นน่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่น่าเสียดายยิ่ง หากมันเกิดมาจากเหตุผลที่สำคัญขั้นต้นคือ “ความต้องการที่จะสื่อสาร” ของคนในสังคม

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติดอยสะเก็ด ( Doi Saket International Film Festival หรือ DSIFF ) มีเป้าหมายว่าจะเป็นต้นแบบที่เปิดโอกาสให้งานภาพยนตร์ และศิลปินได้สื่อสารกับผู้คนในท้องถิ่น โดยไม่ได้นำรูปแบบของการฉายในโรงภาพยนตร์แบบดั้งเดิมมาเป็นข้อจำกัด ซึ่งมีผลโดยตรงทั้งในเรื่องของโอกาสในการเข้าชมและวิธีการสื่อสารระหว่างศิลปิน กับชุมชน

ปฐวี วิรานุวัตร ผู้อำนวยการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้กล่าวว่า “ถ้าจะกล่าวถึงเมืองไทย หลายคนมักพูดว่างานภาพยนตร์นอกกระแส หรือภาพยนตร์อิสระ ไม่เหมาะกับคนไทย แต่สิ่งที่พวกเราอาจลืมไปก็คือคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย ไม่มีเงินมากพอที่จะเดินทางไปชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ ช่องว่างของการสื่อสารจึงเกิดขึ้น ตัวศิลปินเอง ก็ขาดโอกาสที่จะนำงานของตนไปสู่ชุมชนที่ห่างไกล”

งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติดอยสะเก็ดครั้งที่ 1 ซึ่งมีกำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ 23 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ในบริเวณต่าง ๆ ที่อำเภอดอยสะเก็ด และบางส่วนในตัวเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา เด็ก ๆ และเยาวชน ผู้คนในชุมชน รวมถึงผู้ที่สนใจ มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ หลากหลายรูปแบบ ทั้งจากประเทศไทย และต่างประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

กิจกรรมหลัก นอกจากจะมีการฉายหนังจากกว่า 20 ประเทศแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนา และโปรแกรมภาพยนตร์พิเศษ อาทิเช่น เสวนาในหัวข้อ “เสรีภาพของการสื่อสารในสังคมไทย” ( Freedom of Expression in Thailand ) และยังมีโปรแกรมพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมของเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพครั้งที่ 7 ปี 2552 ( CalArts Shorts : Portrait Documentaries from Woman’s Perspective )

นอกจากนั้นยังมีการมอบรางวัลภาพยนตร์ในสาขาต่าง ๆ Best Film, Best Director, Best Cinematography, Best Production Design, Best Editing, Best Actor ให้กับภาพยนตร์ที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการของเทศกาล และยังมีการมอบรางวัล LifeTime Achievement Award สำหรับผู้ทำคุณประโยชน์ในวงการภาพยนตร์ ที่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งในปีนี้ ทางเทศกาลขอมอบรางวัลดังกล่าวแก่บุคคล 2 ท่าน คือ คุณโดม สุขวงศ์ ผู้ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อก่อตั้ง “หอภาพยนตร์แห่งชาติ” และอีกท่าน คือ คุณสิทธิพงษ์ กลยาณี ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการของ Images Asia Inc. นักสร้างภาพยนตร์และนักต่อสู้เพื่อสันติภาพ ซึ่งได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา

รายละเอียดของงานจะมีเพิ่มเติมในงานแถลงข่าว ที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปลายเดือนกันยายนและต้นเดือนตุลาคมนี้ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติดอยสะเก็ดได้ที่ http://dsiff.tumblr.com

ลงทะเบียนสื่อมวลชน

คุณ อัจฉรียา สายศิลป์ / Public Relation Manager

อีเมล: [email protected] โทรศัพท์: 081-7168779

ข้อมูลทั่วไป

อีเมล: [email protected] โทรศัพท์: 084-4383405

ที่อยู่ติดต่อทางไปรษีย์

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติดอยสะเก็ด ตู้ ปณ. 30 ปณฝ. สามแยกสวนปรุง เชียงใหม่ ประเทศไทย 50201 โทร 084-4383405 )