ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน “บ. น้ำตาลขอนแก่น” ที่ “A-/Stable”

09 Sep 2010

กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล และความมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาล ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงแผนการขยายงานของบริษัท ตลอดจนความเสี่ยงทั้งในด้านกฎระเบียบและจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา รวมทั้งความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยเอาไว้ได้ ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงจากผลขาดทุนจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์คาดว่าจะเป็นเหตุการณ์ผิดปกติเฉพาะในปีการผลิต 2553 เท่านั้น ส่วนโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชานั้นคาดว่าจะมีผลการดำเนินงานถึงจุดคุ้มทุนได้ในปีการผลิต 2555 ในขณะที่โครงการโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่อำเภอบ่อพลอยจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการจัดหาอ้อยให้แก่บริษัทเมื่อโครงการเริ่มดำเนินการผลิตได้ ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความเข้มแข็งของฐานะทางการเงินเอาไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจน้ำตาลในต่างประเทศ

ทริสเรทติ้งรายงานว่าบริษัทน้ำตาลขอนแก่นเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ปัจจุบันตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทรวม 67.9% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 4 แห่งในจังหวัดขอนแก่น กาญจนบุรี และชลบุรี โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 64,000 ตันอ้อยต่อวัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถจัดหาอ้อยได้ปีละประมาณ 4-5 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลทรายเฉลี่ย 500,000 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2552/2553 กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถผลิตน้ำตาลได้ 6.32% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ ถือเป็นอันดับ 4 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีสัดส่วน 18.57% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 17.90% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 13.93% โรงงานของบริษัทมีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลเมื่อวัดจากอ้อยระดับมาตรฐานอยู่ที่ 93.97 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยสำหรับปีการผลิต 2552/2553 ซึ่งดีกว่าอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยที่ 91.20 กก.

ทริสเรทติ้งกล่าวว่าตั้งแต่ปี 2549 บริษัทน้ำตาลขอนแก่นได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยอันประกอบด้วยธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอล โดยในระหว่างปีการผลิต 2550-2552 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (เอทานอลและไฟฟ้า) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของยอดขายรวมของบริษัท ในขณะที่กำไรสุทธิจากธุรกิจพลังงานคิดเป็นสัดส่วนถึง 29% ของกำไรสุทธิรวม โรงงานน้ำตาลของกลุ่มน้ำตาลขอนแก่นที่ประเทศลาวและกัมพูชาเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปีการผลิต 2552/2553 และสามารถจัดหาอ้อยจากโรงงานทั้ง 2 แห่งได้ประมาณ 102,000 ตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเนื่องจากขาดแคลนแรงงานฝีมือและความยากลำบากในการบริหารจัดการไร่อ้อย บริษัทส่งออกน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตจากโรงงานในประเทศลาวและกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศยุโรปภายใต้โครงการการให้สิทธิปลอดภาษีและโควต้าแก่สินค้านำเข้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Everything But Arms -- EBA) บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานของโรงงานทั้ง 2 แห่งจะถึงจุดคุ้มทุนในปีการผลิต 2554/2555 เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งด้านการจัดหาอ้อย บริษัทใช้งบลงทุน 7,250 ล้านบาทในการย้ายโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมไปยังศูนย์การผลิตแห่งใหม่ในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งขยายกำลังการหีบอ้อยเพิ่ม โดยศูนย์ดังกล่าวประกอบด้วยโรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตเอทานอล และโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ คาดว่าโครงการส่วนแรกจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปีการผลิต 2553/2554 และส่วนที่ 2 จะเริ่มในปีการผลิต 2554/2555

ในปีการผลิต 2552 (พฤศจิกายน 2551-ตุลาคม 2552) บริษัทมียอดขายรวม 11,517 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.96% จากปีการผลิต 2551 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาขายที่เพิ่มขึ้นของน้ำตาลและเอทานอล อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 13%-17% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการผลิต 2553 (สิ้นสุดเมษายน 2553) ยอดขายของบริษัทอยู่ที่ 6,466 ล้านบาท เติบโต 16.34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่กำไรสุทธิกลับลดลงมาอยู่ที่ 303 ล้านบาท กำไรสุทธิที่ลดลงถึง 56.49% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมานั้นเนื่องมาจากผลขาดทุนจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ รวมถึงการมีต้นทุนวัตถุดิบที่สูงจากการมีปริมาณอ้อยที่ต่ำกว่าคาด ความล่าช้าถึง 1 ปีของโครงการบ่อพลอย และผลขาดทุนจากการดำเนินงานของธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา ณ เดือนเมษายน 2553 บริษัทมียอดเงินกู้เพิ่มขึ้นเป็น 13,308 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 56.32% จากผลของการลงทุนในโรงงานน้ำตาลบ่อพลอย รวมถึงการมีเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูการผลิต ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวลดลงเมื่อโครงการโรงงานน้ำตาลบ่อพลอยก่อสร้างแล้วเสร็จ

ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลมีความไม่แน่นอนและประมาณการได้ยาก ปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยในปีการผลิต 2552/2553 อยู่ในระดับ 68.5 ล้านตันอ้อย ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 75 ล้านตันอ้อยถึง 8.67% ถึงแม้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็มีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยในปี 2553 ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนมกราคม 2553 ที่ 28.94 เซนต์/ปอนด์มาอยู่ที่ 18.07 เซนต์/ปอนด์ในเดือนพฤษภาคม 2553 และปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 25.29 เซนต์/ปอนด์ในเดือนสิงหาคม 2553 ทริสเรทติ้งกล่าว

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL)

อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

KSL10NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 คงเดิมที่ A-

KSL11NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 780 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2554 คงเดิมที่ A-

KSL12NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)