กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--กรมธนารักษ์
ดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายให้กรมธนารักษ์เตรียมศึกษาและวิเคราะห์การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินแห่งใหม่ โดยมีเป้าหมายให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของชาติที่ได้มาตรฐานสากล ติด 1 ใน10 แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ และคาดหวังให้เป็นระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเข้าชมไม่ต่ำกว่า 500,000 คนต่อปี
วันนี้ (25 สิงหาคม 2553) ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพฯ ดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เยี่ยมชมทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน พร้อมมอบนโยบายให้ผู้บริหารกรมธนารักษ์เตรียมศึกษาวิเคราะห์การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินแห่งใหม่
ดร.มั่น พัธโนทัย กล่าวว่า ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินส่วนใหญ่ที่กรมธนารักษ์ดูแล จัดเก็บ และอนุรักษ์ เป็นทรัพย์สินที่ทรงคุณค่าเกี่ยวเนื่องในพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ใช้ประกอบพระราชอิสริยยศ และใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ ที่มีการจัดสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยฝีมือช่างไทยโบราณชั้นสูงที่มีความงดงามประณีตละเอียดอ่อน แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมประจำชาติไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่น โดยกรมธนารักษ์ได้นำทรัพย์สินมาจัดแสดงที่ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนชาวไทยได้รับรู้ ชื่นชม ภาคภูมิใจ และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ตั้งแต่ปี 2519 จนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากพื้นที่ที่ใช้ในการจัดแสดงมีขนาดคับแคบ ทำให้ไม่สามารถนำทรัพย์สินมีค่าที่ได้รับการอนุรักษ์ในสภาพที่สมบูรณ์สวยงาม และพร้อมจะนำออกมาจัดแสดงกว่า 11,000 ชิ้น ปัจจุบันได้นำออกมาจัดแสดงเพียง 1,741 ชิ้น การจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้าชมการจัดแสดงในแต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า500,000 คน
ดร.มั่น กล่าวต่ออีกว่า ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ที่จัดแสดงจึงได้มอบนโยบายให้กรมธนารักษ์ไปทำการศึกษาวิเคราะห์การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินแห่งใหม่ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินโดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านพิพิธภัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ เพื่อพิจารณารูปแบบ สถานที่ตั้ง องค์ประกอบของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความสง่างาม สมพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีความเหมาะสม การคมนาคมสะดวก มีความปลอดภัยสูง ใกล้แหล่งชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว ในเบื้องต้นพื้นที่ที่จัดแสดงไม่ควรน้อยกว่า 5,000 ตารางเมตร เพื่อใช้สำหรับการจัดแสดงทรัพย์สินและการอนุรักษ์ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อาทิ ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องกิจกรรมเด็ก ห้องบรรยาย ห้องประชุม ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องอาหาร และห้องจำหน่ายของที่ระลึก ตลอดจนสามารถรองรับการเข้าชมของนักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างชาติ เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินที่ได้มาตรฐานสากล ติด 1 ใน 10 สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ และพัฒนาไปสู่ระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย