กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
โรงงานน้ำตาลร่วมมือกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายช่วยชาวไร่อ้อย ตั้งวงเงินสินเชื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ 2,000 ล้านบาท สินเชื่อซื้อรถตัดอ้อยอีก 1,000 ล้านบาท หวังเพิ่มค่าความหวานและผลผลิตต่อไร่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย ชี้ชาวไร่อ้อยมีความสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลและเอทานอล
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย ต้องการเห็นราคาอ้อยของฤดูการผลิตปี 2553/2554 อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาทนั้น นอกเหนือจากปัจจัยสำคัญในเรื่องของราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ส่วนที่จะช่วยสนับสนุนก็คือ คุณภาพของอ้อย โดยกลุ่มโรงงานมีแนวทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนแล้ว 2 เรื่อง คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ และการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย
สำหรับปัญหาการขาดแคลนน้ำนั้นถือเป็นปัญหาสำคัญ จะเห็นได้จากการสำรวจไร่อ้อยในปีนี้ พบว่า อ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูก โดยเมื่อเปรียบเทียบความสูงของต้นอ้อยในเดือนสิงหาคมปีนี้สูงเพียง 1-1.2 เมตรเท่านั้น ต่ำกว่าเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2552 ซึ่งมีความสูงในระดับ 1.5-1.7 เมตร อย่างไรก็ตาม หากฝนยังคงตกต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน 2553 หรือมีการจัดการเรื่องแหล่งน้ำที่ดี ก็จะทำให้ความสูงของต้นอ้อยเพิ่มขึ้นได้อีก 80-100 เซนติเมตร รวมแล้วต้นอ้อยจะสูง 2 เมตรเศษ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
“เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่แห้งแล้ง หรือขาดแคลนแหล่งน้ำ ผู้ประกอบการโรงงานจึงได้ร่วมกับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จัดเตรียมวงเงินสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อย จำนวน 2,000 ล้านบาท ในรูปแบบของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ โดยโรงงานน้ำตาลจะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้” นายประกิตกล่าวและว่า หลักเกณฑ์ที่กำหนดเบื้องต้น จะจัดสรรให้กับชาวไร่อ้อยรายละไม่เกิน 500,000 บาท ผ่านโรงงานน้ำตาล 46 โรงงาน ตามสัดส่วนปริมาณอ้อยเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี และมีระยะเวลาชำระคืน 4 งวด ภายในเวลา 4 ปี (ชำระคืนปีละครั้ง)
ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า การขอรับเงินสินเชื่อดังกล่าวจะต้องนำไปใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น ขุดสระ หรือเจาะบ่อบาดาลสร้างระบบส่งน้ำ หรือมีโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำในไร่อ้อย ได้แก่ ระบบน้ำหยด หรือจัดหาเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการจัดการน้ำในไร่อ้อย หรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภัยแล้งในไร่อ้อยอื่นๆ เพื่อให้มีแหล่งน้ำไว้ใช้เพาะปลูกอ้อยได้อย่างเพียงพอ
สำหรับโครงการสินเชื่อแก้ปัญหาน้ำในไร่อ้อยดังกล่าว คณะกรรมการบริหารกองทุนจะตั้งคณะทำงานบริหารโครงการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาว่า กิจกรรมที่จะนำเงินสินเชื่อไปใช้นั้นตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่
“โครงการนี้โรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย พร้อมให้การสนับสนุนกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยขอให้โรงงานน้ำตาลทุกแห่งช่วยหักเงินค่าอ้อย
ส่งเข้ากองทุน กรณีที่โรงงานไม่หักเงินค่าอ้อย หรือไม่นำส่งเงินที่หักจากค่าอ้อยต่อกองทุน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะงดออกหนังสืออนุญาตขนย้ายน้ำตาลทราย”
นายประกิต กล่าว
ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า นอกจากสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว ยังมีสินเชื่อสำหรับจัดซื้อรถตัดอ้อย วงเงิน 1,000 ล้านบาท จากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายด้วย คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ กำหนดระยะเวลาชำระคืนภายใน 6 ปี (ชำระปีละครั้ง) โดยมีเงื่อนไขให้นำไปจัดซื้อรถตัดอ้อยตามราคาจริง แต่ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อคัน กรณีผู้ขอสินเชื่อเป็นชาวไร่อ้อย กลุ่มชาวไร่อ้อย หรือสหกรณ์ชาวไร่อ้อย จะให้โรงงานเป็นผู้ค้ำประกัน แต่หากโรงงานเป็นผู้กู้ จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งโครงการนี้เป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จะเป็นผู้ตัดอ้อยสด
ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อรถตัดอ้อยนี้ก็จะมีคณะทำงานผู้บริหารโครงการเช่นกัน โดยในส่วนกลางจะเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารกองทุน และในส่วนท้องถิ่น ให้สถาบันชาวไร่อ้อยและโรงงานร่วมกันบริหาร “ปัญหาขาดแคลนน้ำและขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยสด เป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตต่อไร่และคุณภาพความหวาน ของอ้อย เราจึงได้จัดทำสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้สามารถเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตอ้อยให้ดีขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการเห็นราคาอ้อยในฤดูการผลิตปี 53/54 ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท” นายประกิตกล่าวและว่า การส่งเสริม สนับสนุน และช่วยแก้ไขปัญหาของชาวไร่อ้อย ก็เพื่อให้อาชีพชาวไร่อ้อยมีความมั่นคง เพราะเกษตรกรชาวไร่อ้อย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและเอทานอล
อนึ่ง บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เป็นองค์กรช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย ด้วยข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์อย่างถูกต้อง และการสื่อสารความจริงให้สังคมและภาครัฐได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมฯ อย่างยั่งยืน
ประชาสัมพันธ์โดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด
ในนามบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด
รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ วารุณี คำไชย (แนน)
โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 119
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit