“ชัยวุฒิ” ชูนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน ปูทางอุตสาหกรรมอยู่ร่วมชุมชนพร้อมย้ำ กระทรวงอุตสาหกรรมจะสร้างสมดุลเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

01 Sep 2010

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--บีโอไอ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมชู “นโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ช่วยปูทางให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมย้ำบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องไม่เน้นสร้างแต่ความเจริญ ต้องสร้างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้ไปด้วยกัน ด้านบีโอไอมั่นใจ นโยบายใหม่ช่วยกระตุ้นภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืน เพราะมีมาตรการกระตุ้นให้ลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การลงทุนเพื่อปรับปรุงด้านพลังงานและเทคโนโลยีการผลิต

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานสัมมนา “เจาะประเด็นมาตรการบีโอไอ ลงทุนไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน หอการค้าไทย และต่างประเทศ รวมถึงบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน เข้าร่วมรับฟังกว่า 1,000 คน ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ มุ่งหวังที่จะสร้างความเข้าใจ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องในแนวทางการส่งเสริมการลงทุนใหม่ของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้ และจะนำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

“ ที่ผ่านมา เราอาจมุ่งเน้นการสร้างความเจริญด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมา ดังนั้น บทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมในวันนี้ จะต้องสร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ ให้เดินหน้าไปพร้อมๆ กับการพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมทั้งรายเดิมและรายใหม่ จะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

นายชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและพูดคุยกับประชาชนและผู้นำชุมชน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรม ทำให้ทราบว่า ประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐและโรงงานอุตสาหกรรม จึงจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูความเชื่อถือให้กับประชาชน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม และให้ชุมชนมีส่วนร่วม ตลอดจนเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งหมดกับชุมชนอย่างโปร่งใสและจริงใจ ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เพราะมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน หรือการใช้พลังงานทดแทน และการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้ในที่สุด โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ กิจการผลิตเซลแสงอาทิตย์ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เป็นต้น

ทั้งนี้ บีโอไอจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนาไปประกอบการพิจารณาในการปรับปรุงนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนอื่นๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนต่อไปในอนาคต

ปรับปรุงมาตรการลงทุนผ่านมาตรการส่งเสริมพิเศษ

นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน บีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอ มีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ การพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Skill Technology Innovation: STI) โดยค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการลงทุนสามารถยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตั้งแต่ 1-3 ปี ตามสัดส่วนมูลค่าการลงทุน มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อจูงใจให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยไม่จำกัดวงเงิน ทั้งนี้กำหนดให้ต้องยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการนี้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.55

โอกาสทองเอสเอ็มอีไทยถึงสิ้นปี 2554 เท่านั้น

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการ บีโอไอ กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการเอสเอ็มอีไทย ว่า บีโอไอ เปิดให้ผู้ประกอบการที่มีมูลค่าเงินลงทุนตั้งแต่ 500,000 บาท สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอได้ ครอบคลุมใน 57 ประเภทกิจการ อาทิ กิจการฟอกหนังสัตว์ ผลิตเซรามิกส์ ผลิตผ้า เครื่องนุ่งห่ม ผลิตของเล่น ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ผลิตสิ่งพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์แก่กิจการที่ขยายการลงทุนแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลครอบคุลมถึงกิจการเดิมด้วย ทั้งนี้ต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายภายในปี 2554