กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทที่ระดับ “AA” โดยแนวโน้มของอันดับเครดิตทั้ง 2 ประเภทยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรอยู่บนพื้นฐานการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินอย่างต่อเนื่องจากบริษัทแม่คือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) อีกทั้งยังได้รับการเสริมความแข็งแกร่งจากสถานะอันดับเครดิตของบริษัทโดยเฉพาะจากการที่บริษัทมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารไทยพาณิชย์ในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านธุรกิจหลักของบริษัทในช่วงต้นปี 2551 แต่อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินสดที่เพียงพอจากค่างวดรายเดือนของสินเชื่อส่วนที่คงไว้ที่บริษัทเพื่อใช้ชำระหนี้ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังอยู่บนสมมติฐานที่จะไม่มีการลดทุนหรือจ่ายเงินปันผลที่ผิดไปจากปกติซึ่งอาจมีผลบั่นทอนฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทในช่วงที่สินเชื่อทยอยลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และก่อให้เกิดผลขาดทุนจากการขายรถยึดของบริษัทได้ ในขณะที่อันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันสะท้อนคุณภาพเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 99.12% และเป็นผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ สถานะเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์มีปัจจัยสนับสนุนโดยสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งจากการเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อันดับ 4 ของไทยที่มีเครือข่ายสาขาแข็งแกร่งทั่วประเทศ ตลอดจนฐานะทางการเงินและธุรกิจที่มั่นคงยิ่งขึ้น และคณะผู้บริหารที่มากประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม สถานะเครดิตของธนาคารก็มีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะด้านสินเชื่อรายย่อยซึ่งอาจจำกัดโอกาสในการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึงการได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังพิจารณาถึงการดำรงฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทในช่วงที่สินเชื่อทยอยลดขนาดลงด้วย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและธนาคารซึ่งรวมถึงการถือหุ้นและการสนับสนุนล้วนมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัททั้งสิ้น ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สำหรับอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทสะท้อนความเป็นไปได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์จะมีผลประกอบการในระยะปานกลางตามที่คาดไว้ อีกทั้งจะสามารถดำรงสถานะผู้นำในธุรกิจหลัก รวมถึงควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผนการที่วางไว้ ทั้งนี้ ระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีของธนาคาร ตลอดจนผลงานที่ได้รับการยอมรับ และฐานทุนที่แข็งแกร่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจและช่วยลดทอนลดความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงในอนาคตให้แก่ธนาคาร
ทริสเรทติ้งรายงานว่า จากประสบการณ์กว่า 1 ศตวรรษทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์สร้างบุคลากรในระดับผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพและพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ช่วยทำให้ธนาคารสามารถดำรงอยู่ได้ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง การสร้างระบบจัดการและควบคุมแบบรวมศูนย์ทำให้ธนาคารสามารถควบคุมและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่การเพิ่มศักยภาพเครือข่ายสาขาและบริษัทในเครือทั่วประเทศก็ช่วยยกระดับความแข็งแกร่งทางการตลาดให้แก่ธุรกิจหลักของธนาคาร ธนาคารมีองค์ประกอบของสินเชื่อที่ดี โดยสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 อยู่ที่ 971,467 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากเดือนมิถุนายน 2552 โดยสินเชื่อรายย่อย (รวมสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล) คิดเป็น 39% ของสินเชื่อทั้งหมด ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่คิดเป็น 39% สินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม18% และสินทรัพย์อื่น ๆอีก 4% จากข้อมูลผู้ประกอบการรายใหญ่ 20 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง ณ สิ้นปี 2552 ธนาคารไทยพาณิชย์จัดเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์รายใหญ่ในลำดับที่ 5 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 8% ของจำนวนสินเชื่อรถยนต์คงค้างรวมทั้งสิ้น 764,000 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางธุรกิจของบริษัทไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง สินเชื่อรถยนต์ใหม่ได้ถูกบันทึกไว้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 โดยบริษัททำหน้าที่เรียกรับชำระหนี้สำหรับสินเชื่อรถยนต์ที่ค้างชำระมากกว่า 60 วันให้แก่สินเชื่อใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์และสินเชื่อที่ยังคงอยู่ที่บริษัท ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับสูงสุดที่ 81,298 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 มาอยู่ที่ 26,219 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เงินสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแหล่งเงินทุนหลักที่ใช้ในการดำรงสินเชื่อรถยนต์คงค้างที่บริษัท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา เงินกู้ยืมของบริษัทมาจากธนาคารไทยพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของเงินกู้ยืมรวม โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เงินกู้ยืมดังกล่าวคิดเป็น 98% ของเงินกู้ยืมรวมจำนวน 15,695 ล้านบาท ที่เหลืออีก 2% เป็นเงินกู้ยืมจากการออกหุ้นกู้ การหดตัวของสินเชื่อช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฐานทุนของบริษัท โดยอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 12.8% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 เป็น 16.2% ณ สิ้นปี 2551 29.7% ในปี 2552 และ 38.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553
ในช่วงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทซึ่งรวมสินเชื่อที่มีการบอกเลิกสัญญาเพิ่มขึ้นถึงระดับ 5.9% ของจำนวนสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 จาก 2.5% ณ สิ้นปี 2550 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.2% และ 4.1% ณ สิ้นปี 2551 และ 2552 แม้สิ้นเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะลดลงจาก 2,251 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 เป็น 1,872 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 แต่สินเชื่อคงค้างที่ลดลงส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 5.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 อย่างไรก็ตาม ระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพของผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่าจะช่วยลดทอนความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคตและสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทให้สามารถสร้างกระแสเงินสดที่เพียงพอต่อการชำระหนี้ที่เหลืออยู่ได้ นอกจากนี้ การดำรงฐานทุนที่แข็งแกร่งในช่วงที่สินเชื่อทยอยลดลงยังช่วยรองรับปัญหาที่อาจเกิดจากคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงได้ด้วย โดยทั้งนี้ต้องเป็นกรณีที่ไม่มีการลดทุนและ/หรือมีการจ่ายเงินปันผลที่ผิดไปจากปกติ ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท ไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (SCBL)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่) อันดับเครดิตตราสารหนี้:
SPL109A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2553 คงเดิมที่ AA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit