กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย
ครม.ไฟเขียว อนุมัติหลักการร่างพรบ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ผอ.สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มช. เชื่อมีภาษีมลพิษ ช่วยคนจน ลดความเหลื่อมล้ำ ด้าน “ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์” ชี้จะเป็นเครื่องมือหารายได้ ลุ้นอีก หวังกม.นี้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ถึงกรณีที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)มาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ว่า รู้สึกดีใจ เวลานี้ไทยเกือบจะเป็นประเทศสุดท้าย ที่มีนโยบายจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันหนึ่งหากไม่ทำ อาจต้องไปดูงานที่ประเทศเวียดนาม ในทวีปเอเชียเวลานี้เหลือเพียงไทย เขมร พม่า ลาว เท่านั้นที่ยังไม่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมีนโยบายผู้ก่อมลพิษ เป็นผู้จ่ายที่แท้จริง แต่กว่า 10 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีใครจ่ายหรือจ่ายเพียงเล็กน้อย เช่น ค่าขยะ ก็ยังส่งผ่านไปให้คนอื่นหรือสังคม
“นับเป็นฤกษ์ดี แต่คงต้องรอให้ไปผ่านกฤษฎีกา และผ่านสภาฯ อีก ต้องใช้เวลาอีกยาวนานมากหากผลักดันสำเร็จได้จริง เชื่อว่า ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นจะทำให้คนที่ผลักภาระไปสู่สังคมรับต้นทุนไม่ได้ ไม่เฉพาะผู้ผลิตเท่านั้น แต่หมายถึงผู้บริโภคด้วย เพราะผู้บริโภค คือ ผู้ต้องการสินค้า แต่ผ่านผู้ผลิต เพราะฉะนั้น เมื่อทำตรงนี้อาจทำให้ต้นทุนสินค้าแพงขึ้น แต่ว่าคุณก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ให้สังคมมารับผิดชอบ เป็นผลดีอันหนึ่ง เมื่อคนเราจะตัดสินใจผลิตอะไร หรือซื้ออะไร ก็ต้องตัดสินใจ คำนึงถึงต้นทุน ดูเรื่องเทคโนโลยี ตัดสินใจซื้อสินค้า บริโภคให้เหมาะสม”
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจว่าเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่เป็นกฎหมายแม่ ที่จะคุมพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) อีกหลายตัวด้วยกัน ทั้งนี้จะมี พ.ร.ฎ.ตัวอื่นตามออกมาอีก เช่น พ.ร.ฎ.บรรจุภัณฑ์ , ภาษีท่องเที่ยว ก็ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ หรือส่วนที่เขียนเรียบร้อยแล้ว คือ ภาษีมลพิษน้ำ และภาษีมลพิษอากาศ ซึ่งทุกอย่างจะเรียบร้อย ต้องคอยอีกสักนิด กว่าจะเข้าสู่สภา ซึ่งโดยท้ายที่สุด จากกฎหมายนี้ จะมี พ.ร.ฎ.ตามมากว่า 10-20 ตัว
“นอกจากนั้น ส่วนอื่นๆ ที่กำลังรอจังหวะ คือ พ.ร.บ. การจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากยานยนต์ ได้ทำให้กระทรวงการคลังเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้เขียน พ.ร.ฎ. ซึ่งต้องให้กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งภาษีการปล่อยคาร์บอนของเชื้อเพลิง ที่ส่งผลกระทบสู่วงกว้าง ทางทีมงานก็เตรียมผลักเช่นเดียวกัน ฉะนั้น การจะพิจารณาเรื่องภาษี ต้องระวังมาก ต้องวิเคราะห์ว่า เก็บภาษีแล้วใครจะมีปัญหามากที่สุด ต้องคำนึงว่าไปลงโทษผู้ก่อให้เกิดมลพิษ แต่ไม่ลงโทษคนขยันที่ทำงาน”
สำหรับครม.อนุมัติหลักการที่จะให้มีกฎหมายมาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่กระทรวงการคลังเห็นการณ์ไกลสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และอยากให้ทุกฝ่ายดูเรื่องเศรษฐกิจด้วย ให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเศรษฐกิจ จากเดิมที่ไม่มีใครสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องรอจนโรงงานเปิดไม่ได้ ปล่อยดินพอกหางหมู ดังนั้นอยากให้ช่วยเชียร์ว่า ต้องรีบจัดการให้ผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้จ่าย ส่วนคนขยันทำงานไม่ต้องเก็บ แต่มาเก็บภาษีมลพิษแทน จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้ผลิต ว่าจะทำอะไรมีต้นทุนเท่าไร ไม่ต้องคิดเผื่อคนอื่น แต่คิดว่าตนเองต้องจ่ายเท่าไร ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาทรัพยากรได้
“เราใช้มาตรการทางสังคมเปลี่ยนจิตสำนึก ไม่พอ ต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจ ต้องทำให้มนุษย์กลัวเงินที่จะออกจากกระเป๋า เชื่อว่า จะทำให้เป็นคนดีขึ้น ซึ่งมาตรการต้องมี 3 อย่างด้วยกัน คือ มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ , มาตรการทางสังคม และมาตรการทางกฎหมาย ที่ผ่านมา มาตรการทางกฎหมาย ส่วนใหญ่มาใช้ก็สายเสียแล้ว อย่างมาบตาพุด กว่าจะจับได้ เป็นต้น”
ผอ.สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มช. กล่าวด้วยว่า การมีภาษีมลพิษ เป็นการช่วยคนจน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเดิม เราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ มักพูดถึงเรื่องเงิน แต่ลืมมองว่าเรื่องคุณภาพชีวิตยังมีโรคภัยไข้เจ็บ เพราะหากไม่ป้องกันที่ต้นทาง ผลสุดท้ายก็จะไปตกอยู่ในมือของคนที่จนที่สุดในประเทศได้
"ทั้งนี้ ตนอยากบอกว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมเดิม ที่เคยออกในปี พ.ศ. 2535 และ สิ่งสำคัญมากกว่านั้น คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ควรเป็นเรื่องแรกที่จะปฏิรูป ที่ทำได้เลย ไม่ต้องรออีก 2 ปี ไม่ต้องรอคณะกรรมการ เพราะในระดับผู้ปฏิบัติการสามารถดำเนินการได้เลย"
ด้าน ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือหารายได้เพื่อช่วยจัดการสิ่งแวดล้อม เพราะจะไปเพิ่มความเข้มแข็งของกองทุนสิ่งแวดล้อมให้สามารถยั่งยืนต่อได้ด้วยตัวเอง เพราะเป็นการเก็บรายได้จากภาษีหลายตัว อาทิ ทั้งการเก็บซื้อคืน เก็บจากการรีไซเคิล อีกประการหนึ่ง คือ จะเป็นระบบที่มีคนทำงานทุกระดับอยู่ด้วยกัน ทั้งระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค พื้นที่ย่อยต่างๆจะมารวมตัวกัน เป็นกลุ่มเดียว
“ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีภาษีตัวใหม่ได้แล้ว เพราะเดิมนั้น รัฐบาลเป็นผู้ต้องจ่ายเพียงฝ่ายเดียวมาโดยตลอด โดยเฉพาะในรัฐบาลชุดนี้ ที่มีการใช้จ่ายงบประมาณมาก จริงๆ แล้ว อยากจะให้รัฐบาลดำเนินการเร็วกว่านี้ เพราะไม่รู้มัวทำอะไรอยู่ แม้ว่าเงินจากภาษีตัวนี้จะไม่ใช่ภาษีที่มีรายได้เข้าเยอะมาก แต่เมื่อคำนวณแล้วจะมากพอสำหรับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยไม่รองบประมาณส่วนอื่น แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่รู้ว่า ยังต้องรออีกนานแค่ไหนจึงจะได้เห็นผลบังคับใช้อย่างชัดเจน”
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 13.00 น. (12 ต.ค. 53) ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมครม. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ครม.อนุมัติหลักการที่จะให้มีกฎหมายมาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกฎหมายให้โอกาสให้รัฐบาลมีเครื่องมือด้านการคลัง ไม่ว่าจะเป็น ภาษีค่าธรรมเนียม และมาตรการจูงใจต่างๆ ในการที่จะช่วยดูแลในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตามร่างที่กระทรวงคลังเสนอมายังขาดบางส่วน เช่น เรื่องมาตรการภาษีในการจูงใจในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงได้ขอไปเพิ่มในส่วนนี้ และให้ดูแลเกี่ยวกับกลไกที่เกิดขึ้นตามกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของคณะกรรมการและตัวกองทุน
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ได้มอบหมายให้ทางกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุขไปปรับปรุงและเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อนส่งสภาพิจารณาต่อไป
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit