ผลการศึกษาล่าสุดเผยยา Procoralan(R) ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและการรักษาตัวในโรงพยาบาลอันเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวลงได้กว่า 1 ใน 4

30 Aug 2010

สต็อกโฮล์ม, สวีเดน--30 ส.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์


การศึกษาอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาบ่งชี้ว่า การให้ยา Procoralan(R) (ivabradine) ซึ่งช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ สามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตและการรักษาตัวในโรงพยาบาลอันเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว(1) ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการศึกษาใหม่ซึ่งมีชื่อว่า SHIFT (Systolic Heart Failure Treatment with the I(f) Inhibitor Ivabradine Trial) ได้รับการนำเสนอในวันนี้ที่การประชุมสมาคมโรคหัวใจแห่งยุโรป (European Society of Cardiology)(1) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงสต็อกโฮล์ม และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซท (Lancet)(2)


ท่านสามารถชมข่าวประชาสัมพันธ์ในรูปแบบมัลติมีเดียได้ที่ http://multivu.prnewswire.com/mnr/prne/shift/44195/


การศึกษา SHIFT เป็นการศึกษาผู้ป่วย 6,500 คน จาก 37 ประเทศ ซึ่งมีภาวะหัวใจล้มเหลวระดับปกติถึงรุนแรง และมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่า 70 ครั้ง/นาที ด้วยการติดตามอาการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเฉลี่ย 23 เดือน ผลการศึกษาพบว่ายา Procoralan(R) ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาลอันเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอาการแย่ลงได้ 18% (p<0.0001) ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลักของการทดสอบ นอกจากนั้นยา Procoralan(R) ยังลดแนวโน้มการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้กว่า 1 ใน 4 (26%, p="0.014)" และลดความเสี่ยงการรักษาตัวในโรงพยาบาลอันเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอาการแย่ลงได้ในระดับเดียวกัน (26%,p<0.0001) ผลลัพธ์ที่ได้ปรากฏขึ้นหลังใช้ยา Procoralan(R) รักษาเพียง 3 เดือน แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยาอื่นอยู่แล้ว (ยากั้นเบต้า, ยายับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง, ยาขับปัสสาวะ หรือ ยาต้านอัลโดสเตอโรน) นอกจากนั้นผลการศึกษายังยืนยันว่าผู้ป่วยที่มีความบอบบางเช่นนี้สามารถทนต่อยา Procoralan(R) ได้ดี

“20 ปีหลังการถือกำเนิดของยายับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง และ 10 ปีหลังการถือกำเนิดของยากั้นเบต้า ในที่สุดเราก็ได้ค้นพบยาตัวใหม่ที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้” ศจ.มิเชล โคมัจดา (Michel Komajda) ศาสตราจารย์ด้านโรคหัวใจของมหาวิทยาลัย Pierre et Marie Curie Paris 6 ในฝรั่งเศส และประธานร่วมของคณะกรรมการบริหารการศึกษา SHIFT กล่าว

ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปและกำลังส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อผู้ป่วย 15 ล้านคนในยุโรป (ราว 2-3% ของประชากรทั้งหมด) ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังจะทำให้หัวใจมีความสามารถในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลง ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาระอย่างหนักทั้งทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวคิดเป็นสัดส่วน 10% ของผู้ป่วยทั้งหมดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิตภายในเวลา 4 ปี

ยา Procoralan(R) เป็นนวัตกรรมการรักษาที่ปัจจุบันถูกนำไปใช้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในฐานะยาบรรเทาอาการต่างๆ บรรเทาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และล่าสุดผลการศึกษา SHIFT ก็แสดงให้เห็นแล้วว่ายา Procoralan(R) น่าจะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังด้วย

นอกจากนั้นการศึกษา SHIFT ยังเป็นการศึกษาแรกที่ยืนยันว่ายา Procoralan(R) ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจะเสียชีวิตหรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลง การค้นพบดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันว่าอัตราการเต้นของหัวใจมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค

ศจ.คาร์ล สเวดเบิร์ก (Karl Swedberg) หัวหน้าแผนกฉุกเฉินและการรักษาโรคหัวใจจากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน และประธานร่วมของคณะกรรมการบริหารการศึกษา SHIFT กล่าวว่า “การศึกษา SHIFT เป็นข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับปฏิบัติการทางคลินิกของเรา มันแสดงให้เราเห็นว่าอัตราการเต้นของหัวใจสูงเป็นผลเสียต่อผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้นผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวควรวัดอัตราการเต้นของหัวใจเป็นประจำสม่ำเสมอ และหากหัวใจเต้นเร็วเกิน 70 ครั้ง/นาที ก็สามารถใช้ยา Procoralan(R) เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าผู้ป่วยเคยใช้ยาอะไรมาก่อน”


การศึกษา SHIFT

การศึกษา SHIFT เป็นการศึกษาแบบสุ่มและปิดสองทาง (randomised, double-blind study) ด้วยการเปรียบเทียบผลของยา Procoralan(R) กับยาหลอก (placebo) ที่มีต่อผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังระดับปกติถึงรุนแรง (ซึ่งโดยปกติเกิดจากหัวใจขาดเลือด) และมีระบบสูบฉีดเลือดจากหัวใจห้องล่างซ้ายไม่สมบูรณ์ รวมทั้งมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่า 70 ครั้ง/นาที การศึกษานี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อประเมินว่ายากลุ่ม I(f) Inhibitor สามารถทำให้หัวใจดีขึ้น อาการต่างๆดีขึ้น และคุณภาพชีวิตดีขึ้น เมื่อใช้รักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังและมีปัญหาเรื่องการบีบตัวของหัวใจ

ในการศึกษานั้น ผู้ป่วยจะได้รับยา Procoralan(R) หรือยาหลอก นอกเหนือจากยารักษาโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งยาเหล่านั้นประกอบด้วยยายับยั้ง ACE และ/หรือ ARBs, ยากั้นเบต้า, ยาขับปัสสาวะ และยาต้านอัลโดสเตอโรน ซึ่งผู้ป่วย 89% ในการศึกษานี้ใช้ยายับยั้ง ACE และยากั้นเบต้าอยู่เดิม และกว่าครึ่งของผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวได้รับยาอย่างน้อย 50% ของปริมาณยามาตรฐาน

การศึกษา SHIFT ได้รับการสนุบสนุนด้านการเงินจาก เซอร์เวียร์ (Servier) บริษัทเภสัชกรรมชั้นนำของฝรั่งเศสที่มีประวัติศาสตร์ความสำเร็จอันยาวนานด้านการพัฒนาตัวยาใหม่ๆ สำหรับรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ และได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการบริหารการศึกษา SHIFT ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะหัวใจล้มเหลวจากนานาประเทศ

ยา Procoralan(R)* ได้รับการพัฒนาโดยเซอร์เวียร์ในฐานะยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ นอกจากนั้นยังเป็นยาตัวแรกในกลุ่มยารักษาโรคกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า selective and specific I(f) inhibitors

* ยา ivabradine วางจำหน่ายในชื่อ Procoralan(R), Coralan(R), Coraxan(R), หรือ Corlentor(R) ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ


อ้างอิง

1. 29th August 2010, Hotline 1, European Society of Cardiology Congress, Stockholm

2. Swedberg K, et al. Beneficial effects of ivabradine on outcomes in chronic heart failure. The Systolic Heart Failure Treatment with the I(f) Inhibitor Ivabradine Trial (SHIFT). Lancet. Online 29th August 2010


แหล่งข่าว: คณะกรรมการบริหารการศึกษา SHIFT


--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --