กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--M.O.Chic
กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มุ่งพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทย เปิดตัว “สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง” (THAIST) หวังช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจและประเทศให้ยั่งยืนและเป็นศูนย์กลางประสานงานและสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทำงานร่วมกันอย่างมีบูรณาการ รวมทั้งผลักดันให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาของไทยในอนาคต เดินหน้าต่อยอดโครงการพัฒนาของสถาบันฯ ด้วยการจัดลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง 3 ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมระบบราง อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางล้อและการออกแบบเพื่อนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับทั้ง 3 อุตสาหกรรมของไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ
ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานการเปิดตัวสถาบันอย่างเป็นทางการ กล่าวว่า “ส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน (Sustainable development) นั่นคือ การสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ปัจจัยที่เป็นตัวช่วยสำคัญ คือ ความสามารถของประเทศในการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้เพิ่มผลิตภาพและสร้างนวัตกรรมในภาคการผลิตและบริการ ซึ่งถ้ามองในภาพรวมของไทยแล้วสถานภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคงมากนัก โดยมีสาเหตุมาจาก 1) การขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพในด้านการวิจัยและพัฒนา 2) งบประมาณที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาของประเทศยังมีไม่เพียงพอ และ 3) การพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนายังขาดความมีบูรณาการ ทั้งในเชิงสถาบัน หัวข้อการวิจัย การต่อยอดงานวิจัย การเชื่อมโยงระหว่างผู้วิจัยกับภาคการผลิตและบริการ ตลอดจนการรองรับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ดังนั้นพระราชบัญญัติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2551 มาตราที่ 29 จึงกำหนดให้มี “สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง” (THAIST) ขึ้นภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย อันก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”
สำหรับรายละเอียด บทบาทหน้าที่ และขอบข่ายการดำเนินงานของสถาบันฯ ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “ สถาบันมีหน้าที่ 1) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยให้มีคุณภาพ และเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ 2) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศ กับสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาต่างประเทศ ในการวิจัยและพัฒนาหรือการจัดการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยให้สถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษานั้นเข้าร่วมเป็นสถาบันเครือข่ายของสถาบัน และสร้างกลุ่มสถาบันเครือข่ายในการดำเนินโครงการหรือหลักสูตรร่วมกัน โดยเน้นโครงการหรือหลักสูตรซึ่งมีการวิจัยและพัฒนาที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในภาคการผลิตและบริการ หรือปัญหาอื่นที่กลุ่มสถาบันเครือข่ายมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ 3) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางเพื่อนำสถาบันเครือข่ายหรือกลุ่มสถาบันเครือข่ายไปสู่การยอมรับในระดับสากล 4) เพื่อดำเนินการให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาในประเทศและต่างประเทศ 5) เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาหรือผลการศึกษาในกลุ่มสถาบันเครือข่าย และส่งเสริมให้มีการนำผลการศึกษานั้นไปใช้ประโยชน์ในการสร้าง นวัตกรรมและในอุตสาหรรมอย่างเหมาะสม และ 6) เพื่อเสนอชื่อสถาบันหรือสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสถาบันเครือข่าย หรือกลุ่มสถาบันเครือข่าย”
“ทั้งนี้สำหรับในปีนี้สถาบันมีโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทย นั่นคือ 1) การพัฒนา อุตสากรรมผลิตภัณฑ์ยางล้อ เนื่องจากไทยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางล้อมากที่สุด คือร้อยละ 43 ทั้งนี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรระดับสูงและเครือข่ายเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมีการตั้งเป็นเครือข่ายที่ชื่อว่า Tire Academy of Thailand (TiAT) เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตในอุตสาหกรรมยางล้อในระยะปัจจุบันถึง 5 ปีข้างหน้า โดยเครือข่ายเชี่ยวชาญที่เสนอจะตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหรรมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการจัดการความรู้ ด้านการพัฒนาความรู้บุคลากร เป็นต้น โดย สวทน. จะทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้จัดการโครงการและเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานหลักนั่นเอง 2) การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง เนื่องจากทางรัฐเล็งเห็นว่าการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในระยะ 20 ปีข้างหน้าของประเทศไทยเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และมีมูลค่าสูงมากมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกกรมเกี่ยวเนื่อง และเกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สวทน. จึงมีการพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพให้สามารถรองรับการเดินรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ในปัจจุบันและการเปิดสายใหม่ในอีก 6 ปีข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางการสร้างและพัฒนาในรูปแบบต่างๆ คือ ระบบสหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นการฝึกงานของนักศึกษาปี 3 หรือปี 4 ในภาคอุตสาหกรรมจริงเป็นระยะเวลา 1-2 ภาคการศึกษา หลักสูตรการพัฒนาช่างเทคนิค (Technician Education and Training) สวทน. จะเป็นผู้ประสานให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการและผู้ประกอบการเดินรถรวมทั้งบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี ให้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและการจัดการการเรียนการสอนในลักษณะทักษะวิศวกรรมให้มีประสิทธิภาพ และ 3) การพัฒนาการออกแบบเพื่อนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยประสบปัญหาหลักในการพึ่งพาตัวเองในส่วนการออกแบบสินค้าหรือเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการขาดองค์ความรู้และบุคลากร สวทน. จึงได้ดำเนินการสำรวจความต้องการและความพร้อมในการใช้ความรู้จากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงในการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ การนำไปประยุกต์ใช้งาน และการสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ของภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้น อุตสาหกรรมที่มีตราสินค้าของตนเอง (Own Brand Manufacturer : OBM) อุตสาหรรมที่มีการออกแบบของตนเอง (Own Design Manufacturer : ODM) และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องรับจ้างผลิต (Own Equipment Manufacturer : OEM) โดยมีเป้าหมายในการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายความรู้ด้านการออกแบบเพื่อการผลิตเชิงนวัตกรรม ซึ่งกำหนดเป็นแผนกลยุทธ์และแผนปฎิบัติการในระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้แผนดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เรียกว่า “นักนวัตอุตสาหกรรม” และจะทำให้การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการออกแบบและการผลิตของไทยอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันในเวทีสากลได้ โดยจากการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้ง 3 ระบบที่กล่าวไปข้างต้นทางสถาบันจึงได้จัดให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจและความร่วมมือขึ้นอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อพัฒนาความรู้และความสามารถใน 3 อุตสาหกรรมให้แก่บุคลากร ในภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง”
“สำหรับการเปิดตัว “สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง” (THAIST) ในครั้งนี้ ทางสถาบันคาดหวังว่าจะทำให้การพัฒนาประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นไปในทิศทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสามารถทำให้สถาบันและกลุ่มเครือข่ายทำงานร่วมกันได้อย่างมีบูรณาการ และตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศได้ตรงตามวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน” ดร.พิเชฐ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-512-5848 M.O.Chic
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit