ครั้งแรกของเมืองไทยในการใช้เทคนิควิดีโออิ๊งค์เจ็ทนำเสนอเรื่องราวสำคัญ ใน ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์ ชุด “เรืองรองราชนัดดา หนึ่งในหล้าโลหะปราสาท”

14 Sep 2010

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์

ครบครันเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโลหะปราสาทที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก สถาปัตยกรรมพุทธศิลป์ชั้นเลิศที่แฝงธรรมะสู่พระนิพพานอย่างลึกซึ้ง ณ วัดราชนัดดารามวรวิหาร ที่ “กษัตริย์เจ้าสัว” ทรงสร้างพระราชทาน “หลานรักผู้อาภัพ” พร้อมกิจกรรมหลากหลายสำหรับทุกคนในครอบครัว ตั้งแต่ ๑๕–๓๐ ก.ย. ณ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง และวัดราชนัดดารามวรวิหาร และเป็นครั้งแรกที่จะเปิดโอกาสสำคัญแห่งสิริมงคลให้ฟังเทศน์-ปฏิบัติธรรมที่โลหะปราสาทใน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ๒๓ ก.ย. นี้

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดนิทรรศการและกิจกรรมหมุนเวียน ร้อยนิทรรศน์ ยลรัตนโกสินทร์ ชุด “เรืองรองราชนัดดา หนึ่งในหล้าโลหะปราสาท” ระหว่างวันที่ ๑๕–๓๐ กันยายน ศกนี้ ที่อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง และวัดราชนัดดารามวรวิหาร เพื่อเผยแพร่คุณค่าของสถานที่สำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทยชั้นเลิศ อันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และพุทธศาสนาที่สำคัญทั้งของชาติและของโลก คือโลหะปราสาทที่ยังคงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นที่เคารพสักการะของ พุทธศาสนิกชนทั่วไปโดยมีกิจกรรมที่หลากหลายให้เข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งการนำชมโลหะปราสาทและนิทรรศการ ที่ใช้เทคนิคพิเศษต่างๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ การจัด “ฟังเทศน์ ฟังธรรม” ในวันสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ ๒๓ นี้ ซึ่งเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ จะเป็นครั้งแรกที่เปิดให้ฟังเทศน์และปฏิบัติธรรมภายในโลหะปราสาทในช่วงเย็น นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรม “ศิลปะสุขใจ” สำหรับเด็กและเยาวชนที่ชื่นชอบการวาดภาพระบายสีอีกด้วย

นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวว่า “เราตั้งใจจัดกิจกรรมในครั้งนี้อย่างน่าประทับใจ อยากให้ทุกคนมาร่วมชื่นชมกับคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของโลหะปราสาทซึ่งเป็นแห่งเดียวของโลกที่ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน เพราะโลหะปราสาทมีเพียง ๓ แห่งเท่านั้น คือมิคารมาตุปราสาท ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งนางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างขึ้นในสมัยพุทธกาล ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว แห่งที่ ๒ อยู่ที่ประเทศศรีลังกา สร้างประมาณ พ.ศ. ๓๘๒

โดยพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย กษัตริย์แห่งอนุราธปุระ ภายหลังถูกไฟไหม้และถูกทำลาย แต่ยังคงเหลือซาก

๑ ปรักหักพังให้เห็น ส่วนแห่งที่ ๓ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างแทนการสร้างเจดีย์ที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ทรงสร้างพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่พระราชนัดดากำพร้า คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี หรือสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี อัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โลหะปราสาทของไทยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ โดยรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้เค้าโครงเดิมของ ศรีลังกา และประยุกต์ให้เป็นศิลปกรรมแบบไทย แต่ยังไม่แล้วเสร็จในรัชสมัยของพระองค์ จึงมีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมในรัชกาลที่ ๕ และ ๖ เสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลปัจจุบัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อคราวฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ ” โลหะปราสาทและวัดราชนัดดารามวรวิหาร ล้วนมีประวัติความเป็นมาและรายละเอียดต่างๆ ที่น่า สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรมพุทธศิลป์ที่ออกแบบให้เป็นปราสาท ๓ ชั้น มี ๓๗ ยอด ซึ่งหมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ อันเป็นหลักธรรมสำคัญที่เป็นปัจจัยนำไปสู่การหลุดพ้นหรือพระนิพพาน

นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็ม ออร์กาไนเซอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้อำนวยการด้านการผลิต ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงชุด เรืองรองราชนัดดา หนึ่งในหล้าโลหะปราสาท ว่า “ความโดดเด่นของนิทรรศการครั้งนี้ คือการนำเทคนิควิดีโออิ๊งค์เจ็ทมาใช้เป็นครั้งแรกของเมืองไทย เพื่อนำเสนอประวัติความเป็นมาของโลหะปราสาท นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคพิเศษอื่นๆ ได้แก่ เทคนิคคาไลโดวิชั่น เล่าตำนานโลหะปราสาทตั้งแต่สมัยพุทธกาล เทคนิควิดีโอสามมิติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดราชนัดดารามวรวิหารและเรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เทคนิคโฮโลแกรมขนาดเท่าจริง นำเสนอเรื่องศิลปะ สถาปัตยกรรม การสร้างและการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาทตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดย พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นสถาปนิกในการบูรณะโลหะปราสาทครั้งล่าสุด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ และเทคนิคทัชสกรีน ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ การเลือกสรรเทคนิคพิเศษดังกล่าวเพื่อสร้างมุมมองน่าสนใจในการชมเรื่องราวและศึกษาข้อมูลต่างๆ ทำให้ประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าของกรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดจนธรรมะที่เป็นหัวใจสู่การหลุดพ้นนั้นมีการนำเสนอด้วยรูปแบบที่ทันสมัยชวนติดตาม”

๒ ในส่วนของการจัดกิจกรรมต่างๆ ๕ กิจกรรม ในช่วง ๑๕ – ๓๐ กันยายน ศกนี้ ได้แก่ การนำเที่ยวชมโลหะปราสาท เริ่มจากห้องนิทรรศการหมุนเวียน ในอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ไปจนถึงภายในโลหะปราสาท เปิดให้ชมทุกวัน วันละ ๓ รอบ เวลา ๑๗.๐๐ น., ๑๘.๐๐ น. และ ๑๙.๐๐ น. รอบละ ๔๕ นาที กิจกรรม “ฟังเทศน์ ฟังธรรม” เป็นการบรรยายธรรมโดยพระเถระจากวัดราชนัดดารามวรวิหาร จัดในวันเสาร์ – อาทิตย์ ที่ ๑๘ – ๑๙ และ ๒๕ – ๒๖ กันยายน วันละ ๑ รอบ เวลา ๑๕.๐๐ น. รอบละ ๖๐ นาที ที่ศาลาเอนกประสงค์ วัดราชนัดดารามวรวิหาร นอกจากนี้ ยังเตรียมสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ปฏิบัติธรรมในวันอุดมมงคล ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ กันยายน โดยเป็นครั้งแรกที่จะเปิดให้สวดมนต์ ฟังเทศน์ นั่งสมาธิเสริมบารมีมหามงคลใต้พระบรมสารีริกธาตุที่โลหะปราสาท เพียง ๒ รอบ เวลา ๑๗.๐๐ น. และ๑๘.๓๐ น. รอบละ ๖๐ นาที ติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. ๐๘ ๐๙๑๓ ๓๖๐๐ หรือลงทะเบียนที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ สำหรับเด็กและเยาวชนผู้ชื่นชอบการวาดภาพและระบายสี พบกับกิจกรรม “ศิลปะสุขใจ” ให้เข้าร่วม โดยจัดเตรียมเสื้อยืด พร้อมแผ่นกระดานสำหรับรอง และอุปกรณ์สำหรับระบายสี ให้วาดภาพในหัวข้อ “โลหะปราสาทของฉัน” หรือระบายสี จะจัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ ๑๘ – ๑๙ และ ๒๕ – ๒๖ กันยายน เวลา ๑๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. ทั้ง ๔ กิจกรรมดังกล่าว ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

“ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์” จะจัดนิทรรศการหมุนเวียน และกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจเป็นประจำ ทุกเดือน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ติดตามรายละเอียดได้จาก : www.rattanakosin-heritage.com www.nitasrattanakosin.com facebook /ร้อยนิทรรศน์ ยลรัตนโกสินทร์

รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ “ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์” อัญชลี เชื้อน้อย ๐๘๙ ๘๗๐ ๙๙๓๖ อิสรา พรหมมา ๐๘ ๑๒๐๘ ๕๗๗๒ สุขกมล งามสม ๐๘ ๙๔๘๔ ๙๘๙๔ ภวิกา ขันทเขตต์ ๐๘ ๖๕๖๗ ๑๖๗๗ ชามานันท์ สุจริตกุล ๐๘ ๑๘๓๕ ๙๕๘๕

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net