กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สถาบันอาหาร
ผู้บริโภคทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายจากสารหนูอนินทรีย์ปนเปื้อนในอาหาร “สถาบันอาหาร” ระบุขณะนี้มีเพียงห้องปฏิบัติการของสถาบันอาหารเพียงแห่งเดียวในไทยที่ให้บริการทดสอบสารหนูอนินทรีย์ได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้โครงการ “ห้องปฏิบัติการที่มีความเป็นเลิศในการตรวจวิเคราะห์สารหนู” และได้รับความร่วมมือจากสหภาพยุโรปจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ แนะผู้ประกอบการส่งออกอาหารใช้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้คู่ค้า และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้าสินค้าอาหารของไทย
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า จากสถิติส่งออกอาหารกลุ่มเสี่ยงต่อมาตรการตรวจสอบสารหนูอนินทรีย์ปนเปื้อนของไทยพบว่าไทยส่งออกอาหารกลุ่มเสี่ยงต่อมาตรการตรวจสอบสารหนูอนินทรีย์ปนเปื้อน เป็นมูลค่ากว่า 96,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 31.3 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยทั้งหมด โดยในปี 2552 ถึงพฤษภาคม 2553 ไทยส่งออกสินค้าอาหารเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,089,688 ล้านบาท ซึ่งหากมาตรการตรวจสอบสารหนูอนินทรีย์ได้ถูกกำหนดเป็นค่ามาตรฐานสำหรับสินค้าอาหารที่เข้มงวดยิ่งขึ้นแล้ว สินค้าอาหารของไทยอาจได้รับผลกระทบจากการตรวจสอบสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างของมาตรการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าที่เข้มงวดซึ่งไทยกำลังได้รับผลกระทบอยู่คือมาตรการที่เข้มงวดต่อการนำเข้าสินค้าอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้ากลุ่มผักและผลไม้ของสหภาพยุโรปที่มาจากผลการประเมินความเสี่ยงโดย EFSA (คณะกรรมการด้านความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป)
“ดังนั้นเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการไทย ห้องปฏิบัติการทดสอบของสถาบันอาหารได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการกำหนดระดับค่ามาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นสำหรับสารหนูอนินทรีย์จากประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาหารของไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้โครงการห้องปฏิบัติการที่มีความเป็นเลิศในการตรวจวิเคราะห์สารหนู ในการสร้างห้องปฏิบัติการและจัดซื้อเครื่องมือทดสอบที่สามารถตรวจสอบด้วยเทคนิค LC/ICP-MS ซึ่งมีความแม่นยำและประสิทธิภาพสูง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ Trade Capacity Building in Thailand through Strengthening the Capacities of Testing Laboratories for food and Agricultural Products ในการส่งผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ เนื่องจากพบว่าผู้นำเข้าหลายประเทศกำลังให้ความสนใจประเด็นนี้มากขึ้น จากการที่มีการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดค่าระดับการปนเปื้อนใหม่ของสารหนูอนินทรีย์ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง หน่วยงานราชการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความเสี่ยงของการปนเปื้อนของสารหนูอนินทรีย์ในอาหารในประเทศของไทยเช่นกัน เช่น กรมปศุสัตว์ร่วมกับสถาบันอาหารอยู่ระหว่างประเมินความเสี่ยงการตกค้างในเนื้อสัตว์ เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วประเทศไทยจะมีหน่วยงานรับผิดชอบด้านการประเมินความเสี่ยงในอาหารและมีแผนดำเนินการเชิงรุกที่ชัดเจน เพื่อนำผลการประเมินไปเสนอต่อประเทศคู่ค้าถึงความปลอดภัยของสินค้าอาหารไทย อีกทั้งยังสามารถปกป้องสินค้าอาหารไทย ตลอดจนประเทศสมาชิกอาเซียนจากมาตรการทางการค้าทีมิใช่ภาษี (Non-tariff Measurement–NTB) ได้อีกด้าย” รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งออกมีระดับค่าสารหนูอนินทรีย์ปนเปื้อนเป็นไปตามเกณฑ์ของคู่ค้า ห้องปฏิบัติการของสถาบันอาหารซึ่งเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถให้บริการทดสอบสารหนูอนินทรีย์ได้ในขณะนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมของไทย สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 0 2886 8088 ต่อ 5310 ถึง 5315
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 8 9484 9894, E-mail : [email protected]
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit