กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ชมรมโภชนวิทยามหิดล
เมื่อเห็นธงสีเหลืองปักเรียงรายเป็นทิวแถวตามร้านอาหารต่างๆ หลายคนก็จะรู้ทันทีว่าถึงเวลาของเทศกาลกินเจแล้ว ปีนี้ตรงกับวันที่ 8-16 ตุลาคม 53 ปัจจุบันการกินเจได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มคนทั่วไป รวมถึงหนุ่มสาวยุคใหม่ต่างก็หันมากินเจกันมากขึ้น
ข้อมูลจาก อ.อรุณศรี ตั้งวงศ์วิวัฒนา ชมรมโภชนวิทยามหิดล ระบุว่า ในอดีต เมื่อถึงเทศกาลกินเจ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงอาหารประเภทแป้ง เช่น หมี่กึงซึ่งเป็นแป้งที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ ส่วนใหญ่นำไป ต้ม ทอด หรือปรุงด้วยน้ำมันปริมาณมาก และเป็นอาหารที่มีพลังงานสูง เสี่ยงต่อความอ้วนที่จะตามมา หลังหมดเทศกาลกินเจ
สำหรับสาวยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน การรับประทานอาหารเจแต่ละมื้อนั้นต้องมีครบทั้ง 5 หมู่ตามหลักโภชนาการเพื่อให้ได้คุณค่าทางอาหารสูงที่สุด และการกินอาหารเจเพื่อสุขภาพที่ดีนั้น ควรอุดมไปด้วยอาหารจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ เพราะอาหารธรรมชาติเหล่านี้ล้วนแต่มีคุณค่าและสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป ควรเลือกวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้เหมาะสม เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่หลากหลาย รู้จักเลือกผลิตภัณฑ์จากอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนจากพืชเป็นส่วนประกอบ และสามารถทดแทนเนื้อสัตว์ได้ เช่น ถั่วเหลือง และเต้าหู้
นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ควรเลือกรับประทานอาหารธรรมชาติที่ให้แคลเซียมสูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระเป็นส่วนประกอบด้วย เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการเกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหัวใจ และโรคมะเร็งแล้ว ยังมีส่วนช่วยในเรื่องการต่อต้านริ้วรอย ช่วยคงความอ่อนเยาว์ให้เราอีกด้วย ซึ่งอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเป็นส่วนประกอบนั้น เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากเลยในบ้านเรา เพราะมีมากในผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ
โดยเฉพาะธัญพืช จะเห็นว่าในระยะหลังๆ นี้ ธัญพืชได้กลายเป็นอาหารยอดนิยมสำหรับคนไทยไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงเทศการกินเจเท่านั้น ธัญพืชที่นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารเจก็คือ “งาดำ” อาหารเจส่วนใหญ่ มักจะมีงาดำเป็นส่วนประกอบ เพราะเป็นธัญพืชที่ให้คุณประโยชน์มากมาย มีแคลเซียมสูงกว่านมวัวถึง 6 เท่า ช่วยในการบำรุงกระดูก และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ได้จากวิตามินซี และอี ช่วยบำรุงผิวพรรณให้คงความอ่อนเยาว์ นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุต่างๆ อีกมากมาย ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้น เพื่อให้ในร่างกายของเราได้รับสารต้านอนุมูลอิสระมากๆ ในอาหาร 1 จาน จะต้องมีปริมาณของผัก ผลไม้ และธัญพืชครึ่งหนึ่ง ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นอาหารหมวดอื่นๆ อ.อรุณศรี ตั้งวงศ์วิวัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักของการกินเจส่วนใหญ่แล้วจะนิยมถือศีลไปพร้อมกับการกินเจไปด้วย โดยอาหารเจเป็นอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ทั้งปวง รวมไปถึงที่เป็นส่วนผสมอยู่ในเครื่องปรุงต่างๆ ด้วย อีกทั้งยังรวมไปถึงพืชผักที่มีกลิ่นฉุนรุนแรง 5ประเภทด้วยกัน คือ หัวหอม หัวกระเทียม กุยช่าย ใบยาสูบ และหลักเกียว เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นส่วนในการกระตุ้นจิตใจอารมณ์ให้หงุดหงิด เร่าร้อน และอวัยวะภายในร่างกายทำงานไม่เป็นปกติ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เผ็ดจัด เค็มจัด หวานจัด รวมทั้งอาหารที่มีมันจัดด้วย
ปัจจุบันอาหารเจมีให้เลือกรับประทานมากมายกว่าแต่ก่อน ทั้งอาหารปรุงสด และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพราะฉะนั้นการจะเลือกกินเจให้อร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ต้องรู้จักกินอาหารให้ครบหมวดหมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกอาหารจากแหล่งธรรมชาติ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้งและไขมันสูง ในการปรุงอาหารควรเน้นการ ต้ม นึ่ง อบ หรือย่าง และหลีกเลี่ยงการใช้ไขมันอิ่มตัว และอาหารที่มีไขมันมากในการปรุงอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มผักที่มีสีสัน เช่น แครอท เห็ดต่างๆ หรือถั่วลันเตา เพื่อให้อาหารเจดูมีสีสันที่น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น เพราะสำหรับคนยุคใหม่แล้ว สีสัน และความสวยงามของอาหาร ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น เท่านี้ก็กินเจได้อย่างสบายใจแล้ว อีกทั้งยังได้ชำระจิตใจให้สะอาดอีกด้วย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit