กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สหมงคลฟิล์ม
Q. ก่อนอื่นอยากให้ช่วยแนะนำและเล่าประวัติความเป็นมาของตัวเอง
สุรวัฒน์: ผมเอก สุรวัฒน์ ชูผล ในโปรเจ็คต์น้ำตาลแดง2 กำกับเรื่อง หลุมพราง ครับ ผมเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มหาวิทยาลัยรังสิต ช่วงเรียนก็จะมีผลงานหนังสั้นตลอดครับ ทุกเรื่องทำหน้าที่กำกับ หนังสั้นเรื่องแรกที่ได้ทำเป็นวิชาการกำ กับภาพยนตร์, หนังสั้น 10 Shots, การตัดต่อภาพยนตร์ และการใช้กล้องฟิล์ม จนมาได้ทำวิชาการผลิตภาพยนตร์แบบสมบูรณ์แบบจริงๆ เมื่อตอนขึ้นปี 3 หนังสั้นเรื่องแรกชื่อว่า “กระเป๋าสตางค์” ปีประมาณ 2547 ต่อมาปี 2548 ทำหนังสั้นเรื่อง “บุรุษไปรณีย์” ส่งเข้าประกวดกับมูลนิธิหนังไทยในสาขาการถ่ายภาพยอดเยี่ยม (Finalist Kodak Competition Film School) แม้สุดท้ายจะได้เพียงการฉายโชว์เท่านั้นแต่ก็ถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง อีกราวสองปีกับผลงานหนังสั้นถึงสองเรื่องในปีเดียวกัน (2550) เรื่องแรก “ก้อนเมฆสีขาว” เป็นโครงการของที่คณะเองที่อยากให้นักศึกษาภาพยนตร์ทุกชั้นปีได้ทำหนังร่วมกัน และสาขาออกเงินทุนให้ชื่อโครงการว่า ภาพยนตร์ต้นแบบ อีกหนึ่งเรื่องที่ออกเงินทำเองกับเพื่อนราวหกคนนั่นคือหนังสั้นเรื่อง “ความ(น่า)เชื่อ” เป็นภาพยนตร์Thesis ทั้งสองเรื่องถ่ายด้วยฟิล์ม 35 เป็นโปรเจ็คต์ที่แพงมาก ทั้งสองเรื่องส่งประกวดพร้อมกัน ในสาขาช้างเผือก และถ่ายภาพยอดเยี่ยม (Finalist Kodak Competition Film School) เรื่องแรกได้รางวัลพิราบขาว(ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมสันติภาพ)มูลนิธิ 14 ตุลา เรื่องที่สอง งานปริญญานิพนธ์อันเป็นที่สุดแห่งความตั้งใจ “ความ(น่า)เชื่อ” เป็นหนังขาวดำ เป็นหนังที่มีนัยยะทางการเมือง ถ่ายทอดผ่านหมู่บ้านในชนบทไกลปืนเที่ยงที่เมื่อฤดูการเลือกตั้งมาถึงความหวังก็เกิดขึ้น ตัวหนังคว้ารางวัลชมเชยช้างเผือก และ Finalist Kodak Competition Film School (ฉายโชว์) หนังสั้นเรื่องนี้ยังเข้ารอบ 6 เรื่องของ Young Thai Artist Award 2007 และเมื่อเรียนจบผมก็ได้ทำงานในวงการโฆษณา ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับ สลับกับทำงานถ่ายและตัดต่อเป็นงานเทคนิคเชี่ยน แคสติ้ง และก็คิดว่าความตั้งใจแรกที่เรียนภาพยนตร์ เราเรียนเพราะว่าชอบไม่ได้เรียนเพราะว่ามันเท่ห์ จึงได้คุยกับเพื่อนที่ยังติดต่อกันอยู่เพื่อหาโอกาสทำหนังร่วมกัน ในที่สุดก็ได้รวมตัวกันครับ
Q.ความเป็นมาของโปรเจ็คต์ภาพยนตร์อิโรติก
สุรวัฒน์: แรกเริ่มเดิมทีการรวมตัวกันโดยส่วนใหญ่เป็นเพื่อนสถาบันเดียวกันทั้งนั้น อย่างที่ว่าคนหลายคนก็ต้องมีการจัดระเบียบความคิด มีการโต้แย้งกันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องของ "เรื่อง" ที่เราจะทำกัน ในตอนนั้นเอม (กำกับ “ปรารถนา”) เสนอมาว่า เธอกำลังสนใจเรื่องพิ้งค์ฟิล์ม (Pink Films: เป็นรูปแบบของซอฟต์คอหนังญี่ปุ่นลามกเปลือยเห็นบางส่วน หนังประเภทนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในต้นปี 1960s, และยาวเรื่อยมาจนถึงช่วงยุคกลาง 1980s, ในปี 1970s พิ้งค์ฟิล์มส่วนใหญ่ผลิตโดยสตูดิโออิสระเล็กๆ ส่วนสตูดิโอใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นต้องทนสูญเสียของผู้ชมละครของพวกเขาให้กับพิ้งฟิล์มไป ด้วยการเข้าถึงคุณภาพการผลิต และนักแสดง บางเรื่องเหล่านี้ประสบความสำเร็จและเป็นที่นิยมอย่างมาก แม้ว่าการเกิดลักษณะของหนังอย่าง AV (adult video หนังสำหรับผู้ใหญ่) จะสามารถดึงผู้ชมส่วนใหญ่ของผู้ชมพิ้งค์ฟิล์มในยุค 1980s ไปก็ตาม, ภาพยนตร์ในประเภทนี้ก็ยังคงถูกผลิตอยู่เรื่อยมา)
ซึ่งเรื่องนี้เคยเห็นเอมเอาข้อมูลที่นิตยสารหนังฉบับหนึ่งเคยทำเป็นสกู๊ปพิเศษขึ้นมาดูกัน แล้วหลายๆ เสียงก็สอดรับว่าน่าสนใจ และยังเป็นการท้าทายต่อการทำหนังแนวนี้ให้ออกมาเป็นในรูปแบบที่เราถนัดและสนใจอีกด้วย ช่วงนั้นตอนที่คุยโปรเจ็คต์กันราวเดือนกุมภาปี 52 เริ่มมีกระแสเรื่องการใช้กฏหมายจัดเรทภาพยนตร์หรือพรบ.ควบคุม ซึ่งก็เข้าทางการทำงานของเราพอดี ทุกครั้งที่นัดคุยกันเราพยายามให้ทุกคนนำเสนอรูปแบบความเป็นไปได้ในการทำงาน ทั้งเรื่องตัวเรื่อง แนวทาง รูปแบบ ถึงแม้ว่าเราพยายามตั้งกฏเกณฑ์ให้น้อยที่สุด แต่ก็ยังคำนึงถึงความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งที่คิดจะต้องทำได้จริง ในที่สุดก็กลายเป็น 6 ผู้กำกับ 6 เรื่องสั้น เมื่อหลายอย่างลงตัวและชัดเจนขึ้น พวกเราได้มีโอกาสเข้าไปเสนอโปรเจ็คต์ให้พี่ปรัช (ปรัชญา ปิ่นแก้ว) และพี่อ็อด (บัณฑิต ทองดี) ตอนนั้นบทหนังยังเป็นแบบเรื่องย่อ (outline treatment) อยู่ สิ่งที่ทำบ่อยเลยคือการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ และเป็นในแบบที่เราถนัดอีกด้วย ที่นี้พอเราได้รับความสนใจในแง่ความเป็นคนทำหนังสั้นมาก่อน รวมทั้งความน่าสนของโปรเจ็คต์ที่ยังท้าทายกับพรบ.การจัดเรทติ้งอีก พวกเราทั้งหมดยังได้สร้างเงื่อนไขให้แก่กันด้วยว่า เรามาทำหนังแนวนี้ก็นับว่าเสี่ยงพอสมควรกับการวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้นเราเลยจะต้องมองหาแง่มุมใหม่ๆ ในการทำอีกด้วย หนังที่มีเรื่องเซ็กส์เข้ามาเกี่ยวในปัจจุบัน มักจะถูกละเลยหรือข้ามไป สิ่งที่เราพยายามสร้างรูปแบบหรือทำในสิ่งที่ใหม่ แม้ว่ามันอาจเป็นเรื่องที่ยาก แต่อย่างแรกที่เห็นชัดเลยคือ แนวความคิดของโปรเจ็คต์ (concept) ในเรื่องของอิโรติก ความรักความใคร่ของมนุษย์ปถุชนคนทั่วไป และแน่นอนว่าเรา 6 คนต่างสนใจในเรื่องหนังเหมือนๆ กัน ทั้งหนังนอกกระแส ในกระแส เพราะฉะนั้นเราย่อมรู้ว่าทุกคนจะต้องมีหนังที่เป็นตัวของตัวเองที่สุด โดยที่ทั้งพี่อ็อดพี่ปรัชเองก็สนับสนุนแนวทางนี้ที่ปล่อยให้ทุกคนทำอย่างที่เราเป็นโดยที่จะไม่มีการเข้ามาก้าวก่าย แต่คอยเป็นที่ปรึกษาและดูแลการผลิตให้
Q. พูดถึงคอนเซ็ปท์ไอเดียที่ต้องการนำเสนอรวมไปถึงความอิโรติกและการทำงานในโปรเจ็คต์ “หลุมพราง”
สุรวัฒน์: สำหรับเรื่องหลุมพรางนั้นต้องการเล่าเรื่องของคนที่มีอดีตจำฝังใจ ตอนเด็กมีปมด้อยไม่ได้รับความอบอุ่น พอโตขึ้นพอจะรักใครสักคนก็ดูเป็นเรื่องยากลำบากชวนให้มีปัญหา ย้อนกลับไปตอนหาเรื่อง (Plot + Story) มาทำ บังเอิญให้ความสนใจในเรื่องปมอีดิปุส (Oedipus complex) เด็กชายที่รักแม่จนเกินพอดี แต่ไม่ชอบพ่อ แต่ที่ฝรั่งนิยามไว้ค่อนข้างแรงคือ ฆ่าพ่อแล้วช่วงชิงแม่มาเป็นของตน Plot มันมีความน่าสนใจตรงที่เด็กที่ขาดความอบอุ่น มีปมด้อย เป็นตัวละคนที่ขัดแย้งกับตัวเอง (ในใจ) เวลามาเจอเหตุการณ์ที่ตัวเองเคยประสบมาก่อนตอนเป็นเด็กที่ขาดความอบอุ่น ทำให้การวางตัวลำบาก ไม่ค่อยมั่นใจ ตรงนี้จึงเป็นที่มาของ Concept Oedipus Complex กับ Plot ที่ว่าชายหนุ่มกลับมาบ้านเกิด พร้อมปมความหลังในวัยเด็กที่ขาดความอบอุ่นจากความรักที่มีต่อน้าสาว แต่กลับได้รับการดูแลอย่างผิดๆ พอโตขึ้นความรักเลยเป็นความใคร่แบบผิดๆ การรักใครสักคนจึงดูเป็นเรื่องยากเสียเหลือเกิน ในหลุมพรางหลานชายอยู่กับน้าสาว ทุกคืนหลานชายมักได้ยินเสียงคนมีเซ็กส์กัน เกิดความสับสนในตัว ใจหนึ่งก็ห่วงน้าสาว แต่อารมณ์ความรู้สึกของชายก็พุ่งพล่านทำให้ต้องแอบมองน้าตัวเอง ฉากเซ็กส์ถูกนำเสนอไปตามเหตุการณ์ไม่จงใจยัดเยียด และไม่ให้คนดูสมหวังอย่างที่ต้องการ เป็นการเล่นกับคนดูอย่างหนึ่งการใช้ภาษาหนังก็เป็นส่วนสำคัญ การใช้ภาพ มุมกล้อง การเคลื่อนกล้อง การตัดต่อ ก็อาจทำให้หนังโดดเด่นขึ้นมา ให้อะไรที่คนคาดไม่ถึง บางทีอาจเป็นความเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ หรือทิ้งปมปัญหาให้คนได้คิดต่อ หลุมพรางมีฉากป่าที่เปรียบเหมือนเป็นวังวนความใคร่ที่ทุกคนต่างหลงเข้าไปแล้วยากที่จะหาทางออก เราไม่มีทางรู้ว่านั้นคือความจริงหรือความลวง ให้คนดูคิดไปในทิศทางกว้างๆ เพราะเชื่อว่าคนดูแต่ละคนย่อมมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ความทรงจำของในวัยเด็กรวมถึงประสบการณ์ในการเลี้ยงดูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดพฤติกรรมในตอนโต นี่คือข้อความที่ต้องการจะบอก จริงๆ แล้วเป็นหนังดราม่าครอบครัวเสียด้วยซ้ำที่ต้องการบอกแก่คนดูเป็นนัยยะสำคัญเพียงแต่การนำเสนอนั้นถูกบอกเล่าในรูปแบบเล่าเรื่องจากผลลัพธ์ในปัจจุบันถอยไปสู่เหตุผลการกระทำของตัวละครในอดีต
Q.เล่าเรื่องย่อของเรื่อง หลุมพราง
สุรวัฒน์: เรื่องราวของเล็กที่ต้องกลับบ้านแล้วได้เจอกับผู้หญิงที่หน้าตาเหมือนน้าละอองของตัวเอง ผู้หญิงที่ตัวเองรักและนับถือเมื่อตอนสมัยวัยเด็ก แต่การได้มาเจอพี่นิดที่มีหน้าตาเหมือนกับน้าละอองมาก ทำให้ผุดเรื่องราวในอดีตที่เขาพยามจะลืมขึ้นมา ที่ว่าทำไมน้าละอองจะต้องนอนกับผู้ชายมากหน้าหลายตา เกิดความสงสัยไม่เข้าใจจนกลายเป็นหวงน้าสาวขึ้นมา เราพยามสะท้อนว่าเล็กกำลังจะก้าวเข้าไปในวังวนอะไรสักอย่างในอดีตที่เคยทำ เคยหลง และวันนี้เขากลับไปสู่หลุมพรางเดิมๆ ที่กลายเป็นวังวนความใคร่ ที่เล็กจะต้องหาทางออกและแก้ไขปัญหาสิ่งนั้นออกมาให้ได้
Q.จากขั้นตอนการคิดเรื่อง เขียนบท ไปจนถึงขั้นตอนการถ่ายทำที่จะต้องทำงานร่วมกับนักแสดง
สุรวัฒน์: การเตรียมงานในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานับจากการเสนอโปรเจ็คต์ในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากไฟเขียวให้ลงมือถ่ายทำได้ สิ่งที่เราทั้ง 6 คนมีทั้งหมดตอนนั้นคือ กระดาษและก็กระดาษ ทั้งบทภาพยนตร์ในร่างท้ายๆ ภาพสตอรี่บอร์ดฉากเลิฟซีนที่นักแสดงต้องเล่น และยังเป็นเครื่องยืนยันว่าให้แก่ทุกคนว่า นี้เป็นเงื่อนไขที่ต้องทำ บทที่ถูกดัดแปลงจากสกรีนเพลย์มาเป็นชู๊ตติ้งสคริปท์ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกระดาษทั้งนั้นเราทั้ง 6 คนยังไม่ได้เจอของจริงเลย ทุกคนล้วนแต่เคยทำหนังในแนวทางปกติ ดราม่าหรือไม่ก็เป็นรูปแบบการเล่าเรื่องที่อาศัยการตีความในแบบฉบับของแต่ละคน แต่ครั้งนี้ยากยิ่งกว่าตรงที่มาบวกเรื่องราวที่มีความเป็นอิโรติกเป็นคอนเซ็ปท์ที่ตั้งไว้ แต่ก็เป็นความตั้งใจที่ในเมื่อได้โอกาสทำทั้งทีก็ต้องให้มันท้าทายตัวเองและคนดูด้วย ผมได้มีโอกาสพูดคุยนำเสนอบทกับคุณปรางทอง ชั่งธรรม เพื่อให้มาเล่นหนังเรื่องนี้ สิ่งที่ผมให้คุณปรางดูคือสตอรี่บอร์ด และเล่าเรื่องย่อประกอบ เงื่อนไขแรกเลยที่ทางผมและโปรดิวเซอร์ บอกอย่างชัดเจน คือ จะต้องเปลือยท่อนบนเป็นอย่างน้อย สรุปว่าคุณปรางสนใจและตกลงรับเล่นในเวลาต่อมา ภาพยนตร์สั้นส่วนใหญ่แล้วตัวละครมักไม่มากมายนัก บางเรื่องอาจมีเพียงตัวละครหลักตัวเดียวในการดำเนินเรื่อง มีเพียงหนึ่งหรือสองคน แต่ในหลุมพรางนั้นมีตัวละครอยู่ถึง 7 ตัว และทุกตัวมีความสำคัญพอที่เป็นตัวละครหลักเลยทีเดียว แม้บางตัวละครจะออกมาเพียงฉากเดียวอย่างเช่น หนุ่มกรุงเทพฯที่หญิงสาวหลงรักจนได้เสียกัน แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นตัวละครที่ออกมาเพียงไม่กี่ฉากแต่สำคัญทำให้หญิงสาวต้องตกอยู่ในเงื่อนไขบางอย่างที่เขาทิ้งไว้ให้ และนี่เป็นจุดขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลหลากหลายอย่างที่จะตามมา
ในกระบวนการต่อมาที่ทางทีมได้ทำหลังจากได้ตัวเอกของเรื่องคือการคัดเลือกผู้แสดงสมทบซึ่งก็ใช้เวลามากพอสมควร หลังจากการอ่านบทในรอบแรกผ่านไป เหล่านักแสดงก็ต้องการความชัดเจนจากเราเป็นสำคัญ เพราะหลายครั้งการตีความบางอย่างอาจไม่ตรงกันนักก็ต้องมีการปรับจูนเล็กน้อย มีหลายฉากที่เราใส่เข้ามาเพื่อการสื่อความหมายบางอย่าง นั้นเป็นสิ่งที่บางคนอาจตีความต่างกันเป็นธรรมดา อย่างเช่นในตอนต้นเรื่องที่ตัวเอกเดินหลงวนเวียนอยู่ในหมู่บ้านรกร้าง บางส่วนเป็นป่ารก หันมองทางไหนก็เหมือนกันไปหมดหลงทิศหลงทาง เราพยายามให้เกิดเป็นพฤติกรรมของตัวละครที่ดูสับสนและดูขัดแย้งในตัวเอง กอรปกับตัวเรื่องในช่วงหลังแสดงถึง "ความลุ่มหลงในวังวนความใคร่" มีฉากป่าที่ตัวละครพยายามหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นการจัดการฝึกซ้อมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อความคุ้นเคยกับตัวละครที่ต้องเป็น และรู้จักกับตัวละครตัวอื่นอีกด้วย การเวิร์คช็อปเราจัดเป็นคู่ๆ ที่ต้องเล่นด้วยกัน ด้วยเงื่อนไขเรื่องเวลาจึงจำเป็นต้องเลือกฉากที่มีความสำคัญและยาก นั้นคือฉากเลิฟซีนระหว่างคุณปรางกับตัวละครหนุ่มกรุงฯที่เราได้นักแสดงโฆษณามาเล่น ในฉากแรกๆ ที่มีความหวือหวาเลยคือทั้งสองนอนข้างกันในวันฝนตก ตอนแรกนอนนิ่งๆ จากนั้นฝ่ายชายก็ต้องเริ่มเอามือมาลูบตามเอวเรื่อยมาถึงสะโพก จากนั้นก็พลิกตัวทับกัน ฉากนี้ยังถือว่าไม่ยากนักถ้าเทียบกับอีกฉากที่ทั้งสองกอดกันเหมือนเดิมแต่คราวนี้ไม่มีเสื้อผ้า และคุณปรางต้องเปลือยอกให้เห็นเต็มๆ ตอนการทำเวิร์คช็อปคุณปรางค่อนข้างไม่มีปัญหาเรื่องการแสดงเหลือเพียงการปรับจูนเล็กน้อย แต่น้องผู้ชายเคยเล่นหนังโฆษณามาก่อนแต่การเล่นหนังนั้นแถบพูดได้ว่าค่อนข้างต่างกันมาก หนังเป็นสื่อที่ต้องการใช้ระยะเวลาในการสื่อสารมีการตัดต่อน้อยคัท แต่ก็ต้องยกเว้นหนังบางประเภทอย่างหนังแอ็กชั่นที่ต้องการความรวดเร็วกระฉับไม่เยิ่นเย้อ ดังนั้นการปรับอารมณ์การแสดงก็เกิดขึ้น แต่ก็โชคดีตรงที่ว่านักแสดงชายจบมาทางด้านภาพยนตร์การสื่อสารจึงไม่ยากนัก ด้านคุณปรางเองก็ยังมีความกังวลในเรื่องความเป็นอิโรติกที่ต้องเปลือยท่อนบน แต่เธอก็ยืนยันว่าเล่นอย่างแน่นอนตามที่ได้รับปากเอาไว้ เพียงแต่วันจริงก็ขอดูสถานการณ์ตอนนั้น เพราะเราเองก็ยังห่วงในเรื่องมุมกล้องต่างๆ ด้วยความที่ก็ต้องเซฟคุณปรางพอสมควร แต่สิ่งที่เราพยายามเน้นย้ำอยู่ตลอดคือ ยังไงก็ต้องเห็นเปลือยหน้าอกโดยที่ไม่มีการมาบังเพราะจะทำให้การแสดงไม่ลื่นไหล และดูหลอก จริงๆ แล้วเราทั้ง 6 เรื่องต่างก็กังวลเหมือนกันก็คือ การกำกับฉากเลิฟซีน อิโรติกซีน ที่เราเองก็ทำการบ้านมาพอสมควรเรื่องเวิร์คชอปก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยยืนยันความมั่นใจว่าเรากำลังจะได้อะไรที่ต้องการ แต่ก็นั้นวันจริงกับวันซ้อมย่อมต่างกัน ทางพี่อ็อดพี่ปรัชเองก็ให้คำปรึกษาด้วยและนั่นก็ช่วยให้เรามั่นใจมากขึ้นอีกด้วย
Q.เสน่ห์และความน่าสนใจของเรื่อง หลุมพราง
สุรวัฒน์: เสน่ห์ของหลุมพราง เราพูดถึงอารมณ์ของมนุษย์ทั่วไปที่มาพร้อมกับความใคร่ ตัวละครทุกตัวในเรื่องนี้หลงวนเวียน เหมือนคอนเซ็ปท์ที่มีป่า ทุกคนหลงวนเวียนพยามจะหาทางออก ในนี้อาจจะหาทางออกได้ บางคนอาจจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ อาจจะก้าวได้ เหมือนเด็กเกิดการตั้งคำถามแต่ถ้ามีการแนะนำมันก็จะก้าวข้ามปัญหาพวกนี้ไปได้ โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เข้าใจเรื่องความรัก กล้าที่จะมีความรัก ไม่เป็นเรื่องยุ่งยากอีกต่อไป แต่ว่าตรงนี้เป็นเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความรัก กับความใคร่ มันน่าสนใจตรงที่ต้องใช้การช่างน้ำหนัก 2 สิ่งนี้ให้ดีๆ เรากำลังอยู่ในวังวนแต่เราต้องแก้ออกมาให้ได้ มองให้ออกว่ามันคือความรัก หรือความใคร่ หรือทั้ง 2 อย่างแต่ว่าไปด้วยกันได้ดีครับ
Q.การทำหนังอิโรติกแบบนี้มีวิธีการสื่อสารหรือกำกับนักแสดงให้เข้าใจ หรือกล้าถ่ายทอด นำเสนอในสิ่งที่ตัวผกก.ต้องการมากน้อย แค่ไหน อย่างไร
สุรวัฒน์: การที่เราจะทำให้ใครสักคนเชื่อในสิ่งที่เราพูดหรือนำเสนอ เราเองต้องมี "ของ" ในที่นี้คือ reference ประกอบไปด้วยภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว mood tone ต่างๆ และสิ่งที่ยากที่สุดคือการหาตัวแสดงที่เข้าใจงานในรูปแบบที่ไม่ปกติ คือการจะต้องมาเปลืองตัวและทำแล้วได้อะไร อย่างที่บอกเรานำเสนอหนัง(สั้น)ในรูปแบบแนวความคิดที่ว่า ความใคร่คือส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต และอาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดก็เป็นได้แล้วแต่ว่าใครจะวางสิ่งเหล่านี้เอาไว้ตรงไหน?แต่เราพยายามวางมันไว้ในที่ๆ ควรจะเป็น ให้มันอยู่ในรูปแบบธรรมชาติ พยายามไม่ยัดเยียดสิ่งเหล่านี้แก่คนดูจนเกินไป สิ่งที่โชดดีคือเราได้ดารานักแสดงหลายคนเข้าใจในสิ่งที่พวกเรากำลังทำ แต่เราก็ย่อมรู้ว่ามันไม่ง่ายนักกับหนังแบบนี้ เรามีสตอรี่บอร์ดเพื่อช่วยยืนยันในฉากสำคัญๆอย่างฉากเลิฟซีน ท่วงท่าต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันสิ่งที่ผู้กำกับต้องการเป็นอย่างไร และยังเป็นเงื่อนไขที่นักแสดงรับรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเห็นแค่ไหน สำหรับนักแสดงอย่างในตอนแรกได้มีการพูดคุยตกลง ทำการเวิร์คช็อป เป็นวิธีการหนึ่งที่มาช่วยในการทำความเข้าใจต่อการแสดง อย่างฉากที่ผมห่วงมากที่สุดคือ ฉากปราง (ปรางทอง ชั่งธรรม) นอนกอดกับชายหนุ่ม โดยที่นอนเปลือยอกมีการกอดรัดฟัดเหวี่ยง ด้านการแสดงของปรางนั้นไม่ต้องสงสัยอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่นักแสดงชายที่เป็นหน้าใหม่ กลับกลายเป็นผู้ชายเขินแทน วันที่ถ่ายของปรางจะเป็นฉากเล็กหลานชายแอบมองน้าละอองนอนกอดกับหนุ่มคนรักแบบใส่ผ้าหลวมๆ อีกฉากเป็นตอนที่ปรางนอนหลับ มีผ้าถุงปิดร่างกายบางส่วนอยู่ แต่เห็นหน้าอกสองข้างอย่างถนัดนี่ ต้องยอมรับปรางในความตั้งใจและความเป็นมืออาชีพ ซึ่งในเรื่องนี้คุณปรางจะต้องรับบทถึง 2 ตัวแสดงคือน้าละออง และพี่นิด ที่มีคาแร็คเตอร์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงผมชื่นชมในความเป็นมืออาชีพของคุณปรางมากเลยนะ ส่วนน้องจ๊ะ-อธิศ อมรเวช ที่มารับบทเป็นเล็ก ต้องมีการปรับลุคขอจ๊ะเพื่อให้ดูเป็นคนเมืองตอนนั้นที่เจอจ๊ะ น้องเขาผมยาวก็ถามว่าตัดได้ไหม ลึกๆ ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่นะที่ต้องตัดผมที่ไว้มานานหลายปีแต่จ๊ะก็ยอมตัดเพื่อให้ตรงกับบทและคาแร็คเตอร์ในเรื่องนี้ขอบคุณนักแสดงทุกคนเลยครับที่ทุ่มเทและตั้งใจกับการทำงานในครั้งนี้อย่างมาก
Q.แง่คิดจากการชมในเรื่อง หลุมพราง ที่คนดูจะได้ทั้งแง่คิดและตีความเข้าใจ
สุรวัฒน์: มันเป็นเรื่องความรัก ความใคร่ มันน่าสนใจตรงที่ เราคิดว่าคนดูได้แง่คิด สิ่งที่เห็นตรงหน้าบางทีอาจจะมีทั้งดีและไม่ดีทุกคนมีเรื่องความรักความใคร่ เพียงแต่ละคนจะชั่งน้ำหนัก 2 อย่างนี้ให้ไปด้วยกันได้ดี ทั้งรักและใคร่ก็จะทำให้เรามีความสุขกับมันหลุมพรางมีความเป็นดราม่าแล้วใส่อิโรติกเข้าไปในนั้น ซึ่งเราพยายามใส่เข้าไปให้มันเป็นเรื่องปกติ ให้เข้าใจไปในทางที่ดีไม่ใช่ในแง่ร้าย เพราะคนทุกๆ คนมีเรื่องรักใคร่ตลอดเวลาอยู่แล้ว การควบคุมมันการใช้มันเข้าใจมันจะเป็นผลดีกับเราและคนอื่นครับ
Q.ฝากผลงาน พร้อมทั้งเชิญชวนให้คนดูชมโปรเจ็คต์ น้ำตาลแดง2 เรื่องหลุมพราง
สุรวัฒน์: สำหรับโปรเจ็คต์น้ำตาลแดง2 เป็นเรื่องนำเสนอเกี่ยวกับอิโรติกด้านต่างๆ ของมนุษย์ ที่จริงเป็นเรื่องชีวิตประจำวันของเราทุกคน ถ้าคนดูเปิดใจอิโรติกไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในชีวิตเลย เราคิดว่าการนำเสนอแง่มุมมองเรื่องรักที่แตกต่างทำให้รู้สึกว่าวันนี้มันถึงเวลาแล้วที่อิโรติกจะถูกหยิบมาพูดถึงในระดับที่ไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องสกปรกอีกต่อไป ในพาร์ท2 ก็จะมีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง คู่รักบนดาวโลก, ทฤษฎีบนโต๊ะอาหาร และหลุมพราง เป็นตอนที่ผมกำกับ ทั้งผม ทีมงาน และนักแสดง พวกเราตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่ครับ ฝากด้วยนะครับ 4 พฤศจิกายนนี้
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit