กสอ. เผยตลาดตะวันออกกลางโต ดึงผ้าไทยประยุกต์ชุดมุสลิม ตั้งเป้ายกระดับการออกแบบไทย สู่มาตรฐานโลก

19 Aug 2010

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โชว์ศักยภาพเครื่องแต่งกายมุสลิม เพื่อเผยแพร่และพัฒนาความรู้ความสามารถ รวมทั้งสร้างแนวคิดใหม่และยกระดับการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิมของไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ซึ่งจะเป็นการสร้างกระแสทางด้านการตลาดแก่กลุ่มประเทศมุสลิม ภายใต้ชื่อ งาน “Muslim Fashion Week 2010” ตามโครงการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิม ประจำปี 2553

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังให้เป็นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการออกแบบ รวมถึงการเชื่อมโยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายมุสลิม โดยเฉพาะพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งในระยะแรกเริ่มสร้างงานจากกลุ่มต่างๆ ให้เป็นธุรกิจ ระยะที่ 2 พัฒนาสู่สากลให้สามารถออกสู่ตลาดโลก สำหรับงานครั้งนี้ก็เป็นการเผยแพร่สู่ตลาดโลกโดยมุ่งหวังให้พัฒนาเป็นกิจการได้อย่างยั่งยืน โดยจะดำเนินการร่วมกับสถาบันและผู้เชี่ยวชาญในการตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับกลุ่มมุสลิมโดยตรง จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และดีไซเนอร์ รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้ประกอบการเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รวมทั้งกลุ่มผู้ทำงานฝีมือของกลุ่ม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความชำนาญในการตัดเย็บและปักผ้าให้กับกลุ่มมุสลิมโดยเฉพาะ เพื่อดำเนินการการออกแบบ Pattern และผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิม จำนวน 50 ชุด โดยการนำผ้าไทยทั้ง 4 ภาค อาทิ ผ้าบาเตะ ผ้าข าวม้า ผ้าฝ้าย ผ้าคอตตอน ผ้าป่านมัสลิน เป็นต้น นำมาประยุกต์และออกแบบให้เข้ากับเครื่องแต่งกายมุสลิม สำหรับจัดแสดงแฟชั่นเครื่องแต่งกายมุสลิมที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2553

นายวีรพล ศรีเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกเครื่องแต่งกายมุสลิมโดยเฉพาะผ้าคลุมผม และหมวกกาปิเยาะห์ ปีละกว่า 180 ล้านบาท โดยตลาดหลักของเครื่องแต่งกายมุสลิมส่วนใหญ่อยู่ในแถบตะวันออกกลาง และประเทศมุสลิมในยุโรปตะวันออก หากไทยต้องการจะขยายตลาดในแถบนี้ให้มากขึ้น จำเป็นจะต้องพัฒนาแบบ Pattern ขนาด Size และรูปแบบ สีสันให้ตรงกับความนิยมและความต้องการของตลาด รวมทั้งการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายเครื่องแต่งกายมุสลิมเพื่อจำหน่ายในตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเชื่อว่าการจัดทำโครงการพัฒนาต้นแบบเครื่องแต่งกายมุสลิม จะเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิมขึ้น และเผยแพร่สู่สังคมทำให้กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ได้รับรู้ เกิดความตื่นตัว และสนใจพัฒนางานมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นกลุ่มผู้ประกอบการให้มีการพัฒนาการออกแบบให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ตลอดจนถือเป็นโอกาสสำคัญที่อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายมุสลิมของประเทศไทยจะก้าวสู่เชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวางและยั่งยืน มีการต่อยอดการพัฒนาไปยังผู้ประกอบการเพื่อการส่งออกต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 2024414-18 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net