ไลฟ์สไตล์สาวยุคใหม่...ตัวการบ่มเพาะอาการปวด ผู้เชี่ยวชาญเตือนเสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม – ระบบปลายประสาทอักเสบ

06 Sep 2010

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--พีอาร์ เน็ตเวิร์ก

ไลฟ์สไตล์สาวยุคใหม่ที่โปรดปรานการสวมรองเท้าส้นสูง สะพายกระเป๋าหนัก การเดินช้อปปิ้ง นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ล้วนเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่สะสมให้เกิดอาการปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก ละละเลยไม่ดูแลร่างกายให้อยู่ในท่าทางที่ถูกต้องและเหมาะสม เมื่อสะสมนานวันเข้า จะส่งผลให้คุณสาวๆ ต้องเสี่ยงกับ ปัญหาโครงสร้างร่างกายที่ผิดรูปจากการใช้ชีวิตประจำวัน

แต่สำหรับเวิร์กกิ้งวูแมนรุ่นใหม่ ที่ใส่ใจตนเองและชื่นชอบการดูแลสุขภาพ เรามีตัวแทนของสาวทำงาน ใน 3 ช่วงวัย มาบอกเล่าไลฟ์สไตล์ประจำวันของตนเองพร้อมกับปัญหาอาการปวด ที่สาวๆในแต่ละช่วงวัยอาจเคยประสบกับตัวเองมาบ้าง พร้อมคำแนะนำดีๆ จาก ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายการแพทย์ ไคโรเมด สหคลินิก เพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของปัญหาโครงสร้างร่างกายที่ผิดรูปจากการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นภัยเงียบคุกคามสาวๆ ได้ในทุกช่วงวัย มาฝากกัน

เริ่มจาก คุณพีระพรรณ ตั้งสุวรรณ หุ้นส่วนและกรรมการสำนักงานทนายความและที่ปรึกษากฎหมายแห่งหนึ่ง หญิงนักบริหาร วัย 49 ปี เล่าว่า “ตนเองรู้สึกปวดตั้งแต่สะบักไล่ลงมาจนถึงปลายแขนด้านขวา ซึ่งจากการวินิจฉัยของแพทย์นั้นเป็นอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คาดว่าอาจเกิดจากพฤติกรรมต่างๆที่เราใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งอาจอยู่ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ทั้งการเดิน การยืน การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ จนสะสมอาการมาเป็นเวลานาน เมื่อนานวันเข้าจึงเกิดเป็นอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” คุณพีระพรรณ เล่าถึงการดูแลตนเองด้วยการให้ความสำคัญกับการดูแลโครงสร้างร่างกายว่า “ตอนนี้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลโครงสร้างร่างกายมากขึ้น ซึ่งเดิมไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญในเรื่องโครงสร้าง จะออกกำลังกายเฉพาะตอนที่มีเวลาเท่านั้น ปัจจุบันเริ่มหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพความแข็งแกร่งของร่างกาย โดยได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำงานของส่วนต่างๆในร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อ และโครงสร้างร่างกาย ทำให้สามารถออกกำลังกายได้อย่าง ถูกวิธี เพราะบางครั้งการออกกำลังกายที่ผิดท่า อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างร่างกายได้เช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ คุณพีระพรรณ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัญหาเรื่องโครงสร้างร่างกายเป็นปัญหาที่ซุกซ่อน อยู่ภายในร่างกายเรา หากเราไม่สังเกตตนเอง หรือเรียนรู้ที่จะดูแลโครงสร้างร่างกายอย่างถูกต้องและเหมาะสม ปัญหาต่างๆก็จะตามมา ซึ่งการออกกำลังกายเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วงป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้”

ด้าน คุณพรีม – ธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด วัย 35 ปี เล่าถึงอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย คอ บ่า ไหล่ ซึ่งอาจเป็นปัญหาเล็กๆกวนใจสาวๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลาม จนกลายเป็นปัญหาด้านโครงสร้างร่างกายว่า “ช่วงแรกตนเองมีอาการปวดเมื่อยบริเวณคอ บ่า ไหล่

บางครั้งมีอาการเหมือนปวดไมเกรน มองว่าเป็นอาการธรรมดา ไม่ใช่โรคร้ายแรง และคิดว่าอาจเป็นผลจากความเครียดและพักผ่อนน้อย เป็นมานานจนรู้สึกเคยชิน ถ้าหากได้นวดแผนไทย หรือเข้าสปา เพื่อผ่อนคลาย อาการเหล่านั้นก็จะหายไปชั่วคราวแต่จะกลับมาเป็นใหม่อีก ใน 1 – 2 วัน โดยปล่อยอาการ ทิ้งไว้ประมาณ 3 – 4 ปี เพราะคิดว่าเดี๋ยวคงหายไปเอง จนเริ่มสังเกตตัวเองว่าอาการเหล่านี้น่าจะมีสาเหตุมาจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่น การชอบใส่รองเท้าส้นสูง การสะพายกระเป๋าหนัก การเดินหรือนั่งเป็นเวลานานๆ ประกอบกับปรึกษาคุณหมอซึ่งยืนยันว่าพฤติกรรมที่ว่ามาล้วนส่งผลต่อโครงสร้างร่างกายทั้งสิ้น ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งเลือดไหลเวียนไม่สะดวก จนส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีอาการปวดหัวคล้ายไมเกรน จึงเริ่มหันกลับมาดูแลและฟื้นฟูโครงสร้างร่างกายอย่างจริงจัง” คุณพรีม ฝากถึงผู้หญิงทำงานรุ่นใหม่ว่า “ถ้าจะให้ผู้หญิงเลิกพฤติกรรมเดิมๆ อย่างการใส่รองเท้า ส้นสูง สะพายกระเป๋า การนั่งขับรถนานๆ แบบทันทีท่วงทีนั้น คงเป็นเรื่องยาก แต่คงต้องเริ่มจากการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตลอดจนท่าทางการเดิน การยืน การนั่ง ให้ถูกวิธี จากที่เคยใส่ส้นสูงทั้งวันอาจเปลี่ยนเป็นใส่รองเท้าส้นเตี้ยบ้างสลับกันไป รวมถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสมและถูกวิธี เพื่อเพิ่มความ ยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ตลอดจนศึกษาว่าพฤติกรรมหรือท่าทางใดที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน จะสะสมจนเกิดปัญหาโครงสร้างร่างกายก็ควรหลีกเลี่ยง รวมทั้งต้องเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองเพื่อให้ห่างไกลจากปัญหาโครงสร้างร่างกายด้วยเช่นกัน”

ปิดท้ายที่ คุณโบวี่ – รัชนก วงศ์วัฒนกิจ Marketing Director บริษัท 99 ดีกรี ดีไซน์ จำกัด สาวทำงานรุ่นใหม่ วัย 26 ปี เล่าถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ส่งผลต่ออาการปวดว่า “ชื่นชอบการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก บางครั้งนั่งก้มหน้าอ่านหนังสือเป็นเวลานานๆ และมารู้ภายหลังว่าเป็นท่าทางและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหากทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จนอายุ 20 ปี ร่างกายเริ่มส่งสัญญาณเตือน โดยมีอาการปวดบริเวณท้ายทอย ช่วงไหล่ ปวดหลังด้านล่าง ชาที่ปลายแขน และมีอาการปวดศรีษะคล้ายๆกับอาการไมเกรน ซึ่งพยายามรักษามาหลายวิธีด้วยกัน ทั้งการนวดกล้ามเนื้อ การรักษาทางระบบประสาท จนกระทั่งพบว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจากโครงสร้างร่างกาย เนื่องจากกระดูกคอที่ยื่นมาด้านหน้า แทนที่จะ ตั้งตรงเหมือนเช่นปกติ จึงรักษาและฟื้นฟูร่างกายอย่างจริงจังทั้งการกายภาพบำบัด การออกกำลังกายที่เน้นยืดกล้ามเนื้อและการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงเรียนรู้การออกกำลังกายอย่างถูกวิธี”

สำหรับคำแนะนำด้านการดูแลโครงสร้างร่างกายของคุณสาวๆนั้น ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ไคโรเมด สหคลินิค แนะว่า “พฤติกรรมของผู้หญิงในปัจจุบันมีความเสี่ยงต่ออาการปวดของกล้ามเนื้อ, กระดูกและข้อ รวมไปถึงการเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือเสื่อม และบานปลายจนกลายเป็นการกดทับของเส้นประสาทในที่สุด ทั้งที่เกิดจากพฤติกรรมการใส่รองเท้าส้นสูงมากกว่า 2 นิ้วขึ้นไป การนั่งทำงานนาน ๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมง การนั่งขับรถนาน ๆ ตลอดจนการเดินช้อปปิ้งติดต่อกันนานหลายชั่วโมง ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโครงสร้างร่างกายโดยรวมทั้งสิ้น”

“ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มากกว่า ร้อยละ 70 มีลักษณะโครงสร้างที่เสียสมดุล มีฝ่าเท้าที่ผิดรูป สังเกตจากการรับน้ำหนักของเท้าทั้งสองข้างว่าเท่ากันหรือไม่ หรือเวลาที่เท้าเปียก วางเท้าบนผ้าเช็ดเท้า แล้วดูว่า รอยเท้าเต็ม หรือมีส่วนเว้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้ที่มีรอยเท้าเต็ม น้ำหนักจะลงไปที่ด้านในมากเกินไป ดังนั้น การเลือกรองเท้าจึงมีความสำคัญ โดยแนะนำให้เลือกรองเท้าที่รองรับอุ้งเท้าเต็มที่ เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักร่างกายอย่างสมดุล สำหรับท่านั่งทำงาน หรือการใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ ควรจะเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ที่ยึดเกร็งเป็นเวลานาน”

จากผลการวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยไอโอวา พบว่า การเดินด้วยรองเท้าส้นสูง ทำให้เกิดแรงกด ที่ข้อเท้า แรงกระแทกจะเคลื่อนขึ้นไปกดดันภายในหัวเข่า นานเกินไปจะทำให้ข้อเสื่อม นอกจากนี้ ผู้ที่ใส่รองเท้าที่มีความสูงมากกว่า 2 นิ้วขึ้นไป จะทำให้ข้อต่าง ๆ เปลี่ยนตำแหน่งไป เช่น ตาตุ่ม เข่า สะโพก และลำตัว ทำให้เกิดแรงเค้นที่แผ่นหลังส่วนล่าง ทำให้โครงสร้างเสียสภาพจากแนวที่สมดุล และก่อให้เกิดการรับน้ำหนักที่มากเกินไปของ กระดูก, ข้อและกล้ามเนื้อ

ดร.มนต์ทณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการที่เริ่มแสดงออกในช่วงแรก จะเป็นอาการปวดล้า ตึง เมื่อผ่านระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป อาการมักจะเป็นมากขึ้น ถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น รวมถึงรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เพราะว่าใช้ร่างกายหนักจนเกินไป ต้องพักผ่อน และออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายบ้าง ทั้งนี้ อาการในระยะแรกจะเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ จากนั้นจะส่งกระทบต่อหมอนรองกระดูกและข้อเสื่อม และเมื่ออาการเรื้อรังไปนาน ๆ จะทำให้ระบบเส้นประสาท บริเวณปลายประสาทเกิดการอักเสบได้

“การนวดสปาต่าง ๆ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เมื่อเรานวด อาการจะดีขึ้น แต่เมื่อใช้ชีวิตตามปกติไป โดยไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน จะทำให้อาการกลับมาแย่ลงเช่นเดิม ดังนั้น จึงควรปรับเปลี่ยนความเคยชินในการใช้ชีวิตใหม่ อาทิ การเลือกใส่ส้นสูงก็ควรใส่ไม่เกิน 2 นิ้ว เมื่อสะพายกระเป๋าหนัก ให้สลับข้าง อย่าให้น้ำหนักของกระเป๋ากดอยู่บนไหล่ข้างเดียวนานเกินไป เวลานั่งทำงานนาน ๆ หรือนั่งประชุมนาน ๆ ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายจากอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปวดมาก หรือคิดว่ามีความผิดปกติของร่างกาย ควรที่จะปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมจะดีกว่า”

ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างเล็กๆน้อยของอาการปวดในผู้หญิงทำงาน หากสนใจหาความรู้เพิ่มเติม ไคโรเมด สหคลินิก จัดสัมมนา “ผู้หญิงทำงานกับปัญหาอาการปวด” พร้อมตรวจเช็คโครงสร้างร่างกาย ในวันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2553 เวลา 13.00 น. ณ ไคโรเมด สหคลินิก ชั้น 3 อาคารแบงคอค เมดิเพล็กซ์ (BTS เอกมัย) สำรองที่นั่งหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0 2713 6745 – 6 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

โทร 0 2682 9880

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net